xs
xsm
sm
md
lg

‘นายบ.-เจ๊ด.’จ้องงาบ งบน้ำท่วม3.5แสนล. “ปู”สั่ง“เรียลลิตี้นกแก้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 6 ก.พ.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ผลสำรวจของโพลสำนักต่าง ๆ ระบุว่ามีความไม่น่าเชื่อถือจากการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทที่ห่วงว่าจะมีการทุจริตงบประมาณถึง 1 แสนล้านบาทว่า มีการรายงานที่น่าเชื่อถือได้ และมีมูลว่าจะมีการตั้งโต๊ะเป็นขบวนการที่จะเป็นนายหน้าหาผู้รับผิดชอบทำโครงการฟื้นฟูหลังน้ำลดของรัฐบาลชุดนี้ทั้งหมด โดยบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับบ้านใหญ่ของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นนาย บ. และเจ๊ ด. ที่มีความเชื่อมโยงกับผู้อยู่เบื้องหลังของรัฐบาลชุดนี้ จะเข้าไปมีผลประโยชน์ในการอนุมัติรับผิดชอบโครงการต่าง ๆ เข้ามาดูแลเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เป็นนายหน้าในการคัดเลือกโครงการ และอนุมัติผู้รับเหมา ดังนั้น อยากให้สังคมช่วยกันจับตามอง เพราะเงินจำนวนมหาศาลกำลังจะทุ่มเข้ามาในรัฐบาล

**น้ำเขื่อนหลักน่าวิตก จี้รัฐเปิดแผน
นายชวนนท์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนสำคัญหลายแห่งว่าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80 % ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่น่าเป็นห่วงในการบริหารจัดการทโดยข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรายงานว้นที่ 5 ก.พ.2555 ว่า เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำในเขื่อนถึง 80.89 % เขื่อนสิริกิตต์ 78.76 % เขื่อนแม่งัด 96.98 % เขื่อนศรีนครินทร์ 85.37 % เขื่อนวชิราลงกรณ์ 74.59 % เขื่อนอุบลรัตน์ 69.64 % และ เขื่อนสิรินธร 79.20 % จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนหลายแห่งอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ในขณะที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะไปดูการระบายน้ำตั้งแต่ต้นน้ำมาถึงปลายน้ำในการทัวร์นกแก้ว วันที่ 13-17 กุมภาพันธ์นี้ แต่กลับไม่มีการให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและแนวทางการระบายน้ำว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อนอย่างไร อีกทั้ง กยน. ยัง ไม่มีแผนงานเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้มีแค่วาทกรรมหลอกประชาชนให้สบายใจกับการบริหารรงานของรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังระบุไม่ได้ว่าจะดำเนินโครงการที่ไหน อย่างไร

**เขื่อนศรีนครินทร์ จัดงานท้าพิสูจน์
นายบุญอินทร์ ชื่นชวลิต ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) เปิดเผยเกี่ยวกับการดูแลความแข็งแรง-ปลอดภัยของเขื่อน ภายหลัง ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้กล่าวเตือนให้ระวังรอยเลื่อนแผ่นดินไหวในพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี โดยระบุว่าเขื่อนดังกล่าวสร้างอยู่บนรอยเลื่อน ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหว 7 ริกเตอร์ อาจเสี่ยงทำให้เขื่อนแตก จนจังหวัดกาญจนบุรี อาจจมบาดาล 22 เมตร
ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ย้ำเรื่องนี้ว่า เขื่อนฯมีการดูแลสภาพความแข็งแรง-ปลอดภัยของเขื่อนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังได้รับการยืนยันด้านเสถียรภาพของเขื่อนจากนักวิชาการระดับโลก และเพื่อเป็นการพิสูจน์ความแข็งแรงของเขื่อนศรีนครินทร์ ผู้อำนวยการเขื่อน จึงได้เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาสนุกในกิจกรรมเทศกาลความรัก ณ สันเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555 นี้ด้วย

