ประจวบคีรีขันธ์ - จนท.อุทยานฯกุยบุรี พบลูกช้างป่าตายอยู่ในบ่อน้ำโครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เบื้องต้นเข้าตรวจสอบแล้วไม่พบร่องรอยการทำร้ายและบาดแผล คาดสาเหตุการติดเชื้อเนื่องจากบริเวณสายสะดือยังไม่หลุด และเหมือนมีแผลบวม ส่วนเย็นวันนี้อธิบดีกรมอุทยานฯสัตว์และพันธุ์พืช จะเดินทางมาตรวจสอบอีกครั้ง
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (19 ม.ค.) นายอุทัย พรมนารี ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้รับแจ้งจากนายกมล อุ่นใจ หัวหน้าอุทยานฯกุยบุรี ว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่ออกลาดตระเวนในพื้นที่พบลูกช้างป่าตายอยู่ในบ่อน้ำที่ 7 ภายในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จึงพร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานฯกุยบุรี และ นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี ,สัตวแพทย์สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบฯ, เจ้าหน้าที่ WWF ประเทศไทย พร้อมทหารชุดประสานงานโครงการพระราชดำริ บ้านรวมไทย ตำรวจ สภ.บ้านยางชุม เดินทางเข้าไปตรวจสอบ
บริเวณจุดที่ลูกช้างป่าตายนั้นอยู่ก่อนถึงหน่วยพิทักษ์ป่ายาง เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบเป็นลูกช้างเพศผู้อายุประมาณ 4-5 เดือนตายอยู่ริมขอบตลิ่งห่างจากน้ำในบ่อประมาณ 2 เมตร เบื้องต้นคาดว่าตายมาแล้วประมาณ 4-5 วัน ซึ่งการตรวจสอบไม่พบร่องรอยถูกทำร้ายแต่อย่างใด และบริเวณดังกล่าวก็ไม่มีร่องรอยของการล่าสัตว์แต่อย่างใด โดยสัตว์แพทย์ระบุว่า น่าจะเกิดจากการติดเชื้อเพราะบริเวณสะดือยังมีสายติดอยู่
ล่าสุด นายอำเภอกุยบุรี ได้รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯรับทราบแล้ว และทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯกุยบุรี แจ้งว่า ในช่วงเย็นวันนี้ทางอธิบดีกรมอุทยานฯสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะเดินทางลงมาดูซากลูกช้างป่าที่จุดเกิดเหตุและจะทำการพิสูจน์สาเหตุการตายที่แน่ชัดอีกครั้งก่อนที่จะดำเนินการฝังต่อไป
ด้านนายอุทัย พรมนานี ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า ในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังกล่าวมีการขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้สำหรับสัตว์ป่า กระจายอยู่ในพื้นที่รวม 11 บ่อ ตั้งแต่ปี 2541 ที่ผ่านมา ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ต้องการให้มีแหล่งน้ำกระจายอยู่ในผืนป่าอุทยานฯกุยบุรี เป็นที่เก็บกักน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า และเป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่า ทั้งช้าง กระทิง วัวแดง และสัตว์ป่าอื่นๆ ที่ลงมาใช้ โดยในปีนี้จากการสำรวจพบว่าสภาพบ่อน้ำทั้งหมด ปริมาณน้ำเริ่มเหลือน้อยเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ไม่มีฝนตกลงมา
อย่างไรก็ตาม เรื่องช้างป่าเป็นเรื่องที่สำคัญในขณะนี้และได้กำชับให้ทางอุทยานฯกุยบุรี เฝ้าระวังจัดชุดลาดตระเวน ออกติดตามโขลงช้างป่า รวมไปถึงการป้องกันการเข้ามาล่าสัตว์ของบรรดานายพราน ซึ่งต้องเพิ่มความเข้มข้นในการลาดตระเวนให้มากยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันจากรายงานพบว่า อุทยานฯกุยบุรี มีประชากรช้างป่าประมาณ 2020-250 ตัว และยังมีกระทิงประมาณเกือบ 200 ตัว รวมไปถึงวัวแดงและเสือโคร่งที่นับวันเหลือน้อยลง สิ่งสำคัญวันนี้อุทยานฯกุยบุรี ยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการขนานนาว่า “ซาฟารี” เมืองไทย จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวดูธรรมชาติของช้างป่า เป็นจำนวนมาก”