xs
xsm
sm
md
lg

"เรือนจำกลางเขาบิน" ที่คุมขัง(ลับ)เฉพาะนักโทษยาเสพติด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

"เรือนจำกลางเขาบิน เป็นเรือนจำความมั่นคงสูง และเพิ่งติดตั้งเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์เสร็จเรียบร้อย เมื่อ 1 เดือนกว่าที่ผ่านมา มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันการใช้โทรศัพท์ของผู้ต้องขังที่เป็นนักค้ายาเสพติดในเรือนจำได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์"

"นักโทษคดียาเสพติด ที่มีจุดแข็ง คือมีเงินจำนวนมาก ก็จะว่าจ้างนักโทษคดีปล้น ฆ่า ซึ่งใจถึง ไม่กลัวตาย มาเป็นลูกน้อง หรือเรียกว่า "ซามูไร" เป็นมือไม้ คอยจัดหา จัดเก็บหรือซ่อนโทรศัพท์ไว้กับตัว ทำให้เมื่อเจ้าหน้าที่เรือนจำตรวจค้นก็มักจะเจอของกลางที่ลูกน้อง แต่ไม่มีหลักฐานไปถึงนักโทษยาเสพติดรายใหญ่"

เหตุผลสำคัญที่นายกอบเกียรติ กสิวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตอบคำถามของสื่อมวลชน ถึงการย้ายนักโทษที่ต้องคดีค้ายาเสพติด ไปคุมขังในที่เดียวกันยังเรือนจำกลางเขาบิน อันตั้งอยู่เลขที่ 229 หมู่ที่ 6 ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ตามแนวคิดของรัฐบาล โดยเฉพาะร.ต.อ.เฉลิอม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี แม้ไม่ได้กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ ในอาณัติของกระทรวงยุติธรรม แต่ด้วยพลังพาวเวอร์ของร.ต.อ.เฉลิม ก็สามารถที่จะทำให้ กรมราชทัณฑ์ที่มีพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย เป็นอธิบดี ย่อมต้องตอบรับ และเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ แม้ในสายสัมพันธ์ด้านส่วนตัว ก็เชื่อว่า พ.ต.อ.สุชาติ คุ้นเคยกับร.ต.อ.เฉลิม เป็นอย่างดีมาก่อนแล้ว

แน่นอน การคัดแยก และการเคลื่อนย้ายนักโทษ โดยเฉพาะนักโทษในคดีสำคัญ อย่างคดียาเสพติดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เชื่อมั่นว่า กรมราชทัณฑ์ มีความพร้อม และมีมาตรการที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ทีมข่าวอาชญากรรม ASTVผู้จัดการายวัน/ออนไลน์ ขอพาย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของกำเนิด"เรือนจำกลางเขาบิน"กันเล็กน้อย

เดิมที่ดินตรงบริเวณเรือนจำกลางเขาบินนั้น เป็นที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเขาบิน มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 1,475 ไร่ กรมราชทัณฑ์ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จัดตั้งทัณฑสถานบำบัดพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดและการให้การบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ต้องขังคดียาเสพติดให้โทษ โดยขอใช้เนื้อที่ราว 300 ไร่ เพื่อก่อสร้างทัณฑสถานบำบัดพิเศษราชบุรี มีกำหนด 30 ปี ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2544 ใช้งบประมาณการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ระบบเสริมความมั่นคงในการควบคุมผู้ต้องขัง เป็นเงินทั้งสิ้น 586,223,000 บาท (ห้าร้อยแปดสิบหกล้านสองแสนสองหมื่นสามบันบาทถ้วน) การก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2546 ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้มอบอาคารทัณฑสถานบำบัดพิเศษราชบุรี และอุปกรณ์ทั้งหมดให้เรือนจำกลางราชบุรีเป็นผู้รับผิดชอบดูแลรักษาสถานที่และพัสดุ

