xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าล้มหรือล้มเจ้าที่เนปาล (1)

เผยแพร่:   โดย: ดร.ประยูร อัครบวร

ท่ามกลางการต่อสู้ในประเทศไทยที่นับวันจะรุนแรงซับซ้อนยิ่งขึ้น การใช้ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่หลากหลายในการโฆษณาชวนเชื่อ อย่างวาทกรรมที่มักถูกสร้างเรื่องการล้มเจ้า ที่เรียกว่า “เนปาลโมเดล” อันเป็นคำของขบวนการคนที่ต้องการล้มเจ้ามักจะนำมาเสนอ เพื่อให้เกิดความฮึกเหิมที่เห็นสถาบันกษัตริย์เนปาลสืบทอดอำนาจมา 240 ปีต้องมาสิ้นสุดลง

ถ้าไม่มองอย่างพิจารณา ไม่ดูรายละเอียด แต่ดูเฉพาะผลสรุปในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ที่สภารัฐธรรมนูญของเนปาล (Constituent Assembly of Nepal) ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ จากรูปแบบราชอาณาจักรมาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ ปลดกษัตริย์คยาเนนทราพีรพิกรมศาหเทวะ เปลี่ยนราชวังเป็นพิพิธภัณฑสถาน แล้วจะรู้สึกว่าฝ่ายต้องการล้มเจ้า ล้มได้อย่างง่ายดายแต่ถ้ามองย้อนประวัติศาสตร์ จะเห็นแง่มุมที่กว้างและต่างออกไปจะเห็นถึงการพัฒนาการต่อสู้ การดำรงอยู่ จนถึงการล่มสลายนั้นต่างมีขบวนการ

ราชวงศ์เนปาล หรือ “ราชวงศ์ชาห์” เกิดจากปฐมกษัตริย์พระนามว่า ปฤฐวีนารายณ์ชาห์ ได้ก่อตั้งขึ้นภายหลังความอ่อนแอและการแตกแยกของสหพันธ์มอลลา (The Malla confederacy) หรือสิ้นยุคราชวงศ์มอลลา (The Malla dynasty) ที่ปกครองดินแดนแถบเนปาลตั้งแต่ พ.ศ. 1743-2311 ซึ่งยาวนานถึง 568 ปี แต่การรวบรวมดินแดนและตั้งราชวงศ์ใหม่ได้นั้นก็ต้องทำสงครามกับหัวหน้าเผ่าหรือเจ้าผู้ครองนครอื่น ซึ่งพระองค์ได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือด้านอาวุธจากเครือจักรภพอังกฤษ พระองค์ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2311 (ค.ศ. 1768) หรือหลังกรุงศรีอยุธยาแตกเพียงหนึ่งปีเท่านั้น

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงประเทศโดยระบบกษัตริย์แบบฮินดูผ่านไปสองรัชกาลยุวกษัตริย์ราณาพหาทูรชาห์ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2320 ด้วยอายุเพียง 2 พระชันษาจึงอยู่ภายใต้การดูแลของพระมารดาราชินีราจันทราลักษมี และลุง ปกครองประเทศได้เพียง 22 ปีก็ถูกกดดันให้สละราชสมบัติไปถือบวชและให้ราชโอรส กีรวันยุทธพิกรมชาห์ ที่มีพระชันษาเพียง 1 ปีกับ 6 เดือนขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2342 โดยมีพระมารดาลลิตาตรีปุระสุนทรีและนายกรัฐมนตรีทาโมทรา ปันทีช่วยบริหารบ้านเมือง จึงเป็นครั้งแรกในปีที่ 31 ที่มีคนนอกราชวงศ์มาช่วยนั่งบริหารบ้านเมืองในตำแหน่งสำคัญ แต่เพียง 5 ปีในปี พ.ศ. 2347 อดีตกษัตริย์ราณาพหาทูรชาห์ต้องการยึดอำนาจคืนจากนายกรัฐมนตรี จึงเกิดความขัดแย้งกันขึ้น นายกรัฐมนตรีทาโมทรา ปันทีถูกฆ่าในปีนี้เอง

ส่วนอดีตกษัตริย์ราณาพหาทูรชาห์ ก็ถูกแทงตายโดยพระอนุชาในสองปีต่อมา และ นายกรัฐมนตรีคนใหม่พิมะเสน ตาปา อดีตหัวหน้าการบริหารการจัดการ เคยเป็นเลขาส่วนตัวของอดีตกษัตริย์ราณาพหาทูรชาห์ ตั้งแต่อายุ 22 ปีและเป็นพระปิตุลา(ลุง)ของพระราชินีตรีปุระสุนทรี เข้ามามีอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพ.ศ. 2348-2380 ยาวนานถึง 32 ปี เขามีบทบาทในการดูแลกษัตริย์ราเชนทราที่ครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ 3 พระชันษาจึงดูแลให้ห่างจากผู้คน ไร้อิสระ จะไปที่ไหนก็ต้องได้รับอนุญาตก่อน เมื่อกษัตริย์ราเชนทราอายุ 24 พรรษาได้ประกาศความเป็นอิสระจากนายกรัฐมนตรีและได้ขจัดอำนาจของนายกรัฐมนตรีพิมะเสน ตาปาออกจากกองทัพ ทั้งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนวางยาพิษเจ้าชายลูกพระมเหสีองค์เก่าและบั้นปลายชีวิตต้องฆ่าตัวตาย ทั้งถูกกษัตริย์ราเชนทราอธิบายว่าเขาเป็น “ข้าราชสำนักอังกฤษ”

