xs
xsm
sm
md
lg

9 ก.พ.ฤกษ์“ชำเรารธน.” แก้ม.291 “นิด้าโพล”เชื่อขัดแย้งเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (6 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.45 น. นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของพรรคเพื่อไทยมามอบให้ผู้แทนของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆนำกลับไปหารือ ในที่ประชุมของแต่ละพรรคในวันพรุ่งนี้ (7 ก.พ.) เพื่อให้สมาชิกของแต่ละพรรคร่วมลงชื่อก่อนนำเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป แต่หากพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดมีความเห็นต่าง หรือข้อควรแก้ไขในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ก็สามารถนำเสนอได้อีกครั้งในการประชุมวิปรัฐบาลวันที่ 8 ก.พ.นี้
"วันนี้ทุกคนเห็นตรงกันว่าจะแก้ไขมาตรา 291 ให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง จังหวัดละ 1 คน ส่วนอีก 22 คนให้รัฐสภาที่มี ส.ส.และ ส.ว.เป็นผู้คัดเลือก เมื่อยกร่างเรียบร้อยแล้วก็จัดทำประชามติ เบื้องต้นคาดว่าวันที่ 9 ก.พ. จะสามารถเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ หลังจากที่ยื่นต่อประธานสภาฯ ในวันที่ 9 ก.พ.แล้ว ก็จะมีการตรวจสอบรายชื่อ ส.ส. เมื่อสภาบรรจุเข้าวาระ ก็จะตั้งคณะกรรมาธิการใช้เวลาในกระบวนการนี้ประมาณ 2 เดือนครึ่ง จากนั้นจึงทำการเลือก ส.ส.ร. ใช้เวลาอีกเดือนเศษ แล้ว ส.ส.ร.ทำการแก้ไขยกร่าง 180 วัน ฉะนั้น ก็เป็นไปได้ว่าปลายปีนี้จะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง"นายอุดมเดชกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึง กระแสต้านที่อาจเกิดขึ้นหลังจากมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายอุดมเดช กล่าวว่า ครั้งนี้มีการระบุชัดเจนว่าจะแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร. ตอนนี้ยังไม่ได้พูดกันเลยว่าจะมีการแก้ไขมาตราใดๆบ้าง ส่วนกระแสต้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ประการใด วันนี้เป็นการพูดภึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น จึงต้องขอความกรุณาผู้ที่พยายามผูกโยงให้เกิดความขัดแย้งด้วย
เมื่อถามว่า ในการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลนี้ได้นำข้อเสนอของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) เข้ามาร่วมพิจารณาด้วยหรือไม่ นายอุดมเดช กล่าวว่า ก็ถือเป็นอีกความเห็นหนึ่งที่ต้องการความรวดเร็ว ซึ่งแม้จะมีข้อดี แต่ข้อเสียก็คือการขาดความมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งการที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมจะเป็นปัญหาของการแก้ไขครั้งนี้ จึงเชื่อว่าหากเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมถือเป็นช่องทางที่ทำให้การแก้ไขครั้งนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น
ต่อข้อถามถึงการร่วมสนับสนุนร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น นายอุดมเดช กล่าวว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลต้องการที่จะเสนอร่างแก้ไขของตนเอง ก็ยังต้องมาขอเสียงสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย เพราะอย่างพรรคใหญ่ที่มี 19 เสียงก็ไม่สามารถที่จะเสนอได้ ทั้งนี้หากร่างที่เสนอมาไม่ผิดเพี้ยนกันมากก็พอที่จะให้ ส.ส.ไปร่วมลงชื่อ แต่หากเพี้ยนไปเยอะก็คงไม่สามารถร่วมด้วยได้ ทั้งนี้ในที่ประชุมมีความเห็นว่า อยากให้พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคเสนอเพียงร่างเดียว เพื่อความมีเอกภาพ แต่ผู้แทนพรรคอื่นขอที่จะไปหารือภายในพรรคก่อน
