xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

"เรือนจำกลางเขาบิน" ที่คุมขัง(ลับ)เฉพาะนักโทษยาเสพติด หรือแค่งานเพิ่มต้นทุนให้รัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-"เรือนจำกลางเขาบิน เป็นเรือนจำความมั่นคงสูง และเพิ่งติดตั้งเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์เสร็จเรียบร้อย เมื่อ 1 เดือนกว่าที่ผ่านมา มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันการใช้โทรศัพท์ของผู้ต้องขังที่เป็นนักค้ายาเสพติดในเรือนจำได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์"

"นักโทษคดียาเสพติด ที่มีจุดแข็ง คือมีเงินจำนวนมาก ก็จะว่าจ้างนักโทษคดีปล้น ฆ่า ซึ่งใจถึง ไม่กลัวตาย มาเป็นลูกน้อง หรือเรียกว่า "ซามูไร" เป็นมือไม้ คอยจัดหา จัดเก็บหรือซ่อนโทรศัพท์ไว้กับตัว ทำให้เมื่อเจ้าหน้าที่เรือนจำตรวจค้นก็มักจะเจอของกลางที่ลูกน้อง แต่ไม่มีหลักฐานไปถึงนักโทษยาเสพติดรายใหญ่"

นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ นายกอบเกียรติ กสิวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตอบคำถามของสื่อมวลชน ถึงการย้ายนักโทษที่ต้องคดีค้ายาเสพติด ไปคุมขังในที่เดียวกันยังเรือนจำกลางเขาบิน อันตั้งอยู่เลขที่ 229 หมู่ที่ 6 ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ตามแนวคิดของรัฐบาล โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิอม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี แม้ไม่ได้กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ ในอาณัติของกระทรวงยุติธรรม แต่ด้วยพลังพาวเวอร์ของร.ต.อ.เฉลิม ก็สามารถที่จะทำให้ กรมราชทัณฑ์ที่มี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย เป็นอธิบดี ย่อมต้องตอบรับ และเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ แม้ในสายสัมพันธ์ด้านส่วนตัว ก็เชื่อว่า พ.ต.อ.สุชาติ คุ้นเคยกับร.ต.อ.เฉลิม เป็นอย่างดีมาก่อนแล้ว

แน่นอน การคัดแยก และการเคลื่อนย้ายนักโทษ โดยเฉพาะนักโทษในคดีสำคัญ อย่างคดียาเสพติดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เชื่อมั่นว่า กรมราชทัณฑ์ มีความพร้อม และมีมาตรการที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ทีมข่าวอาชญากรรม ASTVผู้จัดการ ขอพาย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของกำเนิด"เรือนจำกลางเขาบิน"กันเล็กน้อย
เดิมที่ดินตรงบริเวณเรือนจำกลางเขาบินนั้น เป็นที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเขาบิน มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 1,475 ไร่ กรมราชทัณฑ์ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จัดตั้งทัณฑสถานบำบัดพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดและการให้การบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ต้องขังคดียาเสพติดให้โทษ โดยขอใช้เนื้อที่ราว 300 ไร่ เพื่อก่อสร้างทัณฑสถานบำบัดพิเศษราชบุรี มีกำหนด 30 ปี ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2544 ใช้งบประมาณการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ระบบเสริมความมั่นคงในการควบคุมผู้ต้องขัง เป็นเงินทั้งสิ้น 586,223,000 บาท (ห้าร้อยแปดสิบหกล้านสองแสนสองหมื่นสามบันบาทถ้วน) การก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2546 ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้มอบอาคารทัณฑสถานบำบัดพิเศษราชบุรี และอุปกรณ์ทั้งหมดให้เรือนจำกลางราชบุรีเป็นผู้รับผิดชอบดูแลรักษาสถานที่และพัสดุ

