พิจิตร -คนเมืองชาละวันรวมตัวจัดเวทีเสวนาตั้งหลักสู้น้ำท่วม นายก อบจ.พิจิตร เสนอตั้งศูนย์ระวังภัย พร้อมตั้งงบกลางผนึกกำลังทั้งท้องถิ่น ตอกผู้บริหารระดับจังหวัด อย่าเสนอหน้ารอรับแขก แจกของแล้วปล่อยเหตุบานปลาย ส่วน ส.ส.ปชป.ชวนชาวบ้านที่ลุ่มเสียสละ “มีนาให้น้ำอยู่”
ในการเสวนาเรื่อง “น้ำท่วม...!พิจิตรคิดและอยู่อย่างไร” ที่นิสิตปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดขึ้น ซึ่งมีชาวบ้าน นักวิชาการ ผู้บริหารโครงการชลประทาน หน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงนายกเทศบาล - อบต. พื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 จำนวนเกือบ 200 คนเข้าร่วม เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการถกข้อมูลเตรียมแผนรับมือน้ำท่วมแน่ปี 55 โดยมี ผศ.ดร.ทิวากร แก้วมณี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ดำเนินรายการนั้น
นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร(อบจ.พิจิตร) ได้แสดงความคิดเห็นว่า น้ำท่วมก็เหมือนกับโรคภัยไข้เจ็บ ชาวพิจิตรต้องรับสภาพกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ซึ่งพิจิตรจะเจ็บป่วยและเจ็บปวดจากการถูกน้ำท่วมก่อนคนในภาคกลาง และกรุงเทพฯ เสมอ แต่ชาวพิจิตร ป่วยก่อน แต่ก็หายป่วยได้เร็วก่อนใคร นั่นเป็นเพราะพิจิตรเป็นเมืองการเกษตรเสียหายแค่ฤดูกาลเดียว ปีถัดมาก็ปลูกพืชใหม่ได้อีก
แต่ภาคกลาง เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพฯ เป็นเมืองเศรษฐกิจและเมืองอุตสาหกรรมถ้าเกิดความเสียหายก็เหมือนกับป่วยหนัก-ป่วยนาน ยากแก่การเยียวยารักษา
ดังนั้น การถอดบทเรียนในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง ชาวพิจิตรต้องแบ่งพื้นที่เศรษฐกิจกับพื้นที่การเกษตรให้ได้อย่างชัดเจน และต้องปกป้องไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่ที่สำคัญ เช่น ธนาคาร โรงพยาบาล เรือนจำ เป็นต้น
ส่วนพื้นที่ไร่-นา ก็ต้องดูว่าจุดไหนท่วมแล้วใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำออกคุ้มค่ากับน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มก็เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในการเสียสละเป็นพื้นที่รับน้ำ แล้วสร้างอาชีพ สร้างความเข้มแข็งให้อยู่กับน้ำให้ได้ เพราะถึงจะหนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น อีกทั้งถ้าคิดจะสู้ก็ไม่มีทางชนะ เมื่อไม่ชนะก็ยอมเป็นพวกเดียวกันไป
ยกตัวอย่างเช่น ชาวต.รังนก อ.สามง่าม ก็สร้างบ้านใต้ถุนสูง เด็กๆก็ว่ายน้ำเป็นแทบทุกคน ทุกหลังคาเรือนก็มีเรือพายประจำบ้าน สถานีอนามัย ก็มีเรือเร็ว เรือหางยาว ไว้ประจำ รพ.สต. ต่างๆ ส่วนอาชีพในฤดูน้ำหลากก็จะทอดแหหาปลา ทำปลาร้า ปลาเค็ม ปลาย่างขาย อีกทั้งการทำนาในอดีตก็ใช้พันธุ์ข้าวขึ้นน้ำไม่กลัวน้ำท่วม
