xs
xsm
sm
md
lg

จริยธรรมของตุลาการ

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

องค์กรตุลาการเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาบรรดาอรรถคดีทั้งปวง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน การใช้อำนาจตุลาการจึงมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนออกจากอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถใช้อำนาจในการให้คุณให้โทษในการแต่งตั้ง โยกย้ายและลงโทษผู้พิพากษาได้ ซึ่งเป็นหลักการในการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามฝ่าย เพื่อรองรับหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ให้สามารถดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ปราศจากการแทรกแซงจากบุคคลหรือองค์กรใด

จากแนวคิดเรื่องหลักประกันความเป็นอิสระที่ผู้พิพากษาจะต้องไม่ถูกแทรกแซงจากองค์กรฝ่ายอื่น มีผลให้บุคคลที่จะเป็นผู้พิพากษาได้ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม และในขณะเดียวกันก็ต้องประพฤติ และปฏิบัติตนให้เป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าจะเป็นบุคคลผู้สามารถรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมภายใต้หลักนิติธรรม ในการรับรองและคุ้มครองตามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

ผู้พิพากษาจึงต้องดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานทางจริยธรรม ที่นอกจากจะได้มีการกำหนดไว้ในประมวลจริยธรรมตุลาการแล้ว ยังควรต้องดำรงตน และปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมแห่งการปฏิบัติตนของผู้เป็นตุลาการที่เรียกว่า “หลักอินทภาษ 4” ซึ่งจารึกไว้ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์โดยผู้พิพากษาจักต้องละทิ้งอคติ 4 ประการ เพื่อให้การพิจารณาตัดสินอรรถคดีเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากความลำเอียง

1. ฉันทาคติ คือ ลำเอียงเพราะรัก ชอบเห็นแก่อามิสสินบน

2. โทสาคติ คือ ลำเอียงเพราะโกรธ ไม่ลุ่มหลงในยศถาบรรดาศักดิ์ โดยยึดมั่นในความสุจริตเที่ยงธรรม

3. โมหาคติ คือ ลำเอียงเพราะหลง ไม่ให้เกิดความเอนเอียงในใจด้วยเพราะมีความโกรธ ความอาฆาตเคียดแค้นอยู่ในใจกับผู้ที่อยู่เบื้องหน้าตน

4. ภยาคติ คือ ลำเอียงเพราะกลัว ไม่ให้เกิดความเอนเอียงในใจเพราะบังเกิดความกลัว ไม่ว่าจะกลัวตาย กลัวจะเกิดการเสื่อมยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นต้น

นอกจากมาตรฐานจริยธรรมจะเป็นที่ยอมรับ และเป็นแนวทางปฏิบัติของผู้พิพากษาในประเทศไทยแล้ว ก็ยังอาจกล่าวได้ว่าเป็นหลักสากลที่มีการยอมรับ และมีการบัญญัติขึ้นเป็นประมวลจริยธรรมเพื่อบังคับใช้กับผู้พิพากษาในประเทศต่างๆ ด้วย เช่น The Code of Judicial Conduct adopted by the House of Delegates of the American Bar Association, August 1972 ของประเทศสหรัฐอเมริกา The European Charter on the Statute for Judges, Council of Europe, July 1998 ที่ใช้บังคับในประชาคมยุโรป หรือ Bangalore Principles of Judicial Conduct

Bangalore Principles of Judicial Conduct หรือ “หลักการบังกาลอร์ว่าด้วยจริยธรรมของตุลาการ” ได้บัญญัติขึ้นในปี พ.ศ. 2545 จากการประชุมร่วมกันของผู้พิพากษาผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ที่มีพื้นฐานทางกฎหมายที่แตกต่างกัน แต่มีความมุ่งหมายเดียวกันที่จะร่วมกันร่างต้นแบบประมวลจริยธรรมตุลาการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถนำไปอนุวัตรใช้ในประเทศได้ตามความเหมาะสม โดยอาศัยตัวอย่างจากประมวลจริยธรรมตุลาการที่ใช้บังคับภายในประเทศสมาชิก และที่ใช้บังคับในองค์กรระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ Bangalore Principles of Judicial Conduct ได้กำหนดหลักปฏิบัติ เกี่ยวกับจริยธรรมของตุลาการไว้ 6 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ หลักความเป็นอิสระ หลักความเป็นกลาง หลักเกียรติศักดิ์ หลักการปฏิบัติอย่างเหมาะควร หลักความเสมอภาค หลักความสามารถและความเพียร

หลักความเป็นอิสระ (Independence) ความอิสระของตุลาการถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ผู้พิพากษาจึงต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ ปราศจากอิทธิพล หรือการแทรกแซงใดๆ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบตุลาการ การพิจารณาพิพากษาคดีจึงต้องกระทำโดยอาศัยการประเมินข้อเท็จจริงที่ได้รับและความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมาย นอกจากหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว ผู้พิพากษายังมีหน้าที่ต้องสนับสนุนและส่งเสริมหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ

หลักความเป็นกลาง (Impartiality) เป็นหลักการที่มีความจำเป็นในการใช้อำนาจทางตุลาการ ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาหรือการพิพากษาคดี ผู้พิพากษาจึงต้องปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความพึงพอใจส่วนตัวความเอนเอียงหรือความอคติ เพื่อรักษาและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สาธารณชน นักกฎหมาย และคู่ความในความเป็นกลางของผู้พิพากษาและองค์กรตุลาการ ทั้งนี้หากปรากฏว่ามีกรณีที่อาจกระทบถึงความเป็นกลางของผู้พิพากษาเช่นผู้พิพากษาหรือบุคคลในครอบครัวมีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องในผลแห่งคดีหรือเคยเป็นทนายความในคดีดังกล่าวผู้พิพากษาผู้นั้นจักต้องถอนตัวจากการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น

หลักเกียรติศักดิ์ (Integrity) เป็นหลักการที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมในตำแหน่งตุลาการ โดยผู้พิพากษาจำต้องประพฤติ และปฏิบัติตนให้ประชาชนศรัทธาในความซื่อสัตย์ขององค์กรตุลาการ และปราศจากเหตุอันควรตำหนิติเตียนใดๆ

หลักการปฏิบัติอย่างเหมาะควร (Propriety) เป็นหลักการที่มีความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตุลาการ โดยผู้พิพากษาจักต้องหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม และต้องประพฤติตนให้สมกับเกียรติศักดิ์แห่งการดำรงตำแหน่งหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษา อาทิเช่น ต้องไม่เป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีที่สมาชิกในครอบครัวเป็นคู่ความ ต้องไม่ยอมให้ผู้อื่นใดเข้ามามีอิทธิพลเหนือตนในการพิจารณาพิพากษาคดี ต้องไม่ใช้หรือยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนในการแสวงหาประโยชน์ ต้องไม่เรียก หรือรับของตอบแทนใดๆจากการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการ และมีหน้าที่ในการรักษาความลับที่ได้รับทราบจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษา เป็นต้น

นอกจาก Bangalore Principles จะมีการกล่าวถึงตัวอย่างการกระทำที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษาแล้ว ยังได้มีการยกตัวอย่างการกระทำที่ผู้พิพากษาอาจปฏิบัติได้ ภายใต้หลักการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการอย่างเหมาะสม ได้แก่

1. การเขียนตำรา การบรรยาย การสอนหนังสือ และการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวกับกฎหมาย ระบบกฎหมาย การบริหารงานยุติธรรม หรือเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

2. การเข้าร่วมประชุมในการระดมความคิดเห็นของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ระบบกฎหมาย การบริหารงานยุติธรรม หรือเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

3. การเข้าร่วมเป็นกรรมการของหน่วยงานของรัฐ คณะกรรมาธิการ หรือคณะกรรมการที่ปรึกษา หากการเข้าเป็นสมาชิกจะไม่กระทบถึงความเหมาะสม และความเป็นกลางของผู้พิพากษา

4. การเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่นที่ไม่กระทบต่อเกียรติศักดิ์ของหน่วยงานทางตุลาการ หรือไม่มีผลเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการ

หลักความเสมอภาค (Equality) ในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตุลาการต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และบุคคลที่มาใช้สิทธิทางศาลอย่างเท่าเทียมกัน โดยผู้พิพากษาจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความลำเอียงหรืออคติ ไม่ว่าจะเป็นทางการกระทำหรือคำพูด อีกทั้ง ต้องคำนึงถึงความหลากหลาย และความแตกต่างทางสังคมของผู้ที่มาใช้สิทธิทางศาล เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ถิ่นกำเนิด ความพิการ สถานภาพทางสังคมหรือเศรษฐกิจ เป็นต้น

หลักความสามารถและความเพียร (Competence and Diligence) กำหนดให้ผู้พิพากษาต้องมีความรู้ความสามารถและความเอาใจใส่ในงานที่ทำ และพึงอุทิศตนให้กับการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการเหนือกิจกรรมอื่นใด โดยต้องทำการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และถูกต้องเหมาะสม ในขณะเดียวกัน ผู้พิพากษาจะต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานตุลาการอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แต่เฉพาะกฎหมายที่ใช้บังคับภายในประเทศเท่านั้นแต่ต้องมีความรู้ทางกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

Bangalore Principles of Judicial Conduct จึงเป็นหลักมาตรฐานจริยธรรมสากลซึ่งได้มีการการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีสาระสำคัญที่กล่าวถึงผู้พิพากษาว่านอกจากจะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายแล้ว ยังพึงต้องสามารถดำรงตนได้อย่างเหมาะสม อันเป็นแนวคิดที่คล้ายกับ หลักอินทภาษ 4 ที่เป็นหลักการดำรงตน และปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา เพื่อให้การพิจารณาตัดสินอรรถคดีเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากความลำเอียง เนื่องจากการใช้อำนาจทางตุลาการเป็นการใช้อำนาจที่มีผลกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ผู้พิพากษาจึงต้องยึดถือหลักความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง และเกียรติศักดิ์ ในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้มีความจำเป็น เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในองค์กรตุลาการ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น