xs
xsm
sm
md
lg

พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารเป็นของไทยใครควรรับผิดชอบ (ตอน 2)

เผยแพร่:   โดย: เทพมนตรี ลิมปพยอม

พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารที่ชาวกัมพูชาและทหารกัมพูชาได้เข้ามาอยู่อาศัยและยึดครองอย่างผิดกฎหมายไม่ได้รวมแค่พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แต่หมายรวมถึงพื้นที่บริเวณ “ภูมะเขือ” ในท้องที่ “ตำบลบึงมะลู” ซึ่งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรักด้วย

ตำบลบึงมะลู

“ตำบลบึงมะลูตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2469 ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธตั้งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอกันทรลักษ์ ประกอบด้วย บ้านบึงมะลู บ้านน้ำขวบ บ้านตาแท่น บ้านโนนดู่ บ้านโนนแสนคำ บ้านโนนเยาะ บ้านโนนศิริ บ้านหนองศาลา บ้านหนองตลาด บ้านโนนเปือย บ้านถนนวิหาร บ้านหนองตาอุด บ้านศรีสะอาด บ้านตาแท่นตะวันออก บ้านศรีลำดวน บ้านบึงมะลูเหนือ บ้านโนนเกตุ”

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก

เนื่องจากในช่วงปี พ.ศ. 2519 ได้มีรายงานว่ามีผู้พบวัวป่าพันธุ์กูปรี (Kouprey) ซึ่งเป็นวัวป่าพันธุ์ที่หายากที่สุดในโลกและกำลังจะสูญพันธุ์ ในบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก กรมป่าไม้ (โดยกองอนุรักษ์สัตว์ป่า) จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจข้อมูลเบื้องต้นร่วมกับเจ้าหน้าที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในช่วงเดือนเมษายน 2519 ซึ่งจากรายงานการสำรวจพบว่ามีร่องรอยการพบเห็นกูปรีในบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ท้องที่จังหวัดศรีสะเกษจริง และยังพบสัตว์ป่าหายากชนิดอื่นอีก เช่น ละองหรือละมั่ง เลียงผา วัวแดง เสือโคร่ง ฯลฯ

ด้วยต่อมานิยมไพรสมาคมได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2519 เรียกร้องให้กรมป่าไม้ประกาศจัดตั้งพื้นที่ป่าบริเวณเทือกเขาพนมดงรักเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อสงวนพันธุ์กูปรี ประกอบกับเจ้าชาย Bernhard แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ องค์ประธานกองทุนมูลนิธิสัตว์ป่าแห่งโลก (World Wildlife Fund) ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ ฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2519 กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับเรื่องวัวป่าพันธุ์กูปรี ซึ่งมีรายงานว่าอยู่ในบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก จึงขอพระราชทานพระมหากรุณาฯ ให้มีการจัดตั้งอุทยานหรือสถานที่สำหรับสัตว์ป่าได้มีที่อยู่อาศัย

ทางสำนักราชเลขาธิการจึงได้มีหนังสือที่ รล.0003/8517 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2519 แจ้งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหนังสือที่ กส. 0810/23977 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2519 รายงานราชเลขาธิการว่า มีกูปรีอยู่ในเทือกเขาพนมดงรักจริง และคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าได้พิจารณาแล้วเห็นว่าป่าบริเวณเทือกเขาพนมดงรักมีสภาพเหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งขยายพันธุ์ของสัตว์ป่า จึงได้มีมติให้กรมป่าไม้ดำเนินการกำหนดป่าเทือกเขาพนมดงรักเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสัมปทานโครงการทำไม้กระยาเลย ประกอบกับมีปัญหาสถานการณ์ด้านชายแดนไม่สงบเรียบร้อย จึงทำให้การดำเนินการเพื่อกำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าค่อนข้างล่าช้า

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อกำหนดให้ป่าพนมดงรักเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าพนมดงรัก ท้องที่ตำบลโนนสูง ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ ตำบลละลาย ตำบลบึงมะลู อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2521 เนื้อที่ประมาณ 316 ตารางกิโลเมตร หรือ 197,500 ไร่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 10 เล่ม 95 ตอนที่ 141 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2521 

              จากข้อมูลของหน่วยงานราชการต่างๆ ได้ยืนยันพื้นที่ในตำบลบึงมะลูเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ซึ่งในขณะนี้ชาวกัมพูชาและทหารกัมพูชาได้เข้ายึดครองเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าวโดยที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการใดๆ ในการที่จะผลักดันชาวต่างประเทศออกไปจากดินแดนประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น