xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ณัฐวุฒิ” สวาปามความรวย รับจ้าง “เคลียร์ม็อบ” ดูดทรัพย์ ปตท. รับจ้าง “จัดม็อบ” หากินกับ “ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในที่สุดคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับความร่ำรวยของ “นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” สุภาพบุรุษไพร่ของคนเสื้อแดงที่เวลานี้นั่งเก้าอี้อำมาตย์เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็จบสิ้นลงอย่างไร้ข้อกังขา เพราะเป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้วว่า เขารวยจริง

ดังนั้น จงอย่าแปลกใจที่ก่อนหน้านี้อำมาตย์เต้นไปนั่งจิบไวน์พร้อมภรรยาและลูกที่ร้านอาหารย่านทองหล่อจนกลายเป็นประเด็นวิวาทะกับนายกรณ์ จาติกวณิช แห่งพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว

ด้วยเหตุดังกล่าว จงโปรดลบภาพความเป็น “ตัวตลกแห่งสภาโจ๊ก” ที่ติดอยู่ในความทรงจำไปให้หมดสิ้น เพราะความจริงก็คือ นายณัฐวุฒิมิใช่ไพร่ธรรมดาๆ หากแต่เป็นไพร่ที่มีเงินทองและทรัพย์สมบัติอู้ฟู่ พร้อมทั้งมีธุรกิจซึ่งอาศัยความสามารถเฉพาะตัวในการสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเองอย่างฉกาจฉกรรจ์ทีเดียว

ทั้งนี้ หลักฐานที่สำแดงให้เห็นถึงความไม่ธรรมดาของนายณัฐวุฒิก็คือ ข้อมูลที่
สำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) เปิดเผยให้เห็นถึงเส้นทางการทำธุรกิจระหว่าง บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ของนายณัฐวุฒิ กับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

ข้อมูลดังกล่าวคือใบเสร็จชี้ชัดถึงตัวตนของนายณัฐวุฒิว่า นอกจากความเป็นตัวตลกแห่งสภาโจ๊กแล้ว นายณัฐวุฒิยังทำธุรกิจประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่ปี 2544 โดยรับหน้าที่ “เคลียร์ม็อบ” ให้กับ ปตท. ก่อนที่จะหันไปสวมบทบาทรับหน้าที่ “จัดม็อบ” ให้กับนายใหญ่โดยเป็นแกนนำคนเสื้อแดง

กล่าวสำหรับธุรกิจรับจ้างเคลียร์ม็อบของอำมาตย์เต้นนั้น สำนักข่าวอิศรารายงานข้อมูลว่า นายณัฐวุฒิทำธุรกิจประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่ปี 2544 ก่อนที่จะตัดสินใจโอนหุ้นบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด จำนวน 20,000 หุ้นมูลค่า 2 ล้านบาท (ซึ่งถืออยู่ตั้งแต่ก่อตั้งปี 2544) ไปให้นายเจตนันท์ ใสยเกื้อ ผู้เป็นพี่ชาย เพื่อไปรับตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช
         
          ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี 2545-2553 บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ได้รับว่าจ้างจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์โครงการอย่างน้อย 4 ครั้งด้วยเม็ดเงินที่สูงถึง 30,931,800 บาท ได้แก่

1.เป็นที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ไทรน้อย-โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ-ใต้ วงเงิน 3,468,000 บาท
2. จ้างที่ปรึกษาเพื่อประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของชุมชน วงเงิน 10,663,500 บาท
3. จ้างมวลชนสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วงเงิน 9,000,200 บาท
4. จ้างมวลชนสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์โครงการกลุ่มลูกค้าท่อย่อย ปทุมธานี-พญาไท วงเงิน 7,800,100 (ดูตาราง)
        
ขณะที่ เว็บไซต์ บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ระบุ ผลงานงานด้านวางแผนประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ และกระบวนการมีส่วนร่วมโครงการ จำนวน 14 ผลงาน พร้อมระบุความคืบหน้าไว้ด้วย ได้แก่