“การเสนอร่างแก้ไขครั้งนี้จะเสนอในนาม ส.ส. หากรัฐบาลต้องการเสนออีกร่างเข้ามาประกบก็สามารถทำได้ เพราะถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่แถลงไว้ว่าจะทำภายใน 1 ปี เช่นเดียวกับร่างของภาคประชาชนที่จนถึงตอนนี้มีเสนอเข้าไปแล้ว 2 ร่าง หากมีกลุ่มใดเสนออีกก็ยังสามารถทำได้เช่นกัน” ประธานวิปรัฐบาลกล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาในสัปดาห์นี้ว่า ไม่เป็นไร ตนไม่ขัดข้อง เพราะตนปราศรัยในเรื่องนี้เอาไว้ และแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาตอนนั้น ตนให้ความเห็นไว้ว่า ขอให้เวลาตนแก้ปัญหายาเสพติดและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาเศรษฐกิจสักระยะก่อน แต่หากพรรคมีมติแบบนี้ไม่มีปัญหา แต่กระบวนการขอยื่นแก้ไขรวมทั้งสรรหา ส.ส.ร.ต้องใช้เวลา
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้วิปรัฐบาลหารือเรื่องนี้อยู่และดูฤกษ์ยามในการยื่นแก้ไข รวมทั้งป้องกันการต่อต้านแล้วหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่เป็นไร เพราะวิปรัฐบาลคุยกับตนแล้ว วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 นั้น จะเลือก ส.ส.ร.ขึ้นมา 77 คน โดยยังไม่รู้ว่าใครจะได้รับเลือก จากนั้นจะเลือกนักวิชาชีพอีก 22 คน รวมทั้งหมด 99 คน หากยกร่างเสร็จแล้ว ต้องไปขอประชามติกับประชาชนก่อนว่าเห็นชอบหรือไม่ แล้วจะออกมาประท้วงทำไม ตนคิดว่าไม่น่ามีประท้วงและงานนี้กร่อย เรียกแขกไม่ได้หรอก
ส่วนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาตินั้น รองนายกฯ กล่าวว่า ตนเขียนไว้เรียบร้อยมี 6 มาตรา หากบอกทีละมาตราก็ไม่ตื่นเต้น แต่ยังไม่ให้ดู เพราะแม้แต่แม่บ้านของตน ตนยังไม่ให้ดูเลย ยืนยันเรียบร้อยหมดและทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ สบายใจได้ว่า ตนจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้นและขออนุญาตพักก่อนในเรื่องนี้ เดี๋ยวโดนดุ เรื่องนี้นั้นสุดท้ายแล้วมันต้องให้รัฐสภาอนุมัติเป็น พ.ร.บ. มันจึงมีผลบังคับใช้
นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปฏิเสธกล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย จะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกมาอย่างไร ทาง กกต. พร้อมที่จะปฏิบัติตาม และมองว่า กกต. ไม่น่าจะทำหน้าที่เป็นผู้เลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยน่าจะเป็นฝ่ายอื่นเป็นผู้ดำเนินการมากกว่า แต่หากให้ดำเนินการ กกต. ต้องทำหน้าที่อยู่แล้ว หากทำแล้วเกิดประโยชน์กับบ้านเมือง ก็ยินดีที่จะดำเนินการ
อีกด้านศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยสำรวจจากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พบว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในบ้านเมืองอีกหรือไม่ 72.9 % มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดความขัดแย้ง , 15.5% บอกไม่เกิดความขัดแย้ง
คำถามว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นชนวนนำไปสู่การปฏิวัติหรือไม่ 42.5% บอกนำไปสู่การปฏิบัติ ขณะที่ 39.5 % บอก ไม่นำไปสู่การปฏิวัติ และเมื่อถามว่า ในการการเสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ท่านคิดว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของใคร 49.0% ตอบว่า นักการเมือง ,24.1 ตอบว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน และ 12% บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ต่อคำถามว่า สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ควรมาจากการเลือกตั้ง 74.4% บอกว่าควร และ 7.8 % บอกไม่ควร
กำลังโหลดความคิดเห็น