เลย-กลุ่มอนุรักษ์ฯเมืองเลยเผยไม่คัดค้านกรณีภาคการเมือง-นักธุรกิจดันโครงการสร้างกระเช้าภูกระดึงเข้าครม.สัญจร แต่มีข้อแม้หากจะสร้างจริงต้องเดินไปตามกรอบกฎหมาย อย่าใช้อำนาจการเมืองเป็นเครื่องมือดันทุรังสร้าง ลั่นเมินกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชนหรือปิดบังซ่อนเร้นข้อมูลเมื่อไหร่ พร้อมพึ่งศาลปกครอง
“กระเช้าภูกระดึง” เป็นอีกโครงการขนาดใหญ่ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.สัญจร จ.อุดรธานีในวันที่ 22 ก.พ.นี้โดยรัฐมนตรีเจ้าถิ่น นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกตัวผลักดันอย่างออกหน้า ภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนในท้องถิ่นเองก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะเล็งเห็นเม็ดเงินมหาศาลจากนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้าพื้นที่ นอกเหนือจากงบก้อนโตจากการก่อสร้างโครงการจะมีการจัดสรรปันส่วนให้แก่ผู้รับเหมาที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ยังมีองค์กรภาคประชาชนและนักท่องเที่ยวที่พิสมัยธรรมชาติจำนวนไม่น้อย ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะมองว่าการเกิดขึ้นของกระเช้าฯจะนำมาซึ่งผลกระทบระบบนิเวศรอบด้าน
นายวีระพล เจริญธรรม ที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย และในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดเลย เปิดเผยว่าตนและองค์กรภาคีเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติฯใช่ว่าไม่ได้เห็นด้วยกับโครงการสร้างกระเช้าภูกระดึง เพียงแต่อยากจะให้รัฐบาลกลับไปทบทวนใหม่อีกครั้งว่ามีความจำเป็นต้องเร่งสร้างแค่ไหน รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ได้จัดทำอย่างรอบด้านหรือยัง หากจะสร้างจริงมันคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ-สังคมหรือไม่
ทั้งนี้ หากรายงานระบุว่าไม่คุ้มค่า ก็คงต้องยกเลิก ไม่มีสิทธิ์ดันทุรัง ถ้าหากบอกว่าคุ้มค่าก็คงต้องถามต่อว่า คุ้มค่าแบบไหนบ้าง รูปแบบกระเช้าจะเป็นแบบไหน ซึ่งการศึกษาในประเด็นต่างๆใช้งบประมาณไม่น้อย ต้องศึกษาดูงานเปรียบเทียบจากต่างประเทศ ว่าเขาสร้างและบริหารรูปแบบไหน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้เวลาอีกนาน โดยเฉพาะการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA สำคัญมาก พ.ร.บ. สุขภาพ พ.ศ.2550 ได้กำหนดชัดเจนว่า หากโครงการใดทำแล้วมีผลกระทบทางด้านสุขภาพต้องหยุดและทบทวนใหม่
ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งไม่เฉพาะแต่ทำประชาพิจารณ์คนในจังหวัดเลยเท่านั้น ต้องถามคนทั้งประเทศ ภูกระดึงเป็นสมบัติของคนทั้งประเทศ สิ่งสำคัญยังมีคำถาม ที่หลายๆภาคส่วนได้ตั้งไว้ ว่าหากมีการสร้างกระเช้าแล้ว จะมีการสร้างอะไรต่อบนภูกระดึงอีกหรือไม่ เพราะการขึ้นไปถึงภูกระดึงแล้ว ใช่ว่าจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บนเขา จะสัมผัสบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติจริงๆหรือแม้แต่ดูพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก มันต้องเดินทางไปยังจุดชมวิวต่างๆ
