xs
xsm
sm
md
lg

ขอความร่วมมือสื่อมวลชนบางฉบับ อย่าใช้คำผิด

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

ขออนุญาตจากข่าวหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2555 หัวข้อข่าวว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินตั้ง “10 อรหันต์” นรนิติ -บวรศักดิ์- วิษณุ นำทีมชี้ทิศทางการแก้ไข รธน.”

นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาจำนวน 10 คน เพื่อเสนอแนะในประเด็นที่ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ...”

เพื่อนสื่อมวลชนน่าจะใช้คำว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินทั้ง 10 ผู้ชำนาญการ” นรนิติ-บวรศักดิ์-วิษณุ นำทีมชี้ทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงจะเป็นการถูกต้อง คนที่ไม่รู้ความเป็นมาเป็นไปที่แท้จริงก็จะเข้าใจผิดเอาได้ว่า อรหันต์ หรือพระอรหันต์ล้วนแล้วมีแต่ความเห็นผิดทั้งนั้น เช่น เห็นระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญเป็นระบอบประชาธิปไตย เห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย นี่คือความเห็นผิด

จะว่าไปแล้วผู้ชำนาญการทั้ง 11 คนรวมทั้ง นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน หากดูจากผลงานในอดีตทั้ง 11 คน ก็ล้วนแล้วมีความเห็นผิดเรื่องระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น

น่าเศร้าใจที่ผู้ปกครองไทยเห็นผิดเรื่องระบอบประชาธิปไตย พวกเขาเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ซึ่งผู้เขียนแย้งว่า แนวทางนี้เป็นความเห็นผิดหลอกลวงประชาชนเพื่อประโยชนแก่บุคคลหรือคณะบุคคลและบ่งบอกถึงความไม่มีปัญญาของกลุ่มผู้ปกครองเหล่านั้น แนวทางดังกล่าวจะร่างรัฐธรรมนูญสัก 100 ครั้ง 1,000 ฉบับ ตายแล้ว 10 ชาติ ก็ไม่สามารถสร้างระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จ

ส่วนแนวทางที่ถูกต้อง อยากได้ระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องร่วมมือกันผลักดันสถาปนาหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือระบอบประชาธิปไตย เมื่อสถาปนาแล้ว ประชาชนเข้าใจเรื่องระบอบประชาธิปไตยแล้ว จึงยกร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดโยงจากหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย

พูดง่ายๆ “ระบอบสร้างรัฐธรรมนูญ นี่คือความเห็นถูก” ดวงอาทิตย์เป็นหลักของโลก ฉันใด หลักการปกครองฯ ย่อมเป็นหลักของรัฐธรรมนูญ ฉันนั้น

ส่วนความเห็นผิด คือ เอารัฐธรรมนูญไปสร้างระบอบ นี่ความเห็นผิดใหญ่โตมโหฬาร และมีผู้ปกครองไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่เห็นผิดเช่นนี้ อุปมาเอาโลกเป็นหลักของดวงอาทิตย์ ท่านผู้อ่านเห็นผิดว่าใช่หรือไหม

หลักวิธีคิดง่ายๆ ความสัมพันธ์ระหว่างจุดมุ่งหมายกับวิธีการ หากท่านคิดว่า “จุดมุ่งหมายกำหนดวิธีการ” ก็แสดงว่าท่านผู้อ่านมีความเห็นถูก

ส่วน “คนบ้า คนหลง คนโง่ พวกเขาเอาวิธีการไปกำหนดจุดมุ่งหมาย” นี่คือความเห็นผิด 80 ปี ที่ครอบงำไทย ใครจะร่วมคิดแก้ไข

ดูตัวอย่างง่ายๆ เราจะไปวัดพระแก้ว วัดพระแก้วจะต้องมีอยู่ก่อน เราประชาชนทั้งประเทศจึงไปวัดพระแก้วได้ บางคนเดิน บางคนวิ่ง ขี่จักรยาน รถยนต์ รถไฟ เป็นต้น วิธีการแตกต่างหลากหลายสู่จุดมุ่งหมายคือวัดพระแก้ว

เราอยากมี อยากได้ระบอบประชาธิปไตย เราก็ต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการสถาปนาหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นมาก่อน สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเรียก “หลัก Democracy”

80 ปี มาแล้วยังไม่มีใครสถาปนา โดยแท้จริงเป็นความทรงยินดี เป็นอำนาจ ซึ่งเป็นพระราชภารกิจอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งราชอาณาจักร ที่จะทรงพระราชทานหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือหลักการปกครองแบบธรรมาธิปไตย “วันสถาปนาหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย” จึงเกิดขึ้นได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จึงเป็นเรื่องง่ายๆ ประกอบด้วยปัญญา จริงใจ ต่อชาติและประชาชน อยู่เหนือการยึดติดใดๆ เพื่อประโยชน์แห่งตนโดยสิ้นเชิง

สื่อ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ นำเอาคำว่า “อรหันต์” หรือ พระอรหันต์ อ่านว่า พระ-อะ-ระ-หัน ซึ่งเป็นคำที่ “สูงสุด” ทั้งอรรถและพยัญชนะ คือ เป็นสภาวะผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา พระอริยบุคคลชั้นสูงสุดสามารถละสังโยชน์ได้ครบ 10 ประการ ไปใช้กับปุถุชน จึงไม่เป็นการบังควร

สังโยชน์ คือ กิเลสเครื่องผูกมัด ร้อยรัดจิตใจให้จมในวัฏฏะ มี 10 อย่าง กล่าวโดยย่อได้แก่

ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ได้แก่

1. สักกายทิฏฐิ - มีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของเรา มีความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นกายของเรา

2. วิจิกิจฉา - มีความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์

3. สีลัพพตปรามาส - ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร

4. กามราคะ- มีความติดใจในกามคุณ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

5. ปฏิฆะ- มีความกระทบกระทั่งในใจ ขุ่นเคืองใจ

ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง 5 ได้แก่

6. รูปราคะ - มีความติดใจในวัตถุหรือรูปฌาน

7. อรูปราคะ - มีความติดใจในอรูปฌานหรือความพอใจในนามธรรมทั้งหลาย

8. มานะ - มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหรือคุณสมบัติของตน

9. อุทธัจจะ - มีความฟุ้งซ่าน

10. อวิชชา- มีความไม่รู้จริง รู้แล้วแต่ยังไม่หมด ไม่หมดจด

พระโสดาบัน ละสังโยชน์ 3 ข้อต้นได้คือ หมดสักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส

พระสกทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ 4 และ 5 คือ กามราคะและปฏิฆะให้เบาบางลง

พระอนาคามี ละสังโยชน์ 5 ข้อต้นได้หมด

ส่วน พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง 10 ข้อ วิมุตติอิสระจากสังสารทุกข์

จึงขอร้องด้วยความปรารถนาดีต่อกัน นับถือกัน รักกัน ให้ประโยชน์แก่กัน ร่วมไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ขอร้องว่าไม่ควรใช้คำว่า “อรหันต์” แทนนักวิชาการ หรือ ส.ส.ร. หรือกับใครๆ ก็ตามที่ยังเป็นปุถุชนหนาด้วยกิเลส ทราบแล้วร่วมมือกันแก้ไข
กำลังโหลดความคิดเห็น