xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นปช.ร้าวลึก“แดงวิชาการ”เปิดหน้าชก“แดงนักเลือกตั้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ(นปช.)คนใหม่
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รอยร้าวภายในขบวนการคนเสื้อแดง ได้ปรากฏให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น และทำให้เห็นธาตุแท้ของแกนนำคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ว่า แท้ที่จริงก็คือ นักเลือกตั้งอีกประเภทหนึ่งที่ใช้ฐานะการเป็นแกนนำม็อบสร้างราคาให้ตัวเองเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ไม่ได้ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ตามที่พยายามโฆษณาชวนเชื่อมาตลอดแต่อย่างใด

หากย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดกลุ่มคนเสื้อแดง ก็จะมองออกได้ไม่ยากว่า เป้าหมายการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่แท้จริงก็คือการรับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น

เริ่มมาจากกลุ่ม“พีทีวี”ของนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. ที่รับงานมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้มาทำสงครามโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคณะรัฐประหารหลังเหตุการณ์วันที่ 19 กันยายน 2549 ด้วยการตั้งสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมขึ้นมาในชื่อ “พีทีวี” ในช่วงปลายปี 2549 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2550

ทีมงานหลักของพีทีวี นอกจากนายวีระกานต์แล้วยังประกอบด้วยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งก็กลายเป็นแกนนำคนเสื้อแดงในเวลาต่อมา

หลังจากเตรียมการเปิด“พีทีวี”ด้วยการเซ็ตทีมงาน จัดหาอุปกรณ์ถ่ายทำ มีสถานที่ทำการแล้ว พีทีวี ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทเพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด ได้ขออนุญาตออกอากาศจากกรมประชาสัมพันธ์ ในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งก็ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับ

แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับพีทีวี เพราะได้หันไปแพร่ภาพทางอินเทอร์เน็ตและเคเบิลทีวีในเครือข่าย ขณะเดียวกันก็หยิบเอาประเด็นการไม่ได้รับอนุญาตออกอากาศ มาเป็นประเด็นชุมนุมที่ท้องสนามหลวง โจมตีรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ คณะรัฐประหาร 19 กันยาฯ ลามไปถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

การชุมนุมของพีทีวี เริ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2550 ก่อนที่จะมีกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารเข้ามาร่วม อาทิ กลุ่มของ นพ.เหวง โตจิราการ กลุ่มนายสมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่มนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย กลุ่มนายใจล์ อึ๊งภากรณ์ กลุ่มนางดารณี เชิงชาญศิลปะกุล(ดา ตอร์ปิโด) และกลุ่มนักวิชาการฝ่ายซ้าย ซึ่งต่อมาได้รวมทุกกลุ่มตั้งเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.) ทำการเคลื่อนไหวโดยชูประเด็นการต่อต้านรัฐประหาร โจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และบางครั้งกระทบกระทั่งไปถึงสถาบันเบื้องสูง ขณะเดียวกันก็สร้างภาพว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนักประชาธิปไตย ไม่มีความผิดตามที่คณะรัฐประหารกล่าวหา แต่ถูกรังแก เพราะผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญอิจฉา โดยการเคลื่อนไหวของ นปก.มีนักการเมืองในเครือข่ายของทักษิณเข้ามาร่วมสนับสนุนอย่างชัดเจน

ในช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม 2550 นปก.ได้ปรับบทบาทมาเป็นการต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โดยอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร และใช้สัญลักษณ์การเคลื่อนไหวด้วยการสวมเสื้อแดง และสีแดงก็เป็นสีประจำการเคลื่อนไหวของ นปก.มาตั้งแต่ตอนนั้น

ต่อมา เมื่อเครือข่ายคนเสื้อแดงขยายตัวออกไปต่างจังหวัดโดยใช้ฐานเสียงของนักการเมืองในเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงมีการปรับชื่อกลุ่มเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ในช่วงปี 2551 และการชุมนุมทุกครั้งก็มักจะมีเสียงโฟนอินหรือวิดีโอลิงก์ของ พ.ต.ท.ทักษิณมายังเวทีปราศรัยอยู่เสมอ

