xs
xsm
sm
md
lg

ถกแก้รธน.วันเดียว ปชป.หวั่นรวบรัด-กลุ่มสยามฯเปิดโมเดล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“สยามประชาภิวัฒน์”นัดหารือคลอด“โมเดลร่างรธน.” 21ก.พ. นี้ ค้านแก้ไขฉบับรัฐบาล ชี้ยิ่งมุ่งรวบอำนาจ คาดเสนอยกเลิกรธน.ฉบับปี 50 ยกร่างใหม่ทั้งฉบับด้วย ส่วน“ปชป.”วอน ปธ.สภาฯ เปิดถกร่วมแก้รธน. 3วัน พร้อมถ่ายทอดสด ดักคออย่ารวบรัดปิดปากเหมือนพรก. 2 ฉบับ ส่วน“ค้อนปลอม-ปธ.วิป” รับลูก สกัดสงครามน้ำลาย! ถก 23ก.พ.วันเดียวรู้เรื่อง!

วานนี้ (20 ก.พ.55)นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)ในฐานะนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ เปิดเผยว่า กลุ่มเตรียมจะเสนอกรอบหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เห็นด้วย กับร่างของรัฐบาลเชื่อว่าหากแก้ตามร่างของรัฐบาลแล้วจะยิ่งทำให้บ้านเมืองแย่ลง นำไปสู่การรวบอำนาจ โดยที่จะหารือกันครั้งสุดท้ายในวันที่ 21ก.พ.และจะแถลงข่าวในวันที่ 22 ก.พ. และควรยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ยกร่างขึ้นมาใหม่

นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน กล่าวถึงการตั้ง 10 ที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า โดยรัฐธรรมนูญให้เรามีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอกับรัฐสภา นอกจากนั้นให้ดูว่ามีกฎหมายอะไรขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาก็มีการศึกษาเบื้องต้น และเคยเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของผู้ตรวจการ ซึ่งต้องมีการประมวล เราทำหน้าที่ตามปกติ และต้องหาคนที่บอกกับสังคมว่าประเด็นไหนที่ต้องแก้ไขบ้าง หรือมีอะไรที่เป็นความแปลกใหม่

ที่ผ่านมาเราทำหน้าที่รวบรวม แต่การวิเคราะห์เพื่อนำเสนอ เราต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่รู้ เข้าใจรัฐธรรมนูญทั้งปี 2540 และ 2550 เป็นอย่างดี ก็จะเป็นผู้ที่มาวิเคราะห์เสนอสังคม นอกจากนี้หากท่านมีประเด็นใหม่ก็สามารถนำเสนอเพิ่มเติมได้ ทุกท่านนี้จะไม่ได้ทำหน้าที่รัฐธรรมนูญแต่จะบอกว่าเป็นอย่างไร และในอนาคตหากคนที่จะร่างรัฐธรรมนูญก็สามารถที่จะหันมาถามทั้ง 10 คนนี้ได้

นายประวิชกล่าวต่อว่า กำหนดเวลานั้นยังไม่มี เพราะต้องรอประชุมนัดแรกในวันที่ 29 ก.พ. นี้ แต่จากการดูทิศทางเรื่องการจะแก้รัฐธรรมนูญที่กว่าจะตั้ง ส.ส.ร. ที่ใช้เวลานาน เราเชื่อว่าจะทันเวลา

ส่วนความคืบหน้าในการเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 ก.พ. โดยนายสมศักดิ์ เกียรติ|สุรนนท์ ประธานรัฐสภา บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาพิจารณา

