xs
xsm
sm
md
lg

ตอกเข็มรถไฟฟ้าสีเขียว CKแบ่งโซนเร่งก่อสร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“รฟม.”เริ่มเจาะเตรียมลงเข็มรถไฟฟ้าสายสีเขียว(แบริ่ง-สมุทรปราการ) ช.การช่างแบ่ง 4 โซนเร่งก่อสร้าง “รัชนี”เผยเดินรถสรุปกลางปี จ่อเปิดเอกชนร่วมทุน แบบ PPP ปี 60 ใช้ระบบตั๋วร่วม เชื่อมบีทีเอส ยันรถไฟฟ้า 6 สายเซ็นก่อสร้างครบในปี 58 ขณะที่สีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่) ปรับแบบอีกรอง ย้ายสถานีวัดพระศรีฯ ขอใช้ที่ทหารหัวมุมรามอินทราแทน

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเริ่งงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้าง 14,088.6 ล้าน วานนี้ (5 มี.ค.) ว่า รฟม.จะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ภายในวันที่ 15 เม.ย. 2555 โดยขณะนี้การเวนคืนดำเนินการไปแล้วกว่า 80% เหลืออีกบางส่วนซึ่งอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบเพิ่มเติมกว่า 100 ล้านบาท โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 45 เดือน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในต้นปี 2560 โดยสัญญา 2 (ระบราง) นั้นจะประกวดราคาได้ภายในกลางปี 2555

ทั้งนี้ ได้กำชับให้เร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโดยเฉพาะบริเวณตลาดสำโรงที่ยังมีประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจ เพื่อให้ทราบถึงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ

สำหรับการเดินรถของสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทราปราการนั้น นางสาวรัชนีกล่าวว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นสรุปว่าจะให้เอกชนเข้ามารับจ้างเดินรถในรูปแบบ PPP –Gross Cost ตามพ.ร.บ.ร่วมทุน 2535 มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยจะเปิดกว้างให้เอกชนทุกรายที่สนใจรวมทั้ง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสเข้าร่วมแข่งขันได้ เนื่องจากแนวเส้นทางสายสีเขียว ระยะทาง 13 กิโลเมตร มีศูนย์ซ่อมบำรุงแยกต่างหาก ถือว่ามีศักยภาพในการเข้ามาลงทุนคาดว่าจะมีความชัดเจนในกลางปีนี้ ส่วนการเดินรถต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสบริเวณสถานีแบริ่งและค่าโดยสารแรกเข้าระบบนั้น เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะสามารถนำระบบตั๋วร่วมมาใช้ได้แล้ว โดยตามแผนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะใช้ระบบตั๋วร่วมเต็มรูปแบบในปี 2558

อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้า 6 สายที่รฟม.รับผิดชอบ จะสามารถลงนามในสัญญาก่อสร้างได้ทั้งหมดภายในปี 2558 ตามนโยบายรัฐบาลแน่นอน ประกอบด้วย 1. สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค,บางซื่อ-ท่าพระ) ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2. สายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) เริ่มก่อสร้างแล้ว สายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่ ) อยู่ระหว่างการปรับแบบสถานี N17 ใหม่

3. สายสีชมพู (ปากเกร็ด-มีนบุรี-สุวินทวงศ์) ระยะทาง 27 กิโลเมตร อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมเพื่อปรับแผนการก่อสร้างระหว่าง รูปแบบระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ รถไฟฟ้าขนาดเบา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โมโนเรล (monorail) หรือ รถไฟฟ้าหนัก (Heavy Rail) จะสรุปในเดือนเม.ย. 55

4. สายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี) 37.5 กิโลเมตร อยู่ในขั้นตอนการว่าจ้างที่ปรึกษา 5. สายสีเหลือง(ลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร อยู่ในขั้นตอนการว่าจ้างที่ปรึกษา 6. สายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 20 กิโลเมตรอยู่ในขั้นตอนการว่าจ้างที่ปรึกษา

นายรณชิต แย้มสอาด รักษาการผู้ว่าการ รฟม. กล่าวถึงความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ว่า ขณะนี้ยังติดปัญหาเรื่องตำแหน่งก่อสร้างสถานีวัดพระศรีฯ หลังจาก รฟม.ยืนยันก่อสร้างตำแหน่งเดิม แต่ได้รับการท้วงทิงจาก สผ. เนื่องจากตัวอาคารสถานีจะไปบดบังทัศนียภาพอนุสาวรีย์ ร.8 จึงต้องมีการปรับแบบใหม่โดยจะย้ายสถานีมาไว้ฝั่งตรงข้ามบริเวณหัวมุมถนนรามอินทรา ใกล้ๆ สำนักงานเขตบางเขน ซึ่งเป็นพื้นที่ทหาร หลังจากปรับแบบเสร็จแล้วจะเสนอ สผ.พิจารณาเห็นชอบหากได้รับอนุมัติก็จะเริ่มขบวนการประกวดราคาทันที

ด้านนายพรณรงค์ สิริโยธิน ผู้จัดการโครงการ ฯ บริษัท ช.การช่าง จำกัด กล่าวว่า จะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 โซน เพื่อช่วยให้การก่อสร้างเร็วขึ้น โซนแรก เริ่มจากแบริ่ง-สถานีปู่เจ้า โซนที่2 จากปู่เจ้า-ศาลากลางจังหวัด โซนที่ 3 จากศาลากลางจังหวัด-แพรกษา และโซนที่ 4 จากแพรกษา สิ้นสุดโครงการที่เดปโป้ สำหรับเดปโป้ จะแยกเป็นโซนพิเศษ ใช้ทีมงานที่ศึกษา และวิศวกรแยกต่างหาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ขนาด 90,000 ตารางเมตร ใช้เสาเข็มประมาณ 1.1 หมื่นต้น ทั้งนี้การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ใช้แรงงานประมาณ 2,500-3,000 คน มากกว่าสายสีม่วงใช้ประมาณ 2,000คน และแรงงานส่วนใหญ่รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักร จะโยกมาจากสายสีม่วง ซึ่งงานโยธาคืบหน้าไปกว่า50%

โดยขณะนี้รอรฟม.ส่งมอบพื้นที่ภายในวันที่ 15 เมย. บริษัทจะเตรียมงานและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากนั้นจึงจะเริ่มงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค จุดที่ห่วงมากก็คือ การก่อสร้างบริเวณตลาดสำโรง ซึ่งต้องมีการขยายสะพานข้ามคลองสำโรง และต้องมีการเวนคืนที่ดินขณะนี้ได้รับการต่อต้านจากผู้ค้าบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตามบริษัท
ยืนยันก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาภายในวันที่ 10 พย.2558 ใช้เวลาก่อสร้าง 1,350 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น