1.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และศูนย์พลังงานแห่งชาติ (ปทุมธานี-พญาไท)
          2.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ NGV สุวรรณภูมิ-พญาไท
          3.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มลูกค้าท่อย่อยปทุมธานี-พญาไท จำนวน 7 โครงการ
          4.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติในเขตกรุงเทพมหานคร (Bangkok City Gas)
          5.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังบริษัท ไออาร์พีซี และบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
          6.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด (DOW)
          7.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าและไอน้ำของบริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (EPS)
          8.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด (PTTAC)
          9.โครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (จังหวัดชลบุรี)
          10.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อสถานีบริการ NGV ทัศนา (ชลบุรี)
          11.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจังหวัดนครราชสีมา
          12.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงงานนิคมอุตสาหกรรมในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ระยะที่ 7 และ 8 จังหวัดอยุธยา (PTT NGD)
          13.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบริษัท สหวิริยาเพลทมิล จำกัด (มหาชน) จังหวัดฉะเชิงเทรา
          14.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (NGV) สแปนดิค บางพระ

ทั้งนี้ การถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวสร้างรายได้ให้กับนายณัฐวุฒิเป็นจำนวนเงินไม่น้อย โดยจากการรวบรวมข้อมูลของสำนักข่าวอิศราพบว่า ก่อนที่นายณัฐวุฒิจะโอนหุ้นให้กับพี่ชาย เขามีรายได้จากกำไรของบริษัทในช่วงปี  2545-2550 รวม 2,874,200 บาท 
       

   อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญมิได้อยู่ที่ว่านายณัฐวุฒิรวยหรือไม่รวย หากแต่คำถามสำคัญอยู่ตรงที่นายณัฐวุฒิทำธุรกิจอันน่าเคลือบแคลงต่อจริยธรรม ขณะเดียวกันก็ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตถึงตัวของนายณัฐวุฒิที่ประกาศตัวเองว่าเป็นไพร่และต่อสู้เรื่อง 2 มาตรฐานว่า จริงๆ แล้วนายณัฐวุฒิก็มิได้แตกต่างอะไรจากนายทุนแห่งลัทธิทุนนิยมที่แสวงหากำไรสูงสุดจากการทำการค้าโดยมิได้คำนึงถึงรูปแบบและวิธีการ เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า บริษัทที่นายณัฐวุฒิเป็นผู้ก่อตั้งและเคยเป็นผู้ถือหุ้นยืนอยู่ข้างนายทุนอย่าง ปตท. โดยมีอาชีพรับจ้างเคลียร์ม็อบ

แน่นอนหลายคนยังคงจำภาพการปะทะและการสลายมวลชนในโครงการท่อส่งก๊าซในหลายพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555 ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต นายจิร จบหิมเวศน์ ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนโครงการหน่วยธุรกิจ ก๊าซธรรมชาติ ของ ปตท. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ได้เปิดห้องทำงานชั้น 6 อาคาร 2  ให้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์พิเศษ แบบเจาะลึก ถึงการเข้ามารับงานเคลียร์มวลชนในโครงการวางท่อก๊าซ ปตท. ของ บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ทั้งในช่วงที่นายณัฐวุฒิ ยังบริหารงานเอง และหลังโอนหุ้นบริษัท ให้กับ นายเจตนันท์  ใสยเกื้อ พี่ชาย  ในช่วงต้นปี 2551 ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง

คำตอบของนายจิรทำให้สังคมทราบว่า ในช่วงปี 2544-2555 นายณัฐวุฒิเข้ามาเสนองานกับ ปตท.ด้วยตัวเอง ซึ่งตอนนั้น ปตท. มีความขัดแย้งในเรื่องท่อพม่า กับ ท่อทีทีเอ็ม ทางใต้ มีความขัดแย้งว่าด้วยเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องให้ความรู้ความเข้าใจ ต้องเผยแพร่ข้อมูลต้องรับฟังความคิดเห็น

ทั้งนี้ นายจิรได้ตอบคำถามในประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของนายณัฐวุฒิ ในช่วงที่ดูแลบริษัทและรับงาน ปตท.ว่า

