xs
xsm
sm
md
lg

นิติราษฎร์จะล่าชื่อแก้มาตรา 112 ได้จริงหรือ

เผยแพร่:   โดย: บัญชา สหเกียรติมนตรี

โดย...บัญชา สหเกียรติมนตรี
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา

สื่อหลายสื่อต่างลงข่าวนิติราษฎร์จะล่าชื่อแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทุกวัน ทำให้ฉงนว่าจะแก้ได้จริงหรือ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 6 รัฐสภา ส่วนที่ 7 การตราพระราชบัญญัติ มาตรา 142 ภายใต้บังคับมาตรา 139 (ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ) ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดย (4) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามมาตรา 163 หมวด 7 การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน มาตรา 163 บัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญนี้

หมวด 3 เป็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หมวด 5 เป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ในหมวด 5 ส่วนที่ 2 แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ มาตรา 77 รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 8 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ส่วนมาตรา 112 เป็นบทบัญญัติของกฎหมายในประมวลกฎหมายอาญาลงโทษแก่ผู้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี ซึ่งมิใช่บทบัญญัติในหมวด 3 และหมวด 5 ในรัฐธรรมนูญ นิติราษฎร์จึงไม่มีสิทธิขอแก้

มิหนำซ้ำการกระทำและถ้อยคำที่นิติราษฎร์กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ยังหมิ่นเหม่จะเป็นความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1294/2521 วินิจฉัยว่า ขณะเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีประชาชนยืนตรง จำเลยกล่าวว่า “เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง” และไม่ยืนตรง ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้อยคำที่กล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่พึงเคารพสักการะอยู่ในฐานะที่จะละเมิดมิได้ จึงอยู่เหนือการติชมทั้งปวง นิติราษฎร์พยายามบิดเบือนให้สังคมสับสนจึงน่าจะเรียกบุคคลกลุ่มนั้นว่า นิติทรราชแทนนิติราษฎร์
กำลังโหลดความคิดเห็น