xs
xsm
sm
md
lg

วิปรัฐกล่อม “ธิดา” หนุนร่างแก้ รธน.ฉบับ ส.ส.-เบรกแดงนั่ง กมธ.“บิ๊กบัง” โผล่หนุนร่าง ชทพ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) (ภาพจากแฟ้ม)
พรรคชาติไทยพัฒนา ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว มี ส.ส.ลงชื่อ 128 คน รวม “บิ๊กบัง” ด้านวิปรัฐบาลเชิญตัวแทนเสื้อแดงมากล่อม ให้ยอมรับการร่างของ ส.ส.พิจารณาไปก่อน อ้างไม่เสนอร่าง นปช.เพราะต้องตรวจสอบรายชื่อกว่า 2 เดือน ปิดทางเข้าร่วมกรรมาธิการ หวั่นถูกยื่นให้ศาล รธน.ตีความ

วันนี้ (17 ก.พ.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 14.00 น.นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้เชิญตัวแทนภาคประชาชนที่ได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เข้าหารือแนวทางในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ ประธานสมาพันธ์ประชาชนรักประชาธิปไตย 20 จังหวัดภาคอีสาน, นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มสภาประชาชน และ นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ เข้าร่วมหารือกับตัวแทนของพรรคร่วมรัฐบาล

โดย นายอุดมเดช ได้แจ้งให้ที่ประชุมให้ทราบว่า วิปรัฐบาลได้พิจารณา เห็นว่า ขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อประชาชนที่เข้าชื่อสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือน เมื่อพิจารณาแล้วร่างฯ จะมีความพร้อมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาประมาณเดือนเมษายน ขณะที่ร่างของ ส.ส.และรัฐบาลใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อสั้นกว่า เนื่องจากใช้จำนวน ส.ส.ลงชื่อสนับสนุนไม่มาก น่าจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ในสมัยประชุมนี้ จึงเสนอว่าหากภาคประชาชนซึ่งมีแนวทางเดียวกันในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาทำหน้าที่ยกร่าง จึงน่าจะกำหนดแนวทางที่จะมีส่วนร่วมด้วยการให้ภาคประชาชนส่งตัวแทนเข้ามาเป็นคณะทำงานร่วม หรือเป็นกรรมาธิการในขั้นตอนการพิจารณาในวาระที่ 2

อย่างไรก็ตาม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปรัฐบาล แจ้งว่า ในขั้นกรรมาธิการฯ เกรงว่าจะไม่สามารถเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นกรรมาธิการร่วม เนื่องจากการตั้งกรรมาธิการต้องยึดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 89 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภามาตรา 137 ที่กำหนดว่า การตั้งกรรมาธิการจะต้องตั้งกรรมาธิการจากสมาชิกแต่ละสภา โดยคำนวณตามจำนวนของสมาชิกแต่ละสภา ดังนั้นกรรมาธิการที่คาดว่าจะมีจำนวน 45 คนจะมาจากสัดส่วนของสภาผู้แทนราษฎร 35 คน และวุฒิสภา 10 คน

ด้าน นางธิดา กล่าวว่า ตนปรึกษาผู้รู้แล้วเสนอความเห็นว่าอาจสามารถเสนอยกเว้นข้อบังคับการประชุม เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม อย่างไรก็ดี ตนไม่ได้ติดใจอะไร เพราะได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว นปช.ไม่ได้สนใจว่าจะได้รับเป็นกรรมาธิการหรือไม่ เพราะเราได้ทำหน้าที่ของเรา โดยเราได้พิจารณาไตร่ตรองแล้ว สภามีสิทธิที่จะฟังหรือไม่ฟังความเห็นของ นปช. เมื่อเราทำหน้าที่แล้ว การตัดสินใจเป็นหน้าที่ของสภาจะพิจารณาว่าควรทำหน้าที่อย่างไรให้ดีที่สุด

ด้าน นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุมอาจจะยกเว้นได้ แต่ยกเว้นรัฐธรรมนูญไม่ได้ ตนเห็นว่าหากยกเว้นข้อบังคับไปอาจเกิดปัญหาทำให้ฝ่ายตรงข้ามที่จะโจมตี หรือนำเอาประเด็นดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหา ตนเห็นว่าคงไม่สามารถให้ภาคประชาชนเป็นกรรมาธิการได้ แต่กรรมาธิการสามารถเชิญให้ตัวแทนภาคประชาชน ที่เสนอร่างแก้ไขทั้ง 3 ร่างเข้ามาแสดงความเห็น

