xs
xsm
sm
md
lg

ยึดร่างรัฐบาลแก้รธน. ร่างนปช.แค่ตัวสำรอง-ปชป.อัดลุกลี้ลุกลน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานสภา ยันบรรจุร่างแก้ไขรธน.ของรัฐบาล เข้าที่ประชุมสภา 23 ก.พ.นี้ ส่วนร่างของนปช. อยู่ระหว่างการตรวจรายชื่อผู้เสนอแก้ไข ยังไม่บรรจุ ยันแก้ไขรธน.ไม่เกี่ยวกับคดี"ทักษิณ" ด้าน "ธิดาแดง" ยอมเปิดทางให้ร่างของรัฐบาลเข้าพิจารณาก่อน ส่วนร่างของนปช. ขอเก็บไว้เป็นตัวสำรอง ปชป.ตั้งข้อสังเกต รัฐบาลรวบรัด เร่งแก้ไขรธน. เพื่อ"แม้ว"

เมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า ตนได้บรรจุญัตติ ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ของพรรคเพื่อไทย เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 23 ก.พ.นี้แล้ว ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า จะต้องบรรจุภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ยื่น โดยจะครบกำหนดในวันที่ 24 ก.พ.นี้ ส่วนร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับของประชาชน คงจะยังไม่ได้รับการบรรจุเพื่อพิจารณา

ทั้งนี้ ที่ประชุมจะพิจารณาตาม มาตรา 291 โดยใช้เวลา 2-3 เดือน หลังจากนั้นก็จะเลือกตั้งส.ส.ร. โดยใช้เวลา 2 เดือน และไปกำหนดการร่างรัฐธรรมนูญอีก 6 เดือน ซึ่งในช่วงนั้น ส.ส.ร.น่าจะเชิญประชาชนที่เสนอ ร่าง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่างๆ เข้ามาเพื่อรับฟังความคิดเห็นได้

เมื่อถามว่า แสดงว่าร่างแก้ไขของภาคประชาชน จะไม่มีโอกาสพิจารณาในสมัยประชุมนี้ ใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คงต้องดูว่า ในทางปฏิบัติมีแนวทางใดที่จะทำได้บ้าง

ส่วนที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เสร็จ จะนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาอย่างสมเกียรติ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนยังมองไม่เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีผลทางคดีของพ.ต.ท.ทักษิณ

ส่วนที่เกรงกันว่า รัฐธรรมนูญใหม่ที่ออกมา จะเป็นไปตามพิมพ์เขียวของพรรคเพื่อไทย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่เคยเห็นพิมพ์เขียว และจะกำหนดอะไรในร่างของพรรคเพื่อไทย

นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล กล่าวระหว่างเชิญตัวแทนภาคประชาชน ที่ได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เข้าหารือแนวทางในการพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ร่างของภาคประชาชน จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือน ในการตรวจสอบความเรียบร้อยของรายชื่อของประชาชนที่เสนอมา เมื่อพิจารณาแล้วร่างฯ จะมีความพร้อมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ประมาณเดือนเม.ย.

ขณะที่ร่างของ ส.ส.และรัฐบาล ใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อสั้นกว่า เนื่องจากใช้จำนวน ส.ส.ลงชื่อสนับสนุนไม่มาก จึงน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ในสมัยประชุมนี้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปรัฐบาล แจ้งว่า ในขั้นกรรมาธิการฯ เกรงว่าจะไม่สามารถเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน เข้ามาเป็นกรรมาธิการร่วมเนื่องจากการตั้งกรรมาธิการ ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา มาตรา 137 ที่กำหนดว่า การตั้งกรรมาธิการ จะต้องตั้งกรรมาธิการจากสมาชิกแต่ละสภา โดยคำนวณตามจำนวนของสมาชิกแต่ละสภา ดังนั้นกรรมาธิการที่คาดว่าจะมีจำนวน 45 คน น่าจะมาจากสัดส่วนของสภาผู้แทนราษฎร 35 คน และ วุฒิสภา 10 คน

**"ธิดาแดง"หลีกทางให้ร่างของรัฐบาล

นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานนปช. กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคนเสื้อแดง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อ จึงใช้เวลานาน กว่าจะสามารถบรรจุวาระได้
ดังนั้น เราจึงเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนที่จะให้ร่างของนปช. เข้าสู่การพิจารณา เนื่องจากร่างของนปช. สามารถเก็บไว้เป็นร่างสำรอง กรณีที่เกิดอุบัติเหตุกับร่างของรัฐบาลที่ไม่สามารถพิจารณาได้

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นการแก้เพื่อคน ๆ เดียว ตนจึงสงสัย พรรคประชาธิปัตย์ รู้ได้อย่างไรว่า ส.ส.ร.จะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร ตรงไหน หรือเพื่อใครบ้าง เพราะการจะแก้อย่างไร เป็นเรื่องของประชาชน

พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำงานของกองทัพร่วมกับรัฐบาลว่าสามารถทำงานได้โดยไม่มีปัญหาอะไร เพราะกองทัพต้องทำงานตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว และมั่นใจว่าจะไม่เกิดการรัฐประหาร เพราะสถานการณ์ในขณะนี้ไม่มีเงื่อนไข ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การทุจริตคอร์รัปชัน และความแตกแยกของคนในชาติ ซึ่งเคยเป็นเหตุผลในการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา

ส่วนความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นส่วนตัวไม่เห็นด้วย และเมื่อทุกฝ่ายไม่เห็นด้วย ก็ควรยุติเรื่องนี้

** อย่าละเลยความเห็นของประชาชน

วันเดียวกันนี้ มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย ด้านการกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยมีนายไพโรจน์ พลเพชร เป็นประธาน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยเชิญผู้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาให้ข้อคิดเห็น ส่วนใหญ่ส่งตัวแทนมาร่วม ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา กระทรวงยุติธรรม และภาคประชาชน มีเพียงนางธิดา ถาวรเศรษฐ ผู้เสนอร่างแก้ไขฉบับประชาชน ที่ไม่ได้มาร่วม และไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ จากการรับฟังผู้เสนอร่าง กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. ตรงกัน คือ มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังเห็นว่า ควรมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ในส.ส.ร.ด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นห่วงคือ เกรงว่าร่างที่เสนอโดยภาคประชาชน 3 ร่าง จะไม่ทัน เพราะอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบรายชื่อประชาชน ในขณะที่จะมีการบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในสัปดาห์หน้า

" หากไม่รับทั้ง 3 ร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ก็เท่ากับละเลยความเห็นของภาคประชาชนกว่า 1 แสนคน ถือว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ตรงนี้เป็นจุดอ่อน ดังนั้นขอให้เร่งตรวจสอบรายชื่อ หรือชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มิฉะนั้น จะทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไม่ชอบธรรม คนจะตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมต้องเร่งรัด ซึ่งไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล ดังนั้นในสัปดาห์หน้าก่อนที่สภาฯ จะพิจารณาเรื่องนี้ จะมีการทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อนำเสนอข้อคิดของคณะกรรมการ" นายไพโรจน์ กล่าว

** ปธ.สภาลุกลี้ลุกลนรีบบรรจุ

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เหตุใดประธานสภาฯ ต้องรีบเร่งบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าการกระทำดังกล่าวมีความพยายามที่จะรีบเร่ง รวบรัด ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้สำหรับบุคคลพิเศษ จึงไม่รอ ร่าง แก้ไขของ นปช. และร่างอื่นๆ ที่มีการเสนอเข้ามาแก้ไข คงมีความพยายามเร่งรัดในร่าง ครม. และจะมาร่วมในนาทีสุดท้าย ซึ่งตนคาดว่าจะเป็นอย่างนั้น จึงเห็นชัดเจนว่า รัฐบาลรีบร้อนมากในการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเกรงว่าการเมืองอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้การทำงานให้บรรลุเป้าเพื่อคนพิเศษจะสะดุด ดังนั้นทุกขั้นตอนจึงมีความรีบเร่ง อาทิ ร่างพรรคเพื่อไทย กำหนดให้เลือกส.ส.ร. ภายใน 90 วัน แต่ร่างของรัฐบาลลดลงมาเหลือ 75 วัน เป็นต้น

**ติงส.ส.ร.99 คน น้อยไป

นายโคทม อารียา แห่งสถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเหตุผล หรือเกิดจากความรู้สึก ถ้าบอกว่าไม่ชอบรัฐธรรมนูญปี 50 ควรชี้ว่า รัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องอย่างไร ถ้ามีเหตุผลที่ยอมรับได้ โอกาสสำเร็จก็พอมี แต่อยากเสนอให้พูดคุยกัน เรื่องกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ว่าควรจะใช้ระบบเลือกตั้งอย่างไรดี เพราะโอกาสที่ตัวแทนพรรคการเมือง จะได้รับเลือกตั้งมีสูง ขณะเดียวกันคนที่ได้รับเลือกตั้ง อาจได้คะแนนเพียง 10-20 % ส่วนคะแนนอีก 80 % จะสูญเปล่า อีกทั้งการให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. จังหวัดละ 1 คน แต่ปัญหาคือ แต่ละจังหวัดประชากรไม่เท่ากัน จึงเสนอว่า อาจใช้เขตเลือกตั้งขนาดใหญ่ เหมือนการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วน เป็น 8 เขต หรือให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1 คน เลือก ส.ส.ร.ได้เพียงคนเดียว ดังนั้นคนที่มีคะแนนไล่เรียงกันไป ก็มีสิทธิได้รับการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ตนเห็นว่า จำนวน ส.ส.ร. เลือกตั้ง 77 คนน้อยไป ที่เหมาะสมน่าจะประมาณ 100 กว่าคน โดยจังหวัดที่มีประชากรมาก ก็มีตัวแทนมาก ไม่ควรยึดติดกับตัวเลข 99 คน

" การที่ฝ่ายการเมืองเร่งให้เสร็จเร็ว ผมยังไม่เห็นเหตุผลว่า ทำไมต้องให้เสร็จเร็ว มีการอ้างว่า เพราะเรามีความชำนาญเรื่องนี้มาแล้ว แต่อย่าลืมว่าความชำนาญที่ผ่านมา เต็มไปด้วยความล้มเหลว ผมเกรงว่าท้ายที่สุดจะกลับไปสู่อีหรอบเดิม ดังนั้นอย่ามาอ้างความจำเป็นทางการเมืองเลย" นายโคทม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น