xs
xsm
sm
md
lg

การจัดการหนี้กองทุนฯ ที่ผิดทิศทางแบบลิงแก้แห จุดเริ่มต้นความเชื่อมั่นเปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์

สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์
http://twitter.com/indexthai2

หากไม่รวมคอร์รัปชันท่วมประเทศ ประเทศไทยมีเรื่องที่ท่วมประเทศถึง 4 เรื่อง

1) น้ำท่วมประเทศไทย น้ำท่วมประเทศไทยทุกปี รัฐบาลไหนมา น้ำก็ท่วม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยิ่งน้ำท่วมหนัก และกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง และเสียหายถึงนิคมอุตสาหกรรม แต่น้ำไม่เคยท่วมทีเดียว 77 จังหวัด ท่วมอย่างมากประมาณ 30-40 จังหวัด ระยะเวลาในการท่วม 2-3 เดือน

2) เงินท่วมประเทศไทย คงจำกันได้ วันที่ 19 ธันวาคม 2549 หลังรัฐประหาร 3 เดือนพอดี ทางการได้ออกมาตรการกันสำรอง 30% เงินทุนไหลเข้า ส่งผลให้ SET ตกทันที ในวันเดียวกว่า 100 จุด มูลค่าตลาดหุ้นเสียหายกว่า 8 แสนล้านบาท ต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าวในวันรุ่งขึ้น วันที่ 19 ธันวาคม 2549 ทุนสำรองสุทธิของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าช่วงก่อนเข้า IMF เมื่อกลางปี 2540 เสียอีก (40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) แสดงว่าเงินท่วมประเทศไทย (สภาพคล่องท่วมประเทศ) แล้วเราก็ยังจัดการอะไรเรื่องเงินท่วมประเทศไม่ได้มาจนถึงทุกวันนี้

ข้อมูลวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 ทุนสำรองสุทธิของประเทศ อยู่ที่ระดับ 209,740 ล้านเหรียญสหรัฐ แสดงว่า ตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2549 ถึงทุกวันนี้ เงินได้ท่วมประเทศอย่างต่อเนื่องย่างเข้าเป็นปีที่ 6 แล้ว ท่วมแบบมิดศีรษะ http://yfrog.com/z/mmvtvp

3) เงินเฟ้อท่วมประเทศ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ค่ารถเมล์ 2-3 บาท ตอนนี้ 7-8 บาท ข้าวราดแกงจานละ 15-20 บาท ตอนนี้ 45-50 บาท

4) หนี้ท่วมประเทศไทย

3.1 โครงการ 4 เมษายน 2527 ช่วงเข้าไอเอ็มเอฟครั้งแรก คือโครงการที่ทางการเข้าไปควบกิจการไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์ 25 แห่งทำให้ “เกิดหนี้” จากการเข้าไปรับผิดชอบเงินฝากประชาชน (ผู้เขียนไม่มีข้อมูลว่าเกิดหนี้เท่าใด) ทางการต้องใช้เวลาประมาณกว่า 10 ปี จึงชดใช้หนี้ดังกล่าวได้หมด โครงการ 4 เมษายน 2527 “เป็นที่มาของการตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 2528”

3.2 โครงการ 14 สิงหาคม 2541 ช่วงเข้าไอเอ็มเอฟครั้งที่ 2 คือการปิดถาวรไฟแนนซ์และสถาบันการเงิน 56 แห่ง ทำให้ “เกิดหนี้” ท่วมกองทุนเพื่อการฟื้นฟู (ท่วมประเทศ) 1.392 ลลบ. ระยะเวลา 12 ปี จากปี 2541-2553 ธปท.ชำระหนี้ได้ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ทำให้มีหนี้คงค้าง 1.14 ล้านล้านบาท กระทรวงการคลังชำระดอกเบี้ยไปเป็นเงินประมาณ 6.04 แสนล้านบาท กองทุนเพื่อการฟื้นฟูมีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 2 แสนล้านบาท ไม่มีรายงานว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูได้รับประโยชน์ จากสินทรัพย์ที่ตนมีอยู่นี้มาช่วยในการชำระหนี้

ช่วงที่ผ่านมา ธปท.เป็นผู้ชำระเงินต้นปีละประมาณ 20,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังเป็นผู้ชำระดอกเบี้ยปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท หากโอนหนี้มาให้ธปท.จัดการทั้งหมด ธปท.ก็จะต้องรับภาระชำระเงินต้นและดอกเบี้ยรวมปีละประมาณ 70,000 ล้านบาท

ข่าวล่าสุด จะให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากจากธนาคารเอกชน ธนาคารรัฐ รวมทั้งหุ้นกู้ และตั๋วบีอี ในอัตรา 0.47 เปอร์เซ็นต์ โดย 0.01 เปอร์เซ็นต์จะให้เป็นของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยคาดว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูจะมีรายได้ประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี ดูแล้วก็ไม่น่าจะพอใช้หนี้อยู่ดี

และก็แสดงว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่เคยเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝาก 0.4 เปอร์เซ็นต์จากธนาคารเอกชนต่อเนื่องมา 4 ปีติดต่อกัน ก็จะยุติลง สงสัยว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะมีทุนที่ไหนไปคุ้มครองเงินฝากของประชาชน