ภายในเนื้อที่ 300 ไร่ดังกล่าว ถูกแบ่งการก่อสร้างเป็น 1. สถานที่ควบคุมอบรมและฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง ใช้เนื้อที่ 86 ไร่ 1 งาน 2 ตารางวา กำแพงโดยรอบคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 7 เมตร เป็นรูป 8 เหลี่ยม ตึกอำนวยการสำนักงานและประตูทางเข้าเรือนจำอยู่ทางทิศใต้ ทิศตะวันออกของกำแพงห่างจากภูเขาหินลับ ประมาณ 300 เมตร ด้านทิศเหนือเป็นพื้นที่ป่าสงวน(ป่าเฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวามหาราช เป็นป่าสะเดา) ด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ราบลุ่มปลูกบ้านพักอาศัยของข้าราชการราชทัณฑ์

พื้นที่ภายในทัณฑสถานบำบัดพิเศษ แบ่งพื้นที่ภายในทัณฑสถานไว้ 8 แดน โครงสร้างประกอบด้วย แดนควบคุมผู้ต้องขัง จำนวน 4 แดน มีเรือนนอน มีโรงเลี้ยงอาหาร มีโรงงานฝึกวิชาชีพ และร้านค้าสงเคราะห์ ส่วนแดนพยาบาล แดนสูทกรรม จะมีเรือนนอน แดนการศึกษา และแดนเก็บวัสดุสินค้าจะไม่มีอาคารเรือนนอน รวม 9 แดน ตรงกลางบริเวณจะเป็นที่ว่าง จัดเป็นสนามกลาง มีสำนักงานส่วนควบคุมอยู่ในสุดของเรือนจำ และมีสำนักงานฝ่ายรักษาการณ์อยู่บริเวณหน้าประตูเรือนจำ

2.พื้นที่ปลูกสร้างบ้านพักอาศัยข้าราชการราชทัณฑ์ สังกัดทัณฑสถานบำบัดพิเศษราชบุรี และบริเวณสันทนาการ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 213 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา โดยใช้พื้นที่ด้านทิศตะวันตกของเรือนจำตลอดแนว ด้านหน้าเป็นบ้านพักระดับ 7-8-9 รวม 10 หลัง ต่อไปเป็นอาคารชุดของระดับ 6 -1 รวม 16 ชุด มีสนามกีฬาฟุตบอลติดกับถนนทางเข้าเรือนจำ ปัจจุบันได้ปลูกไม้ผลไว้เต็มพื้นที่ของเรือนจำทั้งหมด

ต่อมา(ราวปี 2546) รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาวเสพติด พ.ศ. 2545 ทำให้จำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดลดลง กรมราชทัณฑ์จึงได้ปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ของทัณฑสถานบำบัดพิเศษที่สร้างใหม่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษราชบุรี เปลี่ยนชื่อเป็น เรือนจำกลางเขาบิน กำหนดเป็นเรือนจำระดับความมั่นคงสูง เพื่อควบคุมผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษสูง และเป็นผู้ร้ายรายสำคัญ มีอัตราความจุมาตรฐาน 1,470 คน อัตราความจุเต็มที่ 3,000 คน อำนาจการควบคุมให้เรือนจำกลางเขาบินควบคุมผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษตั้งแต่ 15 ปี - ตลอดชีวิต เนื่องเพราะเป็นเรือนจำที่มีสภาพความมั่นคงแข็งแรง และได้รับการติดตั้งระบบเสริมความมั่นคงไว้ด้วย จึงกลายมาเป็นเรือนจำกลางเขาบินเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2546 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผู้ที่ผ่านมา ผ่านไป ย่านบริเวณเรือนจำกลางเขาบินนั้น เล่าขานกันว่า เมื่อขับรถใกล้จะถึง เบื้องหน้าจะเป็นเนินเขาลูกใหญ่ ทิวทัศน์สวยงามตามธรรมชาติ แต่หากมองไป จะพบ กำแพงทึบสีขาว สูงใหญ่ ยาวสุดลูกหูลูกตา บนกำแพงยังมีลวดหนาว ขนานไปตลอดทั้งแนว มีป้อมปราการตามหัวมุมเป็นระยะ โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ยืนถือปืนเข้าเวรยามรักษาการณ์ เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความทะมึนทึนและน่าสะพรึงกลัวของทั้งภายนอกและภายในของกำแพงทึบสูงที่ตั้งตระหง่านแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน เรือนจำเขาบิน ใช้คุมขังนักโทษเด็ดขาดที่ต้องคดีจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จนถึงต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงสูง มีเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นตัวช่วยในการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ มีกล้องวงจรปิดติดแทบทุกอาคาร ประตูทุกบานเปิด-ปิดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผู้คุมจะมองเห็นนักโทษได้ทุกซอกทุกมุมของเรือนจำ