**ปูสั่งทำเว็บเรียลลิตี้นกขมิ้น
นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภหลังประชุม เตรียมการเพื่อสรุปรายละเอียดแผนการเดินทาง การติดตามแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของนายกรัฐมนตรีและคณะ ระหว่างวันที่ 13-17 ก.พ.นี้ โดยมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมในวันนี้ว่า การเดินทางครั้งนี้จะแบ่งการทำงานแบ่งออกเป็น 2 คณะ คือ คณะติดตามนายกรัฐมนตรี และคณะทำงานเชิงปฏิบัติการหรือ “วอร์รูม” ในแต่ละพื้นที่ที่นายกรัฐมนตรีลงแต่ละจังหวัด โดยนายกฯกำชับให้หน่วยราชการและผู้เกี่ยวข้องช่วยเหลือประชาชน ทำงานและตอบคำถามประชาชนให้ได้ทุกคำถาม ตั้งแต่เรื่องการเยียวยา ทั้งนี้ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประสานกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ และจัดทำเว็บไซด์ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามการทำงานของรัฐบาลได้
ตลอด 4-5 วัน ในการลงพื้นที่ของนายกฯได้ย้ำให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนรับทราบและเชื่อมั่นว่ารัฐบาลได้ดำเนินการป้องกัน ติดตาม ฟื้นฟู รวมทั้งป้องกันน้ำท่วมตั้งแต่ระยะสั้น และระยะยาว โดยนายกฯจะเป็นผู้แถลงสรุปด้วยตัวเองทุกวัน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบว่ารัฐบาลมีวิธีป้องกันปัญหาน้ำท่วมอย่างไร และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วกระทรวงไอซีที จะเป็นผู้รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อสะดวกในการตรวจสอบและจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
สำหรับการลงพื้นที่ของนายกฯและคณะ เริ่มในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปโครงการพระราชดำริและการดูแลป่าต้นน้ำ การปลูกป่า และการรักษาระบบนิเวศ การพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยด้านการบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน

**ศภช.ชงแผน“จราจรน้ำ”รับมือท่วม
น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.)กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้สัมภาษณ์ ถึงสาเหตุที่ฤดูกาลประเทศไทยผันผวนขณะนี้ว่า ช่วงนี้เป็นการเปลี่ยนฤดูจากหนาวไปร้อน ทำให้ทิศทางลมที่เข้าประเทศเปลี่ยนไป โดยส่วนหนึ่งเกี่ยวกับสถานการณ์อากาศโลก มีปรากฏการณ์ลานินญ่า โดยภาคเหนืออาจจะมีอากาศเย็นอีกใน 2 วันนี้ ขณะเดียวกันก็ยังอากาศแปรปรวนในหลายพื้นที่ อาทิ มีพื้นที่ภัยแล้งติดกับพื้นที่ปลูกนาข่าวซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกนั้นเป็นเพราะบางพื้นที่ยังเป็นน้ำขัง เมื่อน้ำละเหยขึ้นฟ้าก็กลั่นตัวตกลงมาเป็นฝน
นอกจากนี้สิ่งที่ประชาชนจะต้องเฝ้าระวังจะเริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.อาจจะมีพายุฤดูร้อน มีลมกระโชกแรง ฝนฟ้าคะนอง หรือมีลูกเห็บตก ทั้งภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางบางส่วน อาทิ จ.กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา ส่วนเดือนพ.ค.เป็นต้นไปให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเป็นช่วงที่เชื่อมเข้าฤดูฝน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนใช้บทเรียนจากภาวะน้ำท่วมปีที่ผ่านมาเรียนรู้ ว่าพื้นที่ใดมีฝนขนาดไหน กระทบอย่างไร แต่รัฐบาลมีแผนจัดการจราจรน้ำ และเส้นทางน้ำจะไป โดยไม่มีการกั้น ซึ่งจะมีการกำหนดในแต่ละจังหวัดตั้งแต่ต้นน้ำ ส่วนกรณีที่นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัย พิบัติแห่งชาติ ได้ออกมาเตือนว่า เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ในจ.กาญจนบุรีมีโอกาสแตกสูง หากเกิดแผ่นดินไหวในลอยเลื่อนประเทศพม่า 7 ริกเตอร์นั้น ตนมองเป็นเรื่องที่ต้องการให้ประชาชื่นตื่นตัว แต่ความเชื่อมั่นความแข็งแรงของทั้งสองเขื่อน ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมแผนรองรับไว้ทั้งหมด ที่สำคัญสิ่งที่จะทำให้เขื่อนแตกได้จะต้องมีลอยเลื่อนอยู่ใต้เขื่อนเท่านั้น และมีความรุนแรงขนาด 7 ริกเตอร์ เขื่อนถึงจะได้ผลกระทบ แต่ก็เป็นไปได้ยาก เพราะรอยเลื่อนไม่ได้อยู่ใต้เขื่อนทั้งสองแห่ง
"ตรงนี้ผมเข้าใจคุณสมิธ เตือนด้วยความหวังดี แต่เรายังมีความพร้อมในการดูแลเขื่อน แต่ไม่อยากให้มองที่ จ.กาญจนบุรี เพราะเราต้องมีความพร้อมในส่วนกลางคือที่กรุงเทพฯ ผมขอเตือนตรงนี้ดีกว่า เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นพื้นที่อ่อนไหวกว่าที่อื่น จึงอยากให้กทม.ให้ความสำคัญและให้ความรู้ประชาชนหรือการติดตั้งระบบแจ้งเตือน ว่าหากเกิดแผ่นดินไหวจะให้ประชาชนเตรียมตัวอย่างไร" น.อ.สมศักดิ์ กล่าว