ในช่วงปี พ.ศ. 2380-2383 ราชวงศ์เนปาลต้องผลัดเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีกันไปมาถึง 3 คนและได้นายกรัฐมนตรี มาทาพา ซิงค์ ตาปา เข้ามาบริหารอย่างต่อเนื่องอีก 5 ปี (พ.ศ. 2383-2388) นายมาทาพา ซิงค์ ตาปา นี้เป็นหลานของอดีตนายกรัฐมนตรี พิมะเสน ตาปาและเขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจมากไม่ต่างจากลุง แต่ก็มีจุดจบคือตายด้วยการถูกลอบสังหารโดย ชาง พหาทูร ครูวาน รานา ซึ่งเป็นลูกของน้องสาวมีส่วนรู้เห็นเพราะไม่พอใจลุงที่ลดบทบาทในช่วงหลัง กอร์ปกับเคยเป็นหัวหน้าองครักษ์ของกษัตริย์ราเชนทราจึงรู้เส้นทางของการสร้างอำนาจ เมื่อขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 มีอำนาจมากยิ่งขึ้น

เมื่อกษัตริย์ราเชนทรา ถูกกดดันให้สละราชสมบัติจากการฆาตกรรมหมู่ (Kot massacre) ชาง พหาทูร ครูวาน รานา ได้สร้างประวัติศาสตร์ตระกูล “รานา” ซึ่งได้รับพระราชทานจากกษัตริย์สุเรนทรา ที่ให้เป็นเกียรติแก่นักรบผู้เกรียงไกร ซึ่งนาม “รานา” นี้เคยเป็นของเจ้าชายราชปัตย์ในดินแดนอินเดียตอนเหนือมาก่อน ผู้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 11 คนและมีอำนาจอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 106 ปี (พ.ศ. 2388-2494)

ชาง พหาทูร รานา นี้ยังได้ตั้งตัวเองเป็นมหาราชา และเมื่อมีอำนาจเขาได้จัดการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับราชวงศ์ชาห์ โดยให้ลูกชายคนโตอายุ 8 ขวบแต่งงานกับเจ้าหญิงองค์โตของกษัตริย์สุเรนทราซึ่งมีพระชันษาเพียง 6 ขวบในพ.ศ.2397 ให้ลูกชายคนที่สองแต่งงานกับเจ้าหญิงองค์รองในพ.ศ. 2398 และ 2 ปีต่อมาเจ้าชายตริโลกยา พีระพิกรมแต่งงานกับลูกสาวสองคนของเขาและมีพระโอรส ต่อมาก็คือกษัตริย์ปฤฐวีพีรพิกรมชาห์ซึ่งขึ้นครองราชในปี พ.ศ.2424 และพระราชธิดาองค์โตของพระองค์อภิเษกสมรสกับนายพลจากตระกูลรานาเช่นกัน

เพียงบางส่วนข้างต้น จะเห็นได้ว่าราชวงศ์เนปาลไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดในการจัดการตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการที่มีโครงสร้างเลียนแบบเครือจักรภพ จึงเกิดการสร้างอำนาจซ้อนอำนาจของราชสำนัก นายกรัฐมนตรีอย่าง มหาราชา ชาง พหาทูร รานา จึงสร้างเครือข่ายและยึดอำนาจของราชวงศ์โดยเปิดทางเลือกให้ “ราชวงศ์ชาห์” แต่งงานเป็นครอบครัวเดียวกันกับตระกูลรานาหรือเรียกว่า ราชวงศ์รานาซึ่งมิได้ต่างกัน

จะเห็นได้ว่ากว่าร้อยปีที่ประเทศเนปาลมีการปรับเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบเครือจักรภพนั้น ต้องใช้ความพยายามในการประนีประนอมแบบครอบครัว จนเห็นได้ว่าสังคมเครือญาติที่มีอำนาจ ไม่ใช่ราชวงศ์แบบฮินดูที่มีเชื้อสายบริสุทธิ์ เพราะการที่ชาง พหาทูร รานา ตั้งตนเป็นมหาราชา จึงเป็นสมมติเทพด้วย การวิเคราะห์ราชวงศ์เนปาลจึงมีคำถามที่น่าสนใจให้ถามอีกและการจะสร้าง “เนปาลโมเดล” ก็ต้องถามว่า แค่การเริ่มราชวงศ์และการดำรงอยู่ของราชวงศ์มันเหมือนของประเทศไทยที่ไหนกันครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น