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตนคิดว่า ที่ประชุมควรพิจารณาว่าการที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ดำริจะเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่คาดว่าน่าจะพร้อมเข้าสู่การพิจารณาได้ 3 ร่าง คือ ร่างของรัฐบาล, ร่างของ ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล และร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ประชุมจะให้พิจารณาทั้ง 3 ร่างพร้อมกันไปก่อนหรือไม่ หรือจะรอให้ร่างของภาคประชาชนผ่านการตรวจสอบและพร้อมที่จะเข้าสู่การพิจารณา

“เป็นที่แน่ชัดว่า ประธานรัฐสภาได้เตรียมบรรจุร่างที่พร้อมแล้ว 3 ร่าง เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา เพียงแต่ยังไม่ลงนามเรียกประชุม ขณะนี้ร่างของภาคประชาชนไม่สามารถเข้ามาพิจารณาได้ทันพร้อมกันแน่ ทางเดียวคือ ต้องเลื่อนการพิจารณาร่างที่พร้อมแล้ว 3 ร่างออกไปจนกว่าร่างของภาคประชาชนจะพร้อม” นพ.ชลน่าน กล่าว

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้เสนอความเห็น โดยส่วนใหญ่เห็นว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเร่งดำเนินการ ด้านนายสงวนเสนอว่า ข้อยุติเรื่องกรรมาธิการน่าจะให้วิป 3 ฝ่ายได้คุยกันก่อน สำหรับภาคประชาชนคงเป็นเรื่องยากที่จะเข้ามาเป็นกรรมาธิการ การดำเนินการไม่ควรช้าไปกว่านี้ ส่วนการมีส่วนร่วมอาจหาวิธีการมีส่วนร่วมในทางใดทางหนึ่งต่อไป อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของภาคประชาชนเห็นว่า จะทิ้งไม่ให้ภาคประชาชนที่มีส่วนเสนอร่างแก้ไขไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมไม่ได้ เมื่อภาคประชาชนใช้ความพยายามรวบรวมรายชื่อจนสามารถเสนอร่างฯได้ จะต้องหาทางใดทางหนึ่งให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

หลังจากที่ประชุมได้แสดงความเห็นแล้วได้ข้อสรุปตรงกันว่าภาคประชาชนพร้อมให้รัฐสภาพิจารณาร่างของ ส.ส.และรัฐบาลไปก่อน โดยหลังจากร่างของภาคประชาชนมีความพร้อม จึงหาแนวทางที่จะให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในการประชุม นายอุดมเดชได้แสดงความเป็นห่วงกลุ่มที่ออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยย้ำกับที่ประชุมว่า สำหรับผู้มีความเห็นตรงกันขอให้เห็นตรงกันในการรีบดำเนินการ โดยหากมีช่องทางจะให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือให้ข้อมูลจะเปิดโอกาสให้ทำทันที

มีรายงานว่า พรรคชาติไทยพัฒนาได้ยื่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยร่างดังกล่าวมี ส.ส.ลงลายมือชื่อสนับสนุนจำนวน 128 รายชื่อ แบ่งเป็น ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา 17 คน (ไม่รวมรัฐมนตรี 2 คน) ส.ส.พรรคเพื่อไทย 110 คน และมีรายมือชื่อของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ

โดย นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า กรณีลงรายมือชื่อสนับสนุนของพลเอกสนธิ ไม่ได้ให้เหตุผลถึงการสนับสนุนร่างของพรรค ส่วนการยื่นญัตติทำตามขั้นตอนของการเสนอร่าง เพื่อบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในส่วนของการลงมติสนับสนุนพรรคได้มีมติแล้ว ให้ยึดเอาร่างของรัฐบาลเป็นหลัก สำหรับกรณีความเห็นที่แตกต่างกันในกระบวนการทำประชามติ เมื่อที่ประชุมร่วมรัฐสภารับหลักการของร่างแก้ไขฯ แล้วคงเป็นประเด็นที่จะไปหารือกันต่อในขั้นกรรมาธิการ
พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคมาตุภ฿มิ (ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น