**กทม.รับเงินช่วย 4 เมืองใหญ่ จีน-ญี่ปุ่น
นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงผลการประชุมผู้บริหาร กทม. ว่า กทม.มีโครงการช่วยเหลือชุมชนที่ประสบอุทกภัย โดยใช้เงินจากกองทุนร่วมสร้างกรุงเทพมหานคร "รวมกันเราทำได้" ซึ่งได้รับจากการบริจาคจากเมืองฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวน 25 ล้านบาท กรุงปักกิ่ง 1.5 ล้านบาท กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 1.5 ล้านบาท และเมืองยาชิโอ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่นอีก 680,000 บาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 28 ล้านบาท
มอบให้แก่ชุมชนใน 21 เขตแรก ที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และมีน้ำท่วมขังสูงเกิน 80 เซนติเมตร ซึ่งจากการสำรวจมีชุมชนทั้งสิ้น 616 ชุมชน โดยมีหลักเกณฑ์คือเป็นชุมชนที่น้ำท่วมขังระหว่าง 7-14 วัน มีจำนวน 61 ชุมชน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 30,000 บาท เป็นเงิน 1,830,000 บาท ชุมชนที่น้ำท่วมขังระหว่าง 15-30 วัน มีจำนวน 212 ชุมชน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 40,000 บาท เป็นเงิน 8,480,000 บาทและชุมชนที่น้ำท่วมขังเกิน 30 วัน ขึ้นไป มีจำนวน 343 ชุมชน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 50,000 บาท เป็นเงิน 17,150,000 บาท ส่วนอีก 21 เขตหลัง ที่ไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์ สามารถยื่นคำร้องได้ หากมีน้ำท่วมสูงเกิน 80 เซนติเมตร
ส่วนผลการดำเนินโครงการยิ้มสู้ กู้ภัยน้ำท่วม ที่กทม. ร่วมกับสถาบันการเงิน 4 แห่ง มีจำนวนผู้ประสงค์ขอสินเชื่อทั้งหมด 746 ราย วงเงินประมาณ 29 ล้านบาทได้แก่ ธนาคารออมสิน มีผู้ขอสินเชื่อ 568 ราย วงเงินประมาณ 19 ล้านบาท ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีผู้ขอสินเชื่อ 65 ราย วงเงินประมาณ 3 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีผู้ขอสินเชื่อ 31 ราย วงเงินประมาณ 4.5 ล้านบาท และธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีผู้ขอสินเชื่อ 82 ราย วงเงินประมาณ 2.7 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น