“ถ้าจะช่วยชาวบ้านกลุ่มน้ำ ก็กำลังคิดแผนจะสร้างห้องเย็นไว้ให้เก็บปลาที่หาได้มากมายในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อเป็นการถนอมอาหารและพยุงราคาปลาที่หาได้อย่างนี้ เป็นต้น”
ในส่วนของท้องถิ่น นายกอบจ.พิจิตร กล่าวว่า อยากให้ทุกท้องถิ่นร่วมกันล่ารายชื่อที่แสดงวัตถุประสงค์ชัดเจนให้แก่ผู้บริหารระดับจังหวัด ว่าวันนี้ต้องการให้จัดทำแผนตั้งศูนย์ระวังภัยแบบ 24 ชั่วโมง มีอุปกรณ์ มีคน มีงบประมาณ ที่เป็นงบกลางใช้ได้ทันทีอย่างชัดเจน ไม่ใช่มีแค่ป้ายแผ่นเดียวติดไว้หน้าที่ว่าการอำเภอ แต่ไม่มีความจริงใจในการช่วยเหลือชาวบ้านเหมือนอย่างอดีตที่ผ่านมา ที่ผู้บริหารระดับจังหวัดตั้งท่าแต่รอรับแขก กับตั้งงบจัดซื้อของแจกชาวบ้าน โดยไม่คิดแผนป้องกันระวังภัย ส่วนเมื่อเกิดอุทกภัยหลังน้ำลดต้องรีบฟื้นฟูทันที เพราะทุกวันนี้ ดูแค่ถนนสายตะพานหิน-บางมูลนาก บริเวณบ้านไผ่หลวง และอีกหลายแห่งยังไม่มีการฟื้นฟูแต่อย่างใด
ด้านนายนราพัฒน์ แก้วทอง รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.พิจิตรเขต 2 ก็ให้สัมภาษณ์ว่า พิจิตรคงหนีเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2555 ไม่พ้น โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำยมของ อ.สามง่าม และโพธิ์ประทับช้าง คงต้องรับศึกหนัก การทำนา ที่ในอดีตเคยทำนา 2 ปี 7 ครั้ง ต่อไปนี้ชาวนาพิจิตร คงทำได้เต็มที่แค่ 2 ครั้ง/ปี ส่วนเดือนพ.ค.- ก.ย. 2555 คงต้องหยุดพักให้ท้องนาในที่ลุ่มเป็นพื้นที่รับน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตอนนี้ ตนก็ออกทำความเข้าใจกับพี่น้องชาวพิจิตร โดยเฉพาะในต.รังนก อ.สามง่าม และ ต.วังจิก ต.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง ว่า ไหนๆก็ถูกน้ำท่วมนาอยู่แล้ว จะสู้หรือจะสูบน้ำออกก็ไม่มีทางชนะธรรมชาติได้ ซึ่งทุกคนล้วนมีประสบการณ์และพบเจอด้วยตนเองในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 54 ดังนั้น ปี 2555 ก็คงต้องเจอซ้ำในรูปแบบเดิม จึงคิดว่าจะชวนชาวพิจิตรยอมเสียสละ 4 เดือน ให้ท้องนาในที่ลุ่มเป็นพื้นที่รับน้ำ
“โดยจะเสนอรัฐบาลจ่ายค่าเช่านาให้เป็นที่อยู่ของน้ำ จ่ายค่าเช่าใต้ถุนบ้านให้น้ำอยู่เพื่อให้เมืองเศรษฐกิจ หรือย่านนิคมอุตสาหกรรม ได้นำรายได้ส่วนนั้นเข้าประเทศแล้วนำเงินมาชดเชยให้ชาวนาพิจิตรที่เสียสละ”
ผลจากการเปิดเวทีถกเสวนารับมือน้ำท่วมของชาวพิจิตรในครั้งนี้ มีผู้นำท้องถิ่นเสนอแนวความคิดที่หลากหลาย โดยรวบรวมเป็นรูปเล่มเสนอให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มีกำหนด “ทัวร์นกแก้ว”วันที่ 13-17 ก.พ.55