“เขาลงไปเปิดเวทีเอง เขามาในรูปเหมือนกับ รู้ว่ามีกลุ่มเป้าหมายอะไรบ้าง เช่น โรงเรียน อยากจะไปทำกิจกรรมโรงเรียน ประชุมผู้ปกครอง เอาความรู้เกี่ยวกับก๊าซ ไปสอดแทรก เพื่อให้ได้ทั้งครูบาอาจารย์ ได้ทั้งผู้ปกครองได้ทั้งเด็ก เหมือนเด็กต้องเข้าใจก๊าซ เพราะแต่เดิม ในช่วง ปี 2545 คนยังไม่รู้ว่าก๊าซหุงต้ม กับก๊าซธรรมชาติเหมือนกันไหม ต่างกันไหม อันตรายเหมือนกันไหม  และก็เริ่มไปว่าก๊าซมันจำเป็นสำหรับประเทศไทยอย่างไร และมันมีกี่ชนิด มันต่างอย่างไร วิธีการก่อสร้างปลอดภัยอย่างไร ก็เอาอันนี้ไปสื่อ และ ปตท. ควบคุมดูแลมากี่ปีแล้ว และมันเคยเกิดเหตุไหม วิธีการสื่อข้อมูลแบบนี้ มันต้องหาจังหวัด หาโอกาส และกลุ่มเป้าหมาย อย่างพวก ชาวนาชาวสวน เราก็ต้องพูดกับเขาอีกแบบหนึ่ง โรงเรียนก็พูดแบบหนึ่ง กลุ่มข้าราชการ นักวิชาการ กลุ่มเอ็นจีโอ มันต้องมีเทคนิคการพูดคุย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด เริ่มเข้ามาช่วย”
 

“เวลาเราจ้างกัน เราก็จะบอกว่า คุณจะเปิดกี่เวที เวทีเท่าไร คิดเป็นเงินออกมา อาจจะพาคนไปดูงาน ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้เห็นของจริง ว่าเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ตรงนี้เราจะกำหนดว่า ถ้าคุณพาไป กลุ่มหนึ่ง 40 คน เป็นค่ารถเท่าไร ค่าอาหารเท่าไร เปิดเวทีเท่าไร ราคามันจะออกมาแบบนี้ สมมติว่าไปเปิดเวทีชุมชน 3 เดือน เปิดเดือนละ 3 เวที 3 เดือน 9 เวที เวทีละเท่าไร อะไรแบบนี้ คนกี่คน มีอาหาร มีข้อมูลเอกสารอะไรเท่าไร จากนั้น จะดีดตัวเลขมา ซึ่งปตท.ก็จะจ่ายเป็นงวดๆให้ บริษัทที่ทำธุรกิจนี้ ในวงการไม่ค่อยเยอะ เป็นงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ เมื่อไรจะให้ข้อมูลชุมชน ต้องเข้าไปฝั่งตัวในชุมชนก่อน ไปทำความคุ้นเคยกันก่อน ไม่ใช่อยู่ๆ จะบอกให้ชาวบ้านเชื่อเลยไม่ได้ อันนี้มันเป็นศาสตร์ ต้องอาศัย ความจัดเจน  รู้ลึกในเรื่องมวลชน ต้องไปเรียนรู้เขาก่อนว่า เขาอยู่กันอย่างไร ทัศนคติวันนี้ประมาณไหน มีใครเข้าไปให้ข้อมูลในทางลบบ้างไหม เราบริหารประเด็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เพราะคนเราถ้าเชื่อเข้าแล้ว พูดกันง่าย และศาสตร์พวกนี้ บางที่ตัวเลือกก็มีไม่มาก”นายจิรตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา

นอกจากนั้น สำนักข่าวอิศราระบุด้วยว่า การที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่าจ้างบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ที่เวลานั้นปรากฏชื่อนายณัฐวุฒิถือหุ้นอยู่ด้วยนั้น เป็นปรึกษาประชาสัมพันธ์ และมวลชนสัมพันธ์โครงการท่อส่งก๊าซ 14 โครงการมูลค่าหลายสิบล้านบาทกำลังถูกตั้งคำถาม เมื่อพบว่าผู้ยื่นซองประกวดราคาอย่างน้อย 3 โครงการ(ไม่ใช่วิธีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ) มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันในหลายประการ