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันชัดเจน ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเวลานี้
ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) โดยมีนายอุดมเดช รัตนเสถียร เป็นประธาน เพื่อหารือถึงการเตรียมการในการยื่นบรรจุวาระการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 23 ก.พ. นี้ ซึ่งใช้เวลาการหารือนานกว่า 3 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 14.00 น.นายอุดมเดชกล่าวภายหลังการประชุมว่า ในเวลา 12.00 น. วันที่ 21 ก.พ. จะเชิญตัวแทนจากวิปฝ่ายค้าน และวุฒิสภา มาหารือเรื่องกรอบเวลาการประชุมในวันที่23 ก.พ. เพื่อให้เหมาะสมกันทั้ง 3 ส่วน ซึ่งในส่วนของส.ส.รัฐบาลเองจะปล่อยให้การประชุมเป็นไปตามธรรมชาติ และเชื่อว่าจะมีการชี้แจงข้อมูลต่างๆทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน แม้จะมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายค้านอาจทักท้วงบ่อยครั้งก็ตาม อย่างไรก็ตาม วิปรัฐบาลมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการแก้ไขมาตรา 291 อย่างเดียว จึงไม่น่าจะใช้เวลามาก ซึ่งเราจะพยายามพูดคุยกับตัวแทนของทั้งสองวิปฯก่อนว่ามีความประสงค์จะใช้เวลาเท่าใด เบื้องต้นอาจจะใช้เวลา 12 ชั่วโมง คือเริ่มตั้งแต่ 09.30 น. และเสร็จสิ้นในเวลา 21.30 น. หรืออาจจะเพิ่มไปจนถึง 24.00 น.หรือไม่ขึ้นอยู่กับกับตกลงกัน ทั้งนี้ ในการประชุมมีองค์ประกอบในการพิจารณาอยู่ 4 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ส่วนของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 2.ส่วนของส.ส.ฝ่ายค้าน 3.ส่วนของวุฒิสภา และ4.ส่วนของครม. ซึ่งหากวุฒิสภาหรือส.ส.ฝ่ายค้าน เห็นว่าควรจะมีเวลาที่เพิ่มมากขึ้น ก็ต้องมาคุยกันอีกครั้ง เพราะส.ส.ในซีกรัฐบาลจำนวนมากสนใจที่จะอภิปรายเช่นเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการหารือถึงความพร้อมกรณีความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นในสภาหรือไม่ นายอุดมเดชกล่าวว่า ตนคิดว่าเวทีในวันที่ 23 ก.พ.มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ คงจะพูดในประเด็นที่มีความเห็นต่างน่าจะดีกว่า เราควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะที่ผ่านมาเวลาประชุมก็มีการให้เกียรติในเวทีสภากันอยู่แล้ว นอกจากจะมีอะไรเกินเลยมากจริงๆ แต่ในส่วนของส.ส.ฝ่ายรัฐบาลทุกคนก็พร้อมที่จะชี้แจงในสิ่งที่เกิดขึ้น

นายอุดมเดชกล่าวว่า ในวันที่ 23 ก.พ.จะมีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาจำนวน 3 ร่าง ได้แก่ 1.ร่างของพรรคเพื่อไทย ที่มีการตรวจสอบรายชื่อส.ส. 275 คน เสร็จเรียบร้อยแล้ว2.ร่างของรัฐบาล ที่คาดว่าจะยื่นทันในวันเดียวกันหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมเมื่อวันที่ 13 ก.พ. และ3.ร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่คาดว่าจะตรวจสอบรายชื่อส.ส.จำนวน 128 รายชื่อเสร็จทันและสามารถบรรจุเข้าในวันเดียวกันได้ นอกจากนี้ ในส่วนของร่างประชาชนที่ยังไม่มีการบรรจุเข้าสู่วาระในครั้งนี้นั้น ได้มีการทำความเข้าใจกันเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากอยู่ในขั้นกระบวนการตรวจสอบรายชื่อประชาชนของรัฐสภา นอกจากนี้ยังจะต้องส่งกรมการปกครอง และสำนักทะเบียนราษฎร์ทำการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งด้วย คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน

“ยืนยันว่าวิปรัฐบาลไม่มีธงที่จะพิจารณามาตรา 291 ให้เสร็จภายในวันเดียว แต่อยากจะให้พิจารณาในเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังแปลกใจกับกรณีที่ฝ่ายค้านออกมาระบุว่าอยากให้ใช้เวลาการพิจารณา 3 วันทั้งๆที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทำไมจึงเสนอเวลาในการพิจารณานานกว่ารัฐบาลที่เป็นผู้เสนอการแก้ไขเสียอีก”ประธานวิปรัฐบาล กล่าว

ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การประชุมร่วมของสองสภาในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญ ดังนั้น ประธานสภาฯ ควรให้เวลาในการพิจารณาของสมาชิกอย่างกว้างขวาง ไม่อยากให้เกิดพฤติกรรมเหมือนตอนที่มีการพิจารณาพ.ร.ก.กู้เงิน ที่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลพยายามรวบรัดหาเหตุมาปิดการอภิปราย ทั้งนี้ อยากตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดประธานสภาฯ ถึงได้นัดประชุมในวันพฤหัสบดีแทนที่จะเริ่มประชุมตั้งแต่วันพุธที่มีการประชุมสภาฯ หรือเพราะต้องการจะหนีกระทู้ถามสด หากมีความจริงใจควรจะให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ 22 ก.พ.นี้เลย และหากยืดเยื้อก็ควรเปิดให้มีการอภิปรายยาวไปถึงวันศุกร์หรือวันเสาร์-อาทิตย์ก็ได้ อย่างน้อย 2-3 วัน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญเป็นที่สนใจของประชาชน และมีส.ส.และส.ว.สนใจเป็นจำนวนมาก จึงไม่ควรที่จะมีการรวบรัด รวมทั้งอยากให้มีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้รับชมด้วย

สำหรับการเคลื่อนไหวหลังจากนี้เชื่อว่าจะมีหลายกลุ่ม เช่น กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาเพื่อเสนอแนะประเด็นที่ควรแก้ไขในรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีที่องค์กรต่างๆ จะเข้ามามีส่วนร่วม โดยไม่ควรปล่อยให้รัฐบาลและกลุ่มนปช.มาเคลื่อนไหวอย่างเดียว ทั้งนี้ อยากตั้งคำถามไปยังรัฐบาลและผู้ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ข้อคือ 1.รัฐธรรมนูญ 50 มีความบกพร่องในมาตราใดบ้าง อยากให้ผู้ที่แก้ไขอธิบายให้ประชาชนทราบ และหากไม่รู้ก็ไปดูผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ก่อน 2.อยากถามว่าทำไมไม่แก้ไขเฉพาะมาตราที่มีปัญหา ซึ่งน่าจะดีกว่าการแก้ไขลักษณะรื้อทิ้งทั้งฉบับ เพราะประชาชนสามารถตรวจสอบได้

3.การแก้ไขโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นการแก้ไขที่ไม่มีหลักประกันให้กับสังคมว่า ทิศทางการแก้ไขในอนาคตจะเป็นไปทิศทางใด 4.การแก้ไขโดยแก้เฉพาะมาตรา 291 เป็นการเปิดโอกาสเลือกส.ส.ร. ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคพวกตัวเองเข้ามามีตำแหน่งแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ5.รัฐธรรมนูญ 50 เป็นรัฐธรรมนูญแสลงใจของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใช่หรือไม่ เพราะการอ้างเหตุผลทุกครั้งที่ผ่านมาคือ รัฐธรรมนูญมาจากคมช.ซึ่งถือเป็นเม้าเบื่อไม้เมาของพ.ต.ท.ทักษิณ

“รัฐธรรมนูญ 50 ไม่ควรแก้ไขทั้งฉบับ ควรแก้เฉพาะมาตราที่มีปัญหาเท่านั้น ที่ผ่านมาส.ส.ส่วนใหญ่เห็นว่ามีจุดบกพร่องแค่ 2-3 ประเด็นเท่านั้น แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องไปรื้อทิ้งทั้งฉบับ โดยส่วนใหญ่ที่เห็นว่ามีปัญหาคือ มาตรา 237 และมาตรา 265-266 แต่มาตรา 102(7) และมาตรา 309 เป็นความต้องการของพ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งนี้ เชื่อว่าการแก้ไขส่วนใหญ่จะคัดลอกมาจากรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ดังนั้น แค่ตั้งกมธ.ขึ้นมาศึกษาและแก้ไขบางมาตราก็น่าจะสำเร็จได้” นายเทพไทกล่าว

สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มส.ส.พรรคประชาธิปัตย์คือ การออกสติ๊กเกอร์ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ถ้าจะมีคำถามว่ารู้ได้อย่างไรว่ารัฐธรรมนูญแก้เพื่อพ.ต.ท.ทักษิณนั้น ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวของเราเป็นแบบการเฝ้าระวัง เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตจะแก้เพื่อใคร เพราะไม่มีสัญญาณใดที่ชัดเจนว่า จะไม่แก้ไขเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ เราจึงเคลื่อนไหวในลักษณะป้องปรามไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ฉวยโอกาส ทั้งนี้ สติ๊กเกอร์ดังกล่าวได้เผยแพร่ไปยังประชาชนทั่วประเทศ โดยมีผู้สนใจเข้ามารับไปเคลื่อนไหวในภูมิภาคต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคใต้ที่เกือบเต็มพื้นที่

ส่วนที่รัฐสภา วันเดียวกัน นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมด้วยนายสนั่น ขจรประสาสน์ และส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา เข้ายื่นรายชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 291 เพิ่มเติมจากเดิม 129 ชื่อ เป็น 130 ชื่อ กับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ
โดยนายชุมพลกล่าวว่า วันนี้ที่เข้ามายื่นเพราะเป็นการเพิ่มน้ำหนักและเป็นการย้ำเจตนารมณ์ของพรรคในแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการจัดตั้งสมาขิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)ในครั้งนี้จะเป็นแบบเดียวกับเมื่อตอนยกร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ส่วนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะแตกต่างจากพรรคเพื่อไทยตรงที่เมื่อสสร.ร่างเสร็จแล้วจะส่งให้สภาเพื่อให้ความเห็นชอบ แต่หากสภาไม่เห็นชอบก็จะทำประชามติถามความคิดเห็นประชาชน ทั้งนี้ก็มีข้อแตกต่างอยู่บ้างแต่คิดว่าไม่มีปัญหาเพราะสามารถพูดคุยตกลงกันในชั้นของกรรมาธิการศึกษาได้ ซึ่งจะได้มีการชี้แจงต่อสภาในวันที่ 23 ก.พ.นี้อีกครั้ง

ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในวันที่ 23 ก.พ.นี้ จะมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับการพิจารณาจำนวน 3 ร่าง คือ ร่างของรัฐบาล, ร่างของพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งการพิจารณานั้นจะยึดตามข้อบังคับ ด้านการกำหนดกรอบการพิจารณานั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการประสานงาน (วิป) รัฐบาล, ฝ่ายค้าน และ วุฒิสภา ไปหารือกันอีกครั้ง เบื้องต้น ตนมองว่าการใช้เวลาพิจารณาเพียง 1 วันน่าจะเพียงพอ เพราะพิจารณามาตราเดียว ส่วนความกังวลที่หลายฝ่ายมองว่าจะมีความวุ่นวายกลางที่ประชุมอีกนั้น ตนมองว่าหากมีการยึดกติกาและข้อบังคับการประชุม จะไม่มีปัญหา แต่หากสมาชิกหาเหตุมาตีรวน ตนมองว่าขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของสมาชิก

มีรายงานว่า แกนนำกลุ่มหลากสี ได้นัดหมายประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ให้ออกมารวมตัวกันที่หน้าอาคารรัฐสภา ในวันที่ 23 ก.พ. เวลา 09.00 น. ซึ่งจะเป็นวันที่สภาจะพิจารณา เพื่อยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และเป็นการแสดงพลังว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองบางกลุ่ม พร้อมกันนี้จะยื่นรายชื่อประชาชน 2.5 หมื่นรายชื่อต่อประธานสภา เพื่อคัดค้านการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น