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูที่ตั้งขึ้นมา เพื่อช่วยแก้ปัญหาตลาดเงิน นอกจากจะแก้ปัญหาตลาดเงินไม่ได้แล้ว ยังก่อปัญหาให้ตัวเองและช่วยตัวเองไม่ได้ กลับเป็นว่าตลาดเงินต้องมาช่วยแก้ปัญหาให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูอีก ที่น่าแปลกใจกองทุนเพื่อการฟื้นฟูล้มเหลวทางวิสัยทัศน์-ปรัชญาแล้ว ยังตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่มีวิสัยทัศน์-ปรัชญาคล้ายกันขึ้นมาอีก แล้วประเทศจะเจริญได้อย่างไร ค่าธรรมเนียมเงินฝาก 0.01 เปอร์เซ็นต์ที่จะให้เป็นของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ให้เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อเลี้ยงดูกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากเช่นนั้นหรือ ให้ไปทำไม สั่งปิดกิจการไปเลยไม่ดีกว่าหรือ

ดูเหมือนทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ได้มีความตั้งใจจะชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และหนี้สาธารณะอื่นๆ หากมีความตั้งใจชำระหนี้ หนี้เงินกู้ก็จะต้องลดน้อยลงกว่านี้มาก ซึ่งจะทำให้ประหยัดเงินที่ต้องชำระค่าดอกเบี้ยด้วย มีแต่รัฐบาลที่คิดจะกู้มากกว่าจะใช้หนี้เงินกู้ รัฐบาลไหนมาก็กระตุ้นความเจริญ กระตุ้นจีดีพี ทำให้เกิดปัญหาทางการเงินที่ยุ่งยากมากขึ้นกว่าเดิม ไม่เพียงแต่หนี้จะท่วมประเทศอย่างเดียว เงินก็ท่วมประเทศด้วย ทำให้ประเทศตั้งอยู่บนความประมาท เงินที่ท่วมประเทศอย่างผิดปกติ ก็อาจจะเหือดแห้งอย่างผิดปกติได้

แท้จริงแล้วหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการ 4 เมษายน 2527(?) และจากโครงการ 14 สิงหาคม 2541 (1.392 ลลบ.) ไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำไป ทางการไม่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่รู้ถึงต้นเหตุที่ทำให้สถาบันการเงินล้มลง แล้วก็คิดแก้แต่ปลายเหตุของปัญหาอย่างเดียว แสดงถึงความล้มเหลวของวิสัยทัศน์-ปรัชญาของการตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟู จะเห็นว่าสถาบันการเงินล้ม “ซ้ำรอย” หลังการตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟู

กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรับผิดชอบร่วมกัน กระทรวงการคลังมักอ้างตัวเลขตามกฎหมายที่ตนเองกำหนดไว้ เช่น สามารถสร้างหนี้ได้ไม่เกิด 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แล้วมีอะไรที่เป็นไปตามตัวเลขที่กำหนดไว้บ้าง อย่างเช่นกำหนดว่าสถาบันการเงินของไทย จะต้องมีคนไทยถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้ ธนาคารกรุงเทพมีคนไทยถือหุ้น 10.39 เปอร์เซ็นต์ ธนาคารกสิกรไทยมีคนไทยถือหุ้นเพียง 1.37เปอร์เซ็นต์ http://yfrog.com/z/jyxtop ก็ไม่เห็นว่าตัวเลขจะเป็นไปตามกฎหมายได้

ดูแล้วน่าเป็นห่วงประเทศไทย เพราะไม่ได้มีการแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ค่าเงินอาจจะเสียหายอีก จะทำสภาพคล่องของระบบเสียหายอีก ก็จะทำให้สถาบันการเงินล้มลงอีก ทุกวันนี้ปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ก็จะทำให้เกิดหนี้กองใหม่ที่กองโตกว่าเดิม (โตกว่า 1.392 ลลบ.) “ธนาคารของรัฐ” แม้จะไม่กำหนดหน่วยงานใดเข้าไปให้ความคุ้มครองเงินฝาก ก็จะต้องมีการรับผิดชอบต่อเงินฝากของประชาชนเช่นเดียวกัน อย่าคิดว่าธนาคารของรัฐล้มไม่ได้ ธนาคารสยาม (เอเซียทรัสต์) ไอเอฟซีที ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย ที่ทั้งล้มและเสมือนล้มมาแล้ว

ทางการโฆษณาให้ชาวบ้านทำมาหากินแบบพอเพียง หวังการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นเรื่องที่เกินความพอเพียง เราจะหาตำแหน่งงานโดยไม่พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศไม่ได้หรืออย่างไร

อะไรอันตรายรุนแรงกว่ากัน ระหว่างน้ำท่วมบางพื้นที่กับหนี้ท่วมทั้งประเทศ น้ำท่วมบางพื้นที่ของประเทศไม่เคยทำให้ประเทศไทยเข้าไอเอ็มเอฟ แต่หนี้ท่วมประเทศได้ทำให้ประเทศไทยเข้าไอเอ็มเอฟมาแล้วถึง 2 ครั้ง หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูเป็นหนี้กองโตที่ท่วมต่อเนื่องมาเป็นเวลา 14 ปีแล้ว ยังถูกผลักออกจากการรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ตามที่เป็นข่าว ผู้เขียนไม่เชื่อว่าจะใช้หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูหมดภายใน 24 ปี ผู้เขียนคำนวณไว้ว่าอาจจะใช้เวลา 40-45 ปี แต่ก็เป็นเพียงการคำนวณเท่านั้น

สิ่งที่น่าห่วงเพิ่มคือ อาจจะเกิดหนี้กองใหม่ในรูปแบบเดียวกัน ที่กองใหญ่กว่าเดิม หนี้กองเก่ายังใช้หนี้ไม่หมด ก็จะเกิดหนี้กองใหม่ขึ้นมาอีก การจัดการหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูแบบผิดทิศทาง และแบบลิงแก้แห จะเป็นจุดเริ่มต้นความเชื่อมั่นเปลี่ยนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น