ภายในเนื้อที่ 300 ไร่ดังกล่าว ถูกแบ่งการก่อสร้างเป็น 1. สถานที่ควบคุมอบรมและฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง ใช้เนื้อที่ 86 ไร่ 1 งาน 2 ตารางวา กำแพงโดยรอบคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 7 เมตร เป็นรูป 8 เหลี่ยม ตึกอำนวยการสำนักงานและประตูทางเข้าเรือนจำอยู่ทางทิศใต้ ทิศตะวันออกของกำแพงห่างจากภูเขาหินลับ ประมาณ 300 เมตร ด้านทิศเหนือเป็นพื้นที่ป่าสงวน(ป่าเฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวามหาราช เป็นป่าสะเดา) ด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ราบลุ่มปลูกบ้านพักอาศัยของข้าราชการราชทัณฑ์

พื้นที่ภายในทัณฑสถานบำบัดพิเศษ แบ่งพื้นที่ภายในทัณฑสถานไว้ 8 แดน โครงสร้างประกอบด้วย แดนควบคุมผู้ต้องขัง จำนวน 4 แดน มีเรือนนอน มีโรงเลี้ยงอาหาร มีโรงงานฝึกวิชาชีพ และร้านค้าสงเคราะห์ ส่วนแดนพยาบาล แดนสูทกรรม จะมีเรือนนอน แดนการศึกษา และแดนเก็บวัสดุสินค้าจะไม่มีอาคารเรือนนอน รวม 9 แดน ตรงกลางบริเวณจะเป็นที่ว่าง จัดเป็นสนามกลาง มีสำนักงานส่วนควบคุมอยู่ในสุดของเรือนจำ และมีสำนักงานฝ่ายรักษาการณ์อยู่บริเวณหน้าประตูเรือนจำ

2.พื้นที่ปลูกสร้างบ้านพักอาศัยข้าราชการราชทัณฑ์ สังกัดทัณฑสถานบำบัดพิเศษราชบุรี และบริเวณสันทนาการ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 213 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา โดยใช้พื้นที่ด้านทิศตะวันตกของเรือนจำตลอดแนว ด้านหน้าเป็นบ้านพักระดับ 7-8-9 รวม 10 หลัง ต่อไปเป็นอาคารชุดของระดับ 6 -1 รวม 16 ชุด มีสนามกีฬาฟุตบอลติดกับถนนทางเข้าเรือนจำ ปัจจุบันได้ปลูกไม้ผลไว้เต็มพื้นที่ของเรือนจำทั้งหมด

ต่อมา(ราวปี 2546) รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาวเสพติด พ.ศ. 2545 ทำให้จำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดลดลง กรมราชทัณฑ์จึงได้ปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ของทัณฑสถานบำบัดพิเศษที่สร้างใหม่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษราชบุรี เปลี่ยนชื่อเป็น เรือนจำกลางเขาบิน กำหนดเป็นเรือนจำระดับความมั่นคงสูง เพื่อควบคุมผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษสูง และเป็นผู้ร้ายรายสำคัญ มีอัตราความจุมาตรฐาน 1,470 คน อัตราความจุเต็มที่ 3,000 คน อำนาจการควบคุมให้เรือนจำกลางเขาบินควบคุมผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษตั้งแต่ 15 ปี - ตลอดชีวิต เนื่องเพราะเป็นเรือนจำที่มีสภาพความมั่นคงแข็งแรง และได้รับการติดตั้งระบบเสริมความมั่นคงไว้ด้วย จึงกลายมาเป็นเรือนจำกลางเขาบินเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2546 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผู้ที่ผ่านมา ผ่านไป ย่านบริเวณเรือนจำกลางเขาบินนั้น เล่าขานกันว่า เมื่อขับรถใกล้จะถึง เบื้องหน้าจะเป็นเนินเขาลูกใหญ่ ทิวทัศน์สวยงามตามธรรมชาติ แต่หากมองไป จะพบ กำแพงทึบสีขาว สูงใหญ่ ยาวสุดลูกหูลูกตา บนกำแพงยังมีลวดหนาว ขนานไปตลอดทั้งแนว มีป้อมปราการตามหัวมุมเป็นระยะ โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ยืนถือปืนเข้าเวรยามรักษาการณ์ เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความทะมึนทึนและน่าสะพรึงกลัวของทั้งภายนอกและภายในของกำแพงทึบสูงที่ตั้งตระหง่านแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน เรือนจำเขาบิน ใช้คุมขังนักโทษเด็ดขาดที่ต้องคดีจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จนถึงต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงสูง มีเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นตัวช่วยในการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ มีกล้องวงจรปิดติดแทบทุกอาคาร ประตูทุกบานเปิด-ปิดด้วยระบบอีเล็คโทรนิก ผู้คุมจะมองเห็นนักโทษได้ทุกซอกทุกมุมของเรือนจำ

