xs
xsm
sm
md
lg

Liquidity Trap กับดักสกัดดาว (ร่วง)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในช่วงนี้สำหรับผู้ที่ฝากเงินในธนาคารคงจะต้องเหนื่อยกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ดูแนวโน้มว่าอาจจะยังไม่สูงขึ้นในเร็ววันนี้ โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 3.00% สอดคล้องกับธนาคารกลางสหรัฐที่ได้ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (Fed Fund Rate) ที่ระดับ 0% - 0.25% อย่างน้อยไปจนถึงปลายปี พ.ศ.2557

**นับแต่วิกฤตหนี้ Sub-prime ในสหรัฐเป็นต้นมา สหรัฐได้พยายามออกมาตรการต่างๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการทางการเงินที่หลายคนคุ้นหูอย่าง QE (Quantitative Easing) เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ โดยรัฐบาลสหรัฐคาดหวังว่าปริมาณเงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น** เพื่อก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และรายได้ของประชาชนในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามมา

แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา กลับกลายเป็นว่าประชาชนในประเทศไม่กล้าที่จะใช้เงิน ซึ่งเป็นผลทางจิตวิทยา เนื่องจาก ประชาชนในประเทศต่างตระหนักดีว่า เศรษฐกิจในประเทศกำลังย่ำแย่ หลายคนจึงเลือกที่จะเก็บออมเงินไว้มากกว่าที่จะนำไปใช้จ่าย และถึงแม้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำเท่าไร แต่ถ้าไม่มีกำลังซื้อมากพอ นักลงทุนอาจไม่ตัดสินใจลงทุนได้ ส่งผลให้การจ้างงาน และรายได้ของประเทศไม่เติบโตตามที่รัฐบาลสหรัฐคาดหวังไว้ เหตุการณ์ที่กล่าวมานี้ในทางเศรษฐศาสตร์ เรียกกันว่า กับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap)

**กับดักสภาพคล่อง หรือ Liquidity Trap หมายถึง การที่ในระบบเศรษฐกิจมีเงินอยู่จำนวนมาก แต่ประชาชนในประเทศกลับไม่มีการใช้จ่าย หรือลงทุนเพิ่มตามปริมาณเงิน แต่เลือกที่จะออมเงินมากกว่า เปรียบเสมือนกับดักที่ในระบบมีเงินสภาพคล่องไว้รองรับการลงทุนและการใช้จ่ายอยู่มากมาย แต่ไม่มีใครกล้าที่จะใช้มัน** สุดท้ายแล้วทำให้นโยบายการเงินนั้นไร้ซึ่งประสิทธิภาพในการเป็นเครื่องมือเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้

ตามปกติกับดักสภาพคล่องจะส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้คนต่างเลือกที่จะเก็บออมเงิน อุปสงค์ในสินค้าจึงลดลง ทำให้ราคาอาจจะปรับตัวลดลงมา แต่ราคาสินค้าต่างๆก็มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้จากปัจจัยทางด้านอุปทาน โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ที่หลายสินค้าต่างก็มีปัจจัยเฉพาะตัวในแต่ละสินค้า เช่น ปัจจัยจากความผันผวนของสภาวะทางอากาศที่มีผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ หรือ ปัจจัยทางการเมือง อย่างเรื่องการสู้รบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันต่างๆที่จะกระทบต่อราคาน้ำมัน เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ) ที่เพิ่มขึ้นสูงนั้น อาจหมายถึง ต้นทุนการครองชีพที่เพิ่มขึ้น หรือเกิดเงินเฟ้อขึ้นตามมานั่นเอง และหากเงินเฟ้อสูงขึ้นแต่เศรษฐกิจไม่เติบโตตาม ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาที่น่าวิตกกว่ากับดักสภาพคล่อง นั่นคือ การเกิด “Stagflation” ซึ่งหมายถึง การเกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นและเศรษฐกิจก็หยุดการเติบโตด้วยพร้อมกัน นับว่าเป็นปัญหาที่รับมือได้ยากยิ่งนัก เหมือนอย่างครั้งที่เกิดขึ้นมาเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว

**สุดท้ายแล้วเราก็คงต้องรอดูว่าในอนาคต นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด และจะมีต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็คงทำได้เพียงดำเนินชีวิตทางการเงินไปด้วยความไม่ประมาท และที่สำคัญไม่ควรตื่นตระหนกมากจนเกินไป เพราะนั่นอาจจะทำให้เราติด ”กับดัก” ก็เป็นได้**
กำลังโหลดความคิดเห็น