xs
xsm
sm
md
lg

ระบบการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของยาสูบ ทฤษฎี และตัวอย่างจากต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ดร.กิตติพงษ์ แจ้งกมลกุลชัย

ระเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการจัดเก็บภาษีสำหรับบุหรี่ในอัตราที่สูง โดยมุ่งหวังให้เป็นการแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ลดปริมาณการบริโภค และยังอาจเพิ่มรายรับของรัฐบาลอีกด้วย โดยปกติแล้วภาษีสำหรับบุหรี่อยู่ในรูปภาษีสรรพสามิต เพิ่มเติมจากภาษีที่เก็บจากการบริโภคสินค้าทั่วไป ซึ่งในกรณีของประเทศไทยก็คือภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเอง อย่างไรก็ดี จากการศึกษาระบบภาษีสรรพสามิตยาสูบของไทยนั้นพบว่าระบบภาษีตามมูลค่า และอัตราภาษีที่ต่ำมากที่เก็บบนยาสูบที่ใช้ในบุหรี่มวนเองน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนอุปสงค์ของสินค้าประเภทบุหรี่ และยาสูบยาเส้นราคาถูกซึ่งส่งผลในด้านลบทั้งในด้านรายได้ของรัฐ และสุขภาพของประชาชน

ดังนั้น นอกจากการที่เราควรปรับให้ภาษีสรรพสามิตสำหรับยาสูบที่ใช้ในบุหรี่มวนเองให้สูงขึ้น ผู้กำหนดนโยบายของประเทศมีทางเลือกใดบ้างที่จะสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

เราเริ่มจากการพิจารณาถึงโครงสร้างระบบภาษีสรรพสามิตที่สามารถนำมาใช้ได้ นั่นคือ ระบบภาษีสรรพสามิตแบบตามปริมาณ (Specific Excise Tax) ซึ่งเป็นระบบที่คำนวณภาษีจำนวนเงินมูลค่าหนึ่งต่อหนึ่งหน่วยวัด เช่น ปริมาณ น้ำหนัก หรือจำนวน และภาษีตามมูลค่า (Ad Valorem Tax) ซึ่งคิดเป็นร้อยละของราคาของสินค้า เช่น ราคาขายปลีก (Retail Selling Price) หรือต้นทุน (ตามที่ใช้อยู่ในประเทศไทย)

ในแง่ของผลกระทบนั้นการเก็บภาษีแบบตามปริมาณ จะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เนื่องจากทุกๆ ผลิตภัณฑ์ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตเท่ากัน ส่วนการเก็บภาษีตามมูลค่าจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ผลิตที่มีราคาสินค้าที่ถูกกว่าเนื่องจากต้องเสียภาษีจำนวนน้อยกว่า ดังนั้นการเก็บภาษีตามมูลค่าอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ไปบริโภคสินค้าที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อได้ง่ายกว่า ดังที่เห็นในกรณีของประเทศไทย ดังนั้น การเก็บภาษีตามปริมาณนั้นน่าจะตอบสนองวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพของประชาชนมากกว่าในกรณีของการเก็บภาษีตามมูลค่า

หากพิจารณาในแง่ของผลกระทบต่อรายรับของรัฐบาล จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ระบบการเก็บภาษีตามปริมาณนั้นจะสามารถนำไปสู่รายได้ภาษีที่เสถียรกว่าซึ่งง่ายต่อการประมาณการ เนื่องจากไม่ขึ้นกับกลยุทธ์ทางราคาของผู้ประกอบการ ส่วนข้อดีของการเก็บภาษีตามมูลค่านั้นคือ มูลค่าภาษีจะไม่ได้รับผลค่าเงินลดจากภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้คนบางส่วนก็ถือว่าการเป็นภาษีแบบก้าวหน้านั้นเป็นข้อดีอีกข้อหนึ่งของระบบภาษีตามมูลค่า

ทางเลือกที่สาม คือ การใช้ระบบภาษีสรรพสามิตแบบผสม ซึ่งเป็นการรวมข้อได้เปรียบของระบบภาษีตามปริมาณ และภาษีตามมูลค่าเข้าด้วยกัน ภาษีตามปริมาณภายใต้ระบบภาษีแบบผสมช่วยตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพ และเพิ่มเสถียรภาพของรายรับภาษี ในขณะที่องค์ประกอบของภาษีตามมูลค่าจะช่วยลดปัญหาจากเงินเฟ้อ


สรุปแล้วระบบผสมนั้นน่าจะเป็นกรอบการกำหนดนโยบายที่มีความยืดหยุ่นและตอบสนองวัตถุประสงค์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมได้มากกว่า สมาชิกทั้ง 27 ประเทศของสหภาพยุโรปใช้ระบบผสม โดยประเทศจีน และ มาเลเซีย เป็นประเทศในทวีปเอเชียที่ใช้ระบบดังกล่าว ประเทศฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ เป็นตัวอย่างของ 14 ประเทศในทวีปเอเชียที่ใช้ระบบภาษีตามมูลค่า ประเทศไทย บังกลาเทศ เขมร และเวียดนาม เป็นแค่ 4 ประเทศในทวีปเอเชียที่ใช้ระบบภาษีตามมูลค่า
กำลังโหลดความคิดเห็น