1.โครงการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานประชาสัมพันธ์และมวลชน สัมพันธ์ โครงการกลุ่มลูกค้าท่อย่อย ปทุมธานี -พญาไท จำนวน 7 โครงการ ระยะเวลา 4 เดือน กันยายน 2552-ธันวาคม 2552 ซึ่งบริษัทไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบริค รีเลชั่น จำกัด ชนะการประมูลด้วยวงเงิน 3,549,600 บาท วันที่ 4 สิงหาคม 2552

2.โครงการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานประชาสัมพันธ์และมวลชน สัมพันธ์ โครงการท่อส่งก๊าซในเขตกรุงเทพมหานคร (BANGKOK CITY GAS) บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ชนะการประมูลวงเงิน 9,864,000 บาท เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553
3.โครงการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานประชาสัมพันธ์และมวลชน สัมพันธ์ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัทสหวิริยา เพลทมิล จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ชนะประมูลวงเงิน 3,744,000 บาท วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553

โครงการแรกมีผู้เสนอราคา 3 ราย คือ
        บริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น ทีม จำกัด เสนอราคา 3,660,000 บาท
บริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เสนอราคา 3,700,000 บาท
        บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด เสนอรคา 3,549,600 บาท

โครงการที่ 2 บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด เสนอราคา 9,864,000 บาท บริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เสนอราคา 11,502,000 บาท

โครงการที่ 3 มีผู้เสนอราคา 2 ราย คือ บริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เสนอราคา 5,120,000 บาท และ บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด 3,744,000 บาท

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า
     

  1. บริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น จำกัด จดทะเบียนวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ทุน เริ่มแรก 1.5 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 1 เม.ย.54 เพิ่มเป็น 5 ล้านบาท ประกอบธุรกิจที่ปรึกษาวางแผนงานด้านประชาสัมพันธ์ ส่วน บริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จดทะเบียนวันที่ 19 มิถุนายน 2551 ทุนเริ่มแรก 1.5 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 1 เม.ย.54 เพิ่มเป็น 5 ล้านบาท ประกอบธุรกิจที่ปรึกษาวางแผนงานด้านประชาสัมพันธ์ (เพิ่มทุนวันเดียวกัน)

2.สำนักงานที่ตั้งเดิมของ บริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น จำกัด เลขที่ 48/442 ซอยเสรีไทย 33 ถนนเสรีไทย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ เลขที่เดียวกันกับสำนักงานที่ตั้งเดิมบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น เลขที่ 48/442 หมู่ 2 คลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ
      
 ปัจจุบัน บริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น ทีม จำกัด แจ้งเลขที่ 2991/2 ชั้น 4 ซอยลาดพร้าว 101/3 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ บริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด แจ้งเลขที่ 2991/2 ชั้น 5 ซอยลาดพร้าว 101/3 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ

น่าสังเกตว่าทั้งสองแห่งแจ้งที่อยู่เดียวกันแต่แห่งละชั้น

3.เบอร์โทร.ติดต่อของบริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น จำกัด 02-37013xx-9 เป็นหมายเลขเดียวกับเบอร์โทร.ของบริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด

4.นางสาวราศรี แซ่หลี กรรมการบริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัดช่วงก่อตั้งปี 2551 เป็นกรรมการ บริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น จำกัดและถือหุ้นบริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น จำกัด 20,000 หุ้น (วันที่ 1 เม.ย.54) และต่อมาเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด 40,000 หุ้น 4 ล้านบาท (วันที่ 1 เมษายน 2554-เข้ามาถือหุ้นเมื่อบริษัทเพิ่มทุนเป็น 80 ล้านบาท)

5.นายมฆวัต กาญวัฒนะกิจ กรรมการและผู้ถือหุ้น บริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น จำกัด จำนวน 3,750 หุ้น (วันที่ 1 เม.ย.54 เพิ่มเป็น 17,500 หุ้น) เป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด 8,025 หุ้น (ได้รับโอนหุ้นมาจากนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เมื่อ 2 มกราคม 2551 ต่อมาได้โอนหุ้นต่อให้นายเจตนันท์ ใสยเกื้อ)