แม้เรือนจำกลางเขาบิน จะมีเทคโนโลยี ที่เชื่อว่า ล้ำสมัยกว่าเรือนจำกลางอื่นๆ แต่บรรดาผู้ต้องขัง และญาติผู้ต้องขัง ก็พยายามที่จะนำสิ่งผิดกฎหมายเข้าไปส่งให้นักโทษเสมอๆ กระนั้น ก็ไม่พ้นสายตาของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำกลางเขาบินไปได้ อาทิ เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2553 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประจำเรือนจำกลางเขาบิน ได้ตรวจสอบพบท่อนไม้ บริเวณแนวกำแพงหลังแดน 6 จำนวน 4 ท่อน และพบวัตถุสีดำอีก 1 ก้อน จึงนำมาตรวจสอบ พบว่าภายในท่อนไม้ ถูกผ่ากลาง เจาะเป็นร่อง บรรจุโทรศัพท์มือถือ พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งหมด 15 เครื่อง คาดว่าถูกโยนมาจากนอกกำแพงเรือนจำ นอกเหนือจากการผ่าท่อนไม้เจาะร่องแล้ว ยังพบว่า มีความพยายามที่จะซุกซ่อนโทรศัพท์มือถือ โดยบรรจุไว้ในถังน้ำดื่ม ที่จะถูกส่งเข้าไปในเรือนจำ ซึ่งครั้งนั้น ก็จับได้ถึง 15 เครื่อง หรือแม้แต่ในอุปกรณ์ซ้อมมวยก็ถูกซุกซ่อนมา ซึ่งเรือนจำมีเครื่องสแกนวัตถุโลหะ จึงสามารถจับกุมได้

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ อันเป็นที่ตั้งของเรือนจำกลางเขาบิน ยังเหมาะที่จะติดตั้งอุปกรณ์ตัดสัญญาณทางโทรศัพท์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชน บริเวณโดยรอบเป็นป่าเขา เครื่องตัดสัญญาณดังกล่าว จะไม่ไปรบกวนการใช้โทรศัพท์ของประชาชน เหมือนเรือนจำอื่นๆ ทั่วไป ที่มัดได้รับการร้องเรียนจากชุมชนรอบบริเวณเรือนจำเสมอ

ยังไม่รู้เหตุผลที่แท้จริงของร.ต.อ.เฉลิม ว่า การที่ต้องการย้ายนักโทษในคดียาเสพติดมารวมขังกันอยู่ในที่เดียวนั้น จุดประสงค์หลักเพื่อต้องการอะไร และหากดำเนินการตามนั้นได้ จะสามารถแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการสั่งการที่ออกมาจากนักโทษในเรือนจำได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลต้องการที่จะกำจัดปัญหาดังกล่าวให้ได้ผลเป็นที่ชะงักงัน คงต้องให้กรมราชทัณฑ์"สกรีน"บุคคลากรของกรมเสียใหม่ทั้งหมด เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะหมดไปอย่างแน่นอน

หรือว่า... นี่เป็นแค่เพียงการนำ หนึ่งในผลงานด้านการปราบปรามยาเสพติด มาใช้เป็นการเพิ่มต้นทุนทางสังคม เพื่อใช้ในการหาเสียงครั้งต่อไป !



กำลังโหลดความคิดเห็น