นายวีระพล กล่าวต่อถึงเหตุผลที่จะรองรับคนพิการนั้นก็เห็นด้วย แต่หากขึ้นไปแล้วคนพิการจะเดินไปตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีระยะทางไกลได้ไหม ผู้สูงอายุ 70-80 ปี จะเดินไปได้อย่างไร แต่ละจุดนั้นต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง เช่น ไปดูพระอาทิตย์ขึ้นบริเวณผานกเอนนั้นไป-กลับ ราว 4 กม. พระอาทิตย์ตกที่ผาหล่มสัก ไปกลับ 18 กม. เป็นสิ่งที่เราเป็นห่วงว่า ต่อไปเมื่อมีกระเช้าจะมีรถราง มีรีสอร์ต มีที่พักต่อหรือไม่ มีคนมากขึ้นปัญหาก็จะตามมา เรื่องของการบริการ เจ้าหน้าที่ ซึ่งปัจจุบันนี้แม้ไม่มีกระเช้า คนขึ้นไปก็เยอะแล้ว มีปัญหาขยะตกค้างอยู่มากมาย ยังแก้ปัญหาไม่ได้
สำหรับการเข้าใจของชุมชนในพื้นที่นั้นต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาพวกเขาได้รับข้อมูลจากคนของนักการเมือง จากคนของภาครัฐเพียงด้านเดียวที่เป็นด้านดี แต่ด้านลบไม่ได้บอกกว่าให้เขาทราบ เรื่องนี้ ต้องให้ข้อมูลชุมชนท้องถิ่นอย่างรอบด้าน
ที่สำคัญการลงทุนภาคธุรกิจในพื้นที่หากมีกระเช้าขึ้นภูกระดึงจริง เป็นที่ทราบกันดีว่าที่ดินในอำเภอภูกระดึง ส่วนใหญ่จะเป็นที่ราชพัสดุ ต้องเป็นทุนขนาดใหญ่เท่านั้นถึงจะเช่าเพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ แล้วอนาคตคนท้องถิ่นภูกระดึงจะได้อยู่หรือเปล่า ประเด็นนี้จะมองข้ามไม่ได้ พวกเขาอาจต้องหนีออกไปพักอาศัยที่อื่น ไม่มีปัญหาซื้อตึกซื้ออาคารพาณิชย์ราคา 10-20 ร้านได้ ต้องไปหาที่อยู่ใหม่ ไปบุกเบิกบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ ป่าก็จะถูกทำลาย
นายวีระพล กล่าวอีกว่า ในกรณีที่ภาคธุรกิจอ้างต้องการให้ท่องเที่ยวเมืองเลยโต ไม่อยากให้มองแหล่งที่มาของรายได้ด้านเดียว แต่ละปีจังหวัดเลยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนไม่น้อย และต้องการมาสัมผัสกับธรรมชาติ สัมผัสกับวัฒนธรรมพื้นบ้าน วัดวาอารามเมืองเลยมีมากมายที่จะใช้โปรโมตขายการท่องเที่ยว ไม่อยากให้มุ่งไปที่กระเช้าภูกระดึงเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตามนายวีระพลกล่าวว่า ภาคการเมืองต้องคิดให้รอบคอบกรณีโครงการก่อสร้างกระเช้าภูกระดึง อย่าคิดเพียงแค่ว่ามีอำนาจรัฐอยู่ในมือจะสร้างหรือทำอะไรก็ได้ ไม่เช่นนั้นปัญหาความขัดแย้งจะเกิดขึ้นตามมา ต้องเปิดเวทีสาธารณะ ให้ทุกคนทุกภาคส่วนได้เรียนรู้ รับทราบข้อมูลที่ตรงกัน อย่าเอาข้อมูลด้านใด ด้านหนึ่งไปโฆษณาชวนเชื่อ
ดังนั้นในฐานะตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชน จึงอยากเสนอแนะรัฐบาลกรณีโครงการกระเช้าภูดึงนั้น ต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมโครงการฯ ต้องเคารพสิทธิชุมชน โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ซึ่งให้รัฐได้ชี้แจงว่าสิ่งที่ทำนั้น มันกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ
“ ถ้าหากประเด็นเหล่านี้ถูกละเลย มุ่งใช้อำนาจรัฐอย่างเดียว พวกเราจะออกมาคัดค้านแน่นอน และถ้าหากภาครัฐทำไม่ถูกต้องหรือปกปิดซ่อนเร้น ก็คงเป็นหน้าที่ของศาลปกครอง ที่ภาคประชาชนอย่างพวกเราต้องร้องทุกข์ เป็นที่พึ่งสุดท้าย”นายวีระพลกล่าว