แม้เรือนจำกลางเขาบิน จะมีเทคโนโลยี ที่เชื่อว่า ล้ำสมัยกว่าเรือนจำกลางอื่นๆ แต่บรรดาผู้ต้องขัง และญาติผู้ต้องขัง ก็พยายามที่จะนำสิ่งผิดกฏหมายเข้าไปส่งให้นักโทษเสมอๆ กระนั้น ก็ไม่พ้นสายตาของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำกลางเขาบินไปได้ อาทิ เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2553 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประจำเรือนจำกลางเขาบิน ได้ตรวจสอบพบท่อนไม้ บริเวณแนวกำแพงหลังแดน 6 จำนวน 4 ท่อน และพบวัตถุสีดำอีก 1 ก้อน จึงนำมาตรวจสอบ พบว่าภายในท้อนไม้ ถูกผ่ากลาง เจาะเป็นร่อง บรรจุโทรศัพท์มือถือ พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งหมด 15 เครื่อง คาดว่าถูกโยนมาจากนอกกำแพงเรือนจำ นอกเหนือจากการผ่าท่อนไม้เจาะร่องแล้ว ยังพบว่า มีความพยายามที่จะซุกซ่อนโทรศัพท์มือถือ โดยบรรจุไว้ในถังน้ำดื่ม ที่จะถูกส่งเข้าไปในเรือนจำ ซึ่งครั้งนั้น ก็จับได้ถึง 15 เครื่อง หรือแม้แต่ในอุปกรณ์ซ้อมมวยก็ถูกซุกซ่อนมา ซึ่งเรือนจำมีเครื่องสแกนวัตถุโลหะ จึงสามารถจับกุมได้

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ อันเป็นที่ตั้งของเรือนจำกลางเขาบิน ยังเหมาะที่จะติดตั้งอุปกรณ์ตัดสัญญาณทางโทรศัพท์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชน บริเวณโดยรอบเป็นป่าเขา เครื่องตัดสัญญาณดังกล่าว จะไม่ไปรบกวนการใช้โทรศัพท์ของประชาชน เหมือนเรือนจำอื่นๆทั่วไป ที่มัดได้รับการร้องเรียนจากชุมชนรอบบริเวณเรือนจำเสมอ

ยังไม่รู้เหตุผลที่แท้จริงของร.ต.อ.เฉลิม ว่า การที่ต้องการย้ายนักโทษในคดียาเสพติดมารวมขังกันอยู่ในที่เดียวนั้น จุดประสงค์หลักเพื่อต้องการอะไร และหากดำเนินการตามนั้นได้ จะสามารถแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการสั่งการที่ออกมาจากนักโทษในเรือนจำได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยต้องการที่จะกำจัดปัญหาดังกล่าวให้ได้ผลเป็นที่ชะงักงัน คงต้องให้กรมราชทัณฑ์"สกรีน"บุคคลากรของกรมเสียใหม่ทั้งหมด เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะหมดไปอย่างแน่นอน

หรือว่า... นี่เป็นแค่เพียงการนำ หนึ่งในผลงานด้านการปราบปรามยาเสพติด มาใช้เป็นการเพิ่มต้นทุนทางสังคม เพื่อใช้ในการหาเสียงครั้งต่อไป !





ห้องสมุดที่ทางมสธ.ไปจัดสร้างให้
มุมให้ผู้ต้องขังศึกษากฏหมาย
มุมคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ได้ติดอินเตอร์เน็ท
ท่อนไม้ที่ถูกขว้างมาจากนอกกำแพง
เมื่อผ่าดู ก็พบโทรศัพท์และอุปกรรืถึง 15 เครื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น