ที่ผ่านมา กลุ่มต่างๆ ภายใน นปช.นั้น มีเป้าหมายที่เป็นจุดร่วมเดียวกันคือ การต่อต้านการรัฐประหาร แต่หากมองให้ดีจะเห็นว่า การต่อต้านรัฐประหารของแต่ละกลุ่มมีตื้นลึกหนาบางต่างกัน โดยกลุ่มนักการเมืองในเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ต่อต้านการรัฐประหารที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณสูญเสียอำนาจ ถูกดำเนินคดีฐานทุจริต ถูกยึดทรัพย์ และทำให้พรรคการเมืองของพวกเขาถูกยุบถึง 2 ครั้ง 2 ครา ซึ่งหากการรัฐประหารครั้งใดที่ไม่กระทบถึงผลประโยชน์เหล่านี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ประโยชน์ พวกเขาก็จะไม่พูดถึง

ส่วนบางกลุ่ม อาจต่อต้านรัฐประหารด้วยอุดมการณ์ที่ต้องการให้การเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และยอมเข้าร่วมเคลื่อนไหวอยู่ในขบวนการเดียวกันกับเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยความหวังว่าจะทำให้การต่อต้านรัฐประหารมีพลังมากยิ่งขึ้น

ขณะที่บางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกเรียกว่า ซ้ายอกหัก ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงเพื่อที่จะสานต่ออุดมการณ์ที่จะเปลี่ยนโครงสร้างสังคมแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน หลังจากเคยผิดหวังจากการเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาแล้ว โดยหวังจะเข้าไปปลูกฝังความคิดให้กับมวลชนคนเสื้อแดง ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ จนถึงจุดหนึ่งเมื่อคนเสื้อแดงเปลี่ยนจากปริมาณเป็นคุณภาพตามที่เขาต้องการแล้ว มวลชนคนเสื้อแดงจะเป็นพลังผลักดันการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ไปสู่จุดที่กลุ่มซ้ายอกหักใฝ่ฝันได้

อย่างไรก็ตาม ความตื้นลึกของอุดมการณ์คนเสื้อแดงในระดับแกนนำที่แตกต่างกันนี่เอง ทำให้ขบวนการคนเสื้อแดงไม่ได้เป็นเอกภาพตามที่พวกเขาพยายามจะบอกต่อคนภายนอก

ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยที่มีคนเสื้อแดงเป็นฐานมวลชน ไม่ได้บ่งบอกว่า มาจากความเป็นเอกภาพของแกนนำคนเสื้อแดง แต่เป็นเพราะระบบการจัดการหัวคะแนนที่เข้มแข็งของนักเลือกตั้งในเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีความพร้อมเรื่องเม็ดเงิน และกล้าเสนอนโยบายลดแลกแจกแถมโดยไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคตต่างหาก

หลังจากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 รอยแยกภายในกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อแกนนำคนเสื้อแดงในสายนักเลือกตั้งหลายคนได้เป็น ส.ส. บางคนได้เป็นรัฐมนตรี บางคนได้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี เป็นโฆษกฯ หรือได้เข้าไปอยู่ในกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งก็หมายถึงว่า เป้าหมายของพวกเขาได้บรรลุแล้ว และปล่อยให้เสื้อแดงสายอุดมการณ์ได้แต่ฝันลมแล้งๆ ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสังคมอย่างขนานใหญ่ที่จะตามมา

ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน ความผิดหวังของคนเสื้อแดงสายอุดมการณ์ที่มีต่อแกนนำคนเสื้อแดงสายนักเลือกตั้ง ยิ่งแสดงออกมาชัดเจนยิ่งขึ้น

ทั้งกรณีการช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมอันเนื่องมาจากการชุมนุมเผาบ้านเผาเมืองในปี 2552 และ 2553 ซึ่งแม้ว่า หลายคนจะได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว แต่คนเสื้อแดงอีกสายหนึ่งต้องการที่จะให้ทุกคนได้รับการประกันตัวออกมาใช้ชีวิตอยู่นอกคุกอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ได้ประกันตัวเฉพาะคนเสื้อแดงเซเล็บ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดี หรือคนเสื้อแดงที่ได้เป็น ส.ส.เท่านั้น

กรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็เห็นรอยแยกชัดเจน เมื่อคนเสื้อแดงสายอุดมการณ์แสดงความผิดหวังรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ที่ไม่ให้การสนับสนุนการแก้ไขมาตราดังกล่าวอย่างจริงจังและจริงใจ โดยเฉพาะกรณีที่นายจตุพร ออกมาบอกว่าแม้จะมีการยื่นรายชื่อประชาชน 1 หมื่นชื่อเพื่อเสนอให้แก้ไขมาตราดังกล่าวก็จะไม่มี ส.ส.คนไหนยกมือให้ ได้ทำให้คนเสื้อแดงบางส่วนถึงกับต่อว่านายจตุพรทรยศอุดมการณ์คนเสื้อแดงและที่ผ่านมาแค่หลอกมวลชนคนเสื้อแดงไปตายแทนเท่านั้น

ล่าสุด กรณีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ ทำให้นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการคนเสื้อแดง แสดงความไม่พอใจ ต่อว่าแกนนำ นปช.ที่ได้เป็น ส.ส.อย่าง นพ.เหวง โตจิราการว่าบิดเบือน เพราะก่อนหน้านี่เคยประกาศว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

รวมถึงกรณีที่นายจตุพรพยายามแก้ตัวให้รัฐบาลกรณีที่พล.อ.เปรมไปร่วมงานเลี้ยงกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้คนเสื้อแดงเคยโจมตี พล.อ.เปรมอย่างหนัก ด้วยการบอกว่า ที่เคยกล่าวโจมตี พล.อ.เปรมก่อนหน้านั้น เป็นการทำหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ก็ถูกนายสมศักดิ์ย้อนเกล็ดว่า มีการโจมตีเรื่องส่วนตัว พล.อ.เปรมมากมาย และถ้าหากไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ทำไมไม่จัดการทางด้านกฎหมาย ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดกษัตริย์ด้วย

ความขัดแย้งในระดับแกนนำคนเสื้อแดง ยังแสดงออกผ่านการเลือกตั้งประธาน นปช.เมื่อ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งกรรมการส่วนกลางลงมติเลือกนางธิดา ถาวรเศรษฐ โดยไม่มีกรรมการจากส่วนภูมิภาคมาร่วม และมีเสียงคัดค้านจากนายชินวัฒน์ หาบุญพาด แกนนำเสื้อแดงสายคนขับแท็กซี่และที่ปรึกษา รมว.คมนาคม ที่มองว่านางธิดามีความคิดเผด็จการ และการเลือกประธานโดยไม่มีกรรมการจากต่างจังหวัดเข้าร่วม จะทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากมวลชนในต่างจังหวัด และมีการแยกกลุ่มออกไปเคลื่อนไหวเองต่างหาก เช่น กรณีนายขวัญชัย ไพรพนา เป็นต้น

การที่นางธิดา ได้เป็นประธาน นปช. อาจมองว่าเป็นการประนีประนอมระหว่างเสื้อแดงสายอุดมการณ์กับเสื้อแดงสายนักเลือกตั้ง เพราะนางธิดาเคยเข้าป่ามาก่อน แต่ก็มีสามี คือ นพ.เหวงที่เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม หากมองจากมุมของคนเสื้อแดงสายอุดมการณ์จริงๆ แล้ว นางธิดาก็เป็นแค่แกนนำสายนักเลือกตั้งคนหนึ่ง ที่ยอมทรยศอุดมการณ์เพื่อให้ตัวเองมีตำแหน่ง นั่นเพราะนางธิดาไม่ได้จริงจังกับการแก้ไขมาตรา 112 ล่าสุดก็ยอมที่จะไม่ผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ นปช. แต่ให้ใช้ร่างของ ส.ส.รัฐบาลไปก่อน

แต่ในขณะเดียวกัน นางธิดาก็มีปัญหากับแกนนำเสื้อแดงสายคนรากหญ้า อย่างนายชินวัฒน์ หาพุญพาด นายขวัญชัย ไพรพนา จึงเป็นงานหนักของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะเฉลี่ยผลประโยชน์ให้กลุ่มต่างๆ ให้สมดุล ไม่เช่นนั้นขบวนการคนเสื้อแดงที่เคยเป็นไม้เป็นมือให้ พ.ต.ท.ทักษิณมาโดยตลอดก็อาจจะพังทลายลงในไม่ช้า
กำลังโหลดความคิดเห็น