เอเจนซี - กลุ่มผู้ประสบภัยชาวตุรกีปักหลักอยู่ไม่ไกลจากบ้านที่กลายเป็น “กับดักมรณะ” หลังแผ่นดินไหว 7.2 เมื่อวันอาทิตย์ (23) คร่าชีวิตผู้คนไปไม่ต่ำกว่า 471 ราย ครั้นเหม่อมองฟ้าสีหม่น ชาวบ้านในชุมชนห่างไกลจากเมืองหลักก็เห็นสัญญาณความตายอีกจำนวนมาก หากพวกเขายังไม่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องที่พักพิง ก่อนหิมะแรกของเหมันต์ฤดูมาเยือน
“อีก 15 วัน คนที่นี่ครึ่งหนึ่งอาจหนาวตายได้” เซลาฮัตติน คาราเดนิซ ผู้ประสบภัยวัย 47 ปี กล่าว หมู่บ้านกูเวนคลี (Guvencli) ของเขาตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองเออร์ซิสกับเมืองแวน สองเมืองที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดในจังหวัดแวน
หิมะแรกในตุรกีมักเริ่มตกช่วงเดือนพฤศจิกายน พายุหิมะก็เกิดขึ้นเป็นประจำ โดนพื้นดินจะขาวโพลนไปจนถึงเดือนเมษายน
“พื้นที่แถบนี้เป็นดินแดนแห่งฤดูหนาว” ฮิลมี กุลเกลดี ชาวบ้านอายุประมาณ 50 ปี กล่าว “เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ชีวิตกลางแจ้งในช่วงนี้ อุณหภูมิอาจลดต่ำถึง -25 องศา หรือ -40 องศา”
ไม่ว่าหน่วยวัดจะเป็นเซลเซียสหรือฟาเรนไฮต์ ความหนาวเย็นขนาดนั้นก็คร่าชีวิตผู้คนได้ทั้งสิ้น
ผู้ว่าราชการจังหวัดแวนระบุว่า ประชาชนได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้กว่า “600,000” ราย โดยผู้คนในเมืองและหมู่บ้านต่างๆ ก็กำลังหวาดผวา ไม่กล้านอนหลับภายในบ้าน ขณะอาฟเตอร์ช็อกยังคงคุกคามไม่หยุด
ความช่วยเหลือเบื้องต้นเทกำลังไปยังเมืองแวน ซึ่งมีประชากรราว 1 ล้านคน และเป็นเมืองเอกของจังหวัดแวน กับเมืองเออร์ซิส ที่มีประชากร 100,000 คน โดยปล่อยให้พื้นที่อื่นเฝ้ารอความช่วยเหลือมานานหลายวัน
สองข้างทางของถนนที่มุ่งสู่หมู่บ้านกูเวนคลีเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง บางหลังพังราบเป็นหน้ากลอง บางหลังกำแพงหายไปทั้งแถบ ภาพเช่นนี้ไม่ได้ต่างจากสภาพหมู่บ้านอื่นในพื้นที่แผ่นดินไหว เช่น หมู่บ้านอลาคอย (Alakoy) ดาโกนู (Dagonu) เกดิคลี (Gedikli)
เต็นท์หลังใหญ่ที่สภากาชาดตุรกีมาตั้งไว้กลายเป็นศูนย์ระบายความไม่พอใจของชาวบ้าน หลังยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ และถูกทอดทิ้งอย่างเจ็บปวดมาจนถึงวันนี้
“เรารู้ดีว่ามีความช่วยเหลือ แต่ความช่วยเหลือพวกนี้ถูกแบ่งสรรอย่างไม่เป็นธรรม” เซลาฮัตติน คาราเดนิซ กล่าว “เราไม่มีน้ำกิน ไม่มีไฟฟ้า ความช่วยเหลือมาแล้วก็กระจุกอยู่บ้านใครสักคน สุดท้ายเราก็ไม่ได้รับอะไร”
นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้ทำปศุสัตว์ก็กำลังเฝ้ามองสัตว์เลี้ยงที่กำลังจะตายลงทีละตัวๆ เนื่องจากโรงนาที่เคยช่วยป้องกันความหนาวแก่พวกมันก็พังไม่มีเหลือ
ออร์ฮาน โอกุนซ์ เกษตรกรวัย 37 ปี เล่าว่า เขากังวลใจกับวัวและแพะที่ต้องนอนกลางแจ้ง “ไม่มีสัตว์ตัวไหนทนหนาวอย่างนี้ได้เกิน 2 สัปดาห์ โรงนาก็พังเสียแล้ว”
เมื่อความมืดมาเยือน อุณหภูมิจะลดลงต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง สำหรับผู้ประสบภัยแล้ว เต็นท์และผ้าห่มกลายเป็นที่ต้องการยิ่งกว่าของล้ำค่าใดๆ ณ เวลานี้
“เต็นท์สามารถช่วยชีวิตเด็กๆ ได้ พวกเขาบอกว่า เราจะได้บ้านสำเร็จรูปในอีก 15-30 วัน” เซกิ ยัตคิน ผู้ประสบภัยวัย 46 ปี เปิดใจ เขาเพิ่งเสียพ่อไปในเหตุแผ่นดินไหว “เราไม่อาจทนหนาวต่อไปได้ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้มาก”
ออร์ฮาน โอกุนซ์ ระบายความในใจทิ้งท้ายไว้ว่า “เมื่อคืนมีฝนตก ทำเราจุดเตาไม่ได้ อากาศก็หนาวเหน็บ ถ้าจะมีคนหนาวตาย คงไม่ใช่เรื่องแปลก ของที่เราต้องการทั้งเสื้อผ้า ผ้าห่ม อยู่ใต้ซากบ้าน ... พวกเขามาแจกขนมปัง แต่ที่เราต้องการ คือ เต็นท์”