xs
xsm
sm
md
lg

เผยมติ"คกก.เยียวยาฯ" จ่ายเหยื่อไฟใต้7.5ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมติจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบแบ่งเป็น 4 กลุ่ม รายละไม่เกิน 7.5 ล้านบาท ด้านสมาคมยุวมุสลิมชี้การจ่ายเงินเยียวยา กรือเซะ-ตากใบ 7.5 ล้าน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ชี้ชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่มั่นใจกระบวนการยุติธรรม

เมื่อเวลา 11.30 น.วานนี้ (12 ก.พ.) ที่โรงแรมลีการ์เด้น พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย พร้อมด้วย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกันแถลงผลการประชุมปฏิบัติการของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพิจารณาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ

พล.ต.อ.ประชา เปิดเผยว่า สำหรับกรอบการเยียวยาที่ประชุมมีมติให้จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายละไม่เกิน 7.5 ล้านบาท เท่ากับกรณีทางการเมือง โดยแยกเป็นสี่กลุ่มประกอบด้วยกลุ่มแรกคือ จากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะและสะบ้าย้อย เมื่อวันที่ 28 เมษายน2547 กลุ่มที่สองเหตุการณ์ตากใบและไอร์ปาแย กลุ่มที่สามกลุ่มผู้ที่ถูกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐกรณีการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือการทรมาน หรือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและ กลุ่มที่สี่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั่วไป

ขณะที่นายยงยุทธ ระบุว่า จะเร่งนำเรื่องเสนอต่อ ครม.ให้ความเห็นชอบภายใน 1 สัปดาห์และคาดว่าจะสามารถดำเนินการเยียวยาได้ภายใน 1 - 2 เดือน ใกล้เคียงกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ละเลยหรือทอดทิ้งแต่จะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์อย่างละเอียดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) กล่าวว่า สำหรับจำนวนผู้ที่จะได้รับการเยียวยานั้นได้มีการรวบรวมข้อมูลไว้บางส่วนแล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยจำนวนที่แน่นอนได้ ส่วนกรณีชาวบ้าน 4 รายล่าสุดในพื้นที่ จังหวัดปัตตานีที่ถูกยิงเสียชีวิต หากตรวจสอบแล้วว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐก็เข้าข่ายที่จะได้รับการเยียวยาตามหลักเกณฑ์นี้เช่นเดียวกัน

แต่ในเบื้องต้นได้เยียวยาให้รายละ 5 แสนบาท ด้านวิธีการปฏิบัติได้มีโครงสร้างการให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน กำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเยียวยาให้มีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมและสภาพที่เป็นจริง โดยประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการดำเนินงานอย่างชัดเจนรวมทั้งจะดูแลเยียวยาเป็นรายกรณี

ทั้งนี้ เพื่อความยั่งยืนที่ประชุมยังได้เสนอให้สร้างความเข้าใจในกระบวนการเยียวยาให้แก่ทุกภาคส่วน โดยจัดให้มีกองทุนเป็นกลไกในการให้ความช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการใช้หลักศาสนาในการเยียวยาทางด้านจิตใจโดยส่งเสริมการไปประกอบพิธีฮัจย์ หรือการไปปฏิบัติธรรม ณ ดินแดนพุทธภูมิ เพื่อการเยียวยาด้านจิตใจ ทั้งนี้การประเมินผลในเบื้องต้นพบว่าผู้ที่ได้รับการเยียวยาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 มีความพึงพอใจ ความหวาดระแวงของประชาชนลดลง

ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ พ.ต.อ.เอกทวี ระบุว่าจะมีการตั้งคณะกรรมมาขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งภายในกรอบการช่วยเหลือเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับกรอบการเยียวยาและแนวทางการช่วยเหลือที่ทางคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุดได้เสนอในเบื้องต้น เช่น กลุ่มที่ 1 เหตุการณ์กรือเซะและสะบ้าย้อย ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 106 คน บาดเจ็บ 6 คน และถูกจับกุม 6 คน ได้รับการเยียวยารายละ 4.5 ล้านบาท กรณีพิการใช้เกณฑ์ 1 ล้านบาทและสนับสนุนการไปฮัจย์

กลุ่มที่ 2 เหตุการณ์ตากใบและไอร์ปาแย มีผู้เสียชีวิต 85 คน บาดเจ็บ 51 ราย ผู้ต้องคดี 58 ราย ผู้ที่ถูกควบคุมตัว 1,300 ราย เยียวยารายละไม่เกิน 7.5 ล้านบาท ทุพพลภาพ 350,000 บาท บาดเจ็บสาหัส 313,000 บาท บาดเจ็บ 65,000 บาท กลุ่มผู้ต้องคดีได้รับค่าชดเชยเบื้องต้น 30,000 บาท ค่าชดเชยที่ถูกคุมขับตามจำนวนวันวันละ 400 บาท ค่าชดเชยในการไปดำเนินคดีต่อศาล10,000 บาท ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมได้รับค่าเยียวยาทางจิตใจรายละ 10,000 บาท

กลุ่มที่ 3 กรณีการสูญหายซึ่งมีจำนวน 37 ราย ค่าชดเชยรายละ 7.15 ล้านบาท ซึ่งจะมีคณะกรรมกรรมการตรวจทั้ง 37 อำเภอ ส่วนกลุ่มที่ 4 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทั่วไปจะพิจารณาช่วยเหลือภายใต้วงเงินไม่เกินรายละ 7.5 ล้านบาทเช่นกัน ทั้งนี้นอกเหนือจากตัวเงินที่ทั้ง 4 กลุ่มจะได้รับแล้วยังมีการช่วยเหลือในด้านอื่นเช่นที่อยู่อาศัย อาชีพ การศึกษา และการประกอบพิธีฮัจย์ เป็นต้น

**ชี้จ่าย 7.5 ล้าน แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

นายอับดุลอซิซิ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้มีมติจ่ายเงินเยียวยาเหตตุการณ์ตากใบ กรือเซะ และไอร์ปาแยจำนวน 7.5 ล้านบาทว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุคือเรื่องการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ หรือกระบวนการยุติธรรมยังไมเกิดขึ้น

หากแก้ปัญหาด้วยการเยียวยาเพียงอย่างเดียวต่อไปบรรทัดฐานจะเป็นว่าสามารถกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ได้ เพราะท้ายสุดก็แค่เอาเงินรัฐมาจ่ายเยียวยา ซึ่งจะทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินมหาศาล ขณะที่กระบวนการยุติธรรม หรือนิติรัฐไม่เกิดขึ้น คือไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษทั้งๆ ที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนแล้วหลายกรณี และได้ข้อสรุปว่า เป็นการกระทำผิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นจึงควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่า วันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไม่เชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะส่งผลให้ความสันติสุขไม่สามารถเกิดขึ้นได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น