6.นายปรีชา หัตถประดิษฐ์ ผู้ถือหุ้น บริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น จำกัด จำนวน 750 หุ้น (วันที่ 24 มิ.ย.51-30 เม.ย.52) เป็นผู้ถือหุ้น บริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด 750 หุ้น (วันที่ 25 ส.ค.52) ต่อมาเพิ่มเป็น 20,000 หุ้น วันที่ 1 เม.ย.54

7.พล.ท.อำพล ตุ้มทอง ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น จำกัด 4,500 หุ้น กับ พล.อ.ปริญญา ชัยสุกวัฒน์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จำนวน 4,500 หุ้น ทำธุรกิจร่วมกันในบริษัท นวนคร อินเตอร์เนชั่นแนล การ์ด จำกัด ยามรักษาความปลอดภัยซึ่งมี พล.อ.อัครเดช ศศิประภา (น้องชายพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี) ถือหุ้นใหญ่
  
แน่นอน นายณัฐวุฒิไม่อาจปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่างเขากับบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ได้ โดยยอมรับว่า เป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด จริง

"ผมทำธุรกิจอยู่ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่การเมือง เมื่อจะเข้าสู่การเมืองก็ตัดสินใจยุติเรื่องธุรกิจ พี่ชายก็มาทำต่อ เป็นไปตามกลไกธุรกิจ และผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรอีก มันเป็นการทำธุรกิจด้านประชาสัมพันธ์เดินต่อเนื่องกันมา ซึ่งผมทำมา 5-6 ปี บริษัทก็เติบโตขึ้นเป็นลำดับ แต่ไม่ได้มีถึง 70-80 ล้านบาท มันเป็นการเติบโตของกิจการภายหลังผมไม่อยู่แล้ว พี่ชายเขาทำโตขึ้นมาอีก แล้วเขาก็เพิ่มทุน ซึ่งผมก็ไม่ทราบรายละเอียด” ณัฐวุฒิ ชี้แจง

ตัวเลข 80 ล้านบาทที่อำมาตย์เต้นชี้แจงคือตัวเลขทุนจดทะเบียนของบริษัทที่พุ่งพรวดขึ้นมาอย่างน่ามหัศจรรย์ เพราะในช่วงปี 2544 ในขณะที่นายณัฐวุฒิร่วมกับสนธยา ทิพย์อาภากุลก่อตั้งบริษัท มีทุนจดทะเบียนเพียงแค่ 5 ล้านบาท เวลาผ่านไป 10 ปี คือเมื่อวันที่ 1 เม.ย.54 บริษัทแห่งนี้ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 80 ล้านบาท

แน่นอน ไม่มีใครไปกล่าวหาว่า นายณัฐวุฒิใช้อำนาจหน้าที่เอื้อต่อการทำธุรกิจของบริษัทพี่ชาย

แน่นอน ไม่มีใครสงสัยว่า นายณัฐวุฒิรถเบนซ์ มีบ้านเดี่ยวขนาด 100 ตารางวามาได้อย่างไร รวมถึงมีรายได้เดือนละ 4-5 แสนบาทตั้งแต่อายุ 20 กว่าๆ

แต่สิ่งที่สังคมเคลือบแคลงใจก็คือ เส้นทางชีวิตของนายณัฐวุฒินั้นมิได้ยืนอยู่เคียงข้างประชาชน หากแต่ยืนอยู่ข้างทุนโดยอาศัยประชาชนเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินและสร้างความร่ำรวยให้กับตนเองต่างหาก
ผู้ถือหุ้น บ.แม็ส มีเดีย
ผู้ถือหุ้น บ.แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น
ผู้ถือหุ้น บ.ไทยคอนซัลแตนท์ แอนด์ พับลิค รีเลชั่น
ผู้ถือหุ้น บ.ไทยคอนซัลแตนท์ แอนด์ พับลิค รีเลชั่น
กำลังโหลดความคิดเห็น