xs
xsm
sm
md
lg

10ประเทศถอนเตือนภัย เหลิมโวมีข้อมูลติดตาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวานนี้ (2 ก.พ.) นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ได้ตั้งกระทู้ถามสด เรื่องความคืบหน้าการดำเนินคดีกับผู้ก่อการร้าย และมาตรการการตรวจสอบ และป้องกันเพื่อสกัดมิให้ผู้ก่อการร้ายสากลเข้ามายังราชอาณาจักรไทย โดยถามนายกรัฐมนตรี ว่า เหตุการณ์การจับกุมตัวผู้ก่อการร้าย ฮิซบอลเลาะห์ มีการจับกุมตัว และพาไปค้นบ้านเช่า พบว่ามีเคมีภัณฑ์ สารตั้งต้นทำระเบิดจำนวนมาก แต่ตอนนี้เรื่องเงียบหายไป จึงอยากทราบความคืบหน้าว่า คดีนี้การสืบสวน สอบสวน ขยายผลไปถึงไหน อย่างไร
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี ว่า เหตุการณ์นี้ เกิดจากการที่สหรัฐฯ เข็ดเขี้ยวกลุ่ม ฮิสบอลเลาะห์ ซึ่งมีความเคลื่อนไหวมานานแล้ว และมีแหล่งข่าวแจ้งมาตลอดว่า มีผู้ไม่หวังดีต่อรัฐบาล จนเดือน ธ.ค.54 มีการจับกุมตัว นายอาทริส อุซเซน ซึ่งเข้ามาทางสนามบินสุวรรณภูมิ จากประเทศอิสราเอล ตนจึงได้สั่งในทางลับ ให้ติดตามความเคลื่อนไหว และควบคุมตัว ตาม พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง มาตรา 12 (7) เมื่อพบว่าไม่มีความผิด ก็ปล่อยตัวไป
จนกระทั่งวันที่ 12 ธ.ค.54 ไปตรวจพบเคมีภัณฑ์ในบ้านพักที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีผู้ก่อการร้ายอีก 1 คนหลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ตำรวจจึงได้จับกุมตัว นายอาทีส นำไปฝากขังไว้ที่ศาลอาญารัชดา ในความผิดครอบครองยุทธภัณฑ์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทราบว่า มีการเตรียมการมาประกอบระเบิดที่เมืองไทย เพื่อนำไปก่อเหตุที่ประเทศอื่น
นายศุภชัย ถามต่อว่า บ้านเมืองของเราให้ความสำคัญต่อการต่อต้านการก่อการร้ายแค่ไหน รัฐบาลไทยมีวิธีคิด มีวิธีการคัดกรองผู้ก่อการร้ายเข้าสู่ราชอาณาจักรไทย ผ่านทางสนามบินสุวรรณภูมิ อย่างไร มีการดักก่อนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ไม่ใช่ปล่อยให้มาเช่าบ้าน ซื้อปุ๋ยยูเรียจำนวนมากมายมหาศาล เจ้าหน้าที่ไทยมีวิธีแจ้งเตือนเหมือนนานาชาติ ที่สามารถรู้ตัวผู้ก่อการร้ายที่กำลังจะบินเข้ามาในประเทศไทย หรือไม่
ร.ต.อ.เฉลิม ชี้แจงว่า บางครั้งเราก็ได้ข้อมูลจากตำรวจสากล (อินเทอร์โพล) ถ้าเราทราบ ก็จะนำรูปไปยังด่านตรวจ เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าประเทศ แต่ในประเด็นเรื่องการก่อการร้าย เราจะไม่เอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง หากเหตุไม่เกิดขึ้นในประเทศของเรา ก็ต้องปล่อยไป แต่ขอบอกว่าเรามีมาตรการของตำรวจ สำนักข่าวกรอง ขอให้มั่นใจรัฐบาล พร้อมเผชิญปัญหา แต่จะไม่เอาประเทศไทยไปเป็นคู่ขัดแย้ง
นายศุภชัย กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรี ตอบไม่ตรงคำถาม ตนอยากทราบว่าในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมประชุมเอเปก มีการพูดถึงเรื่องการแจ้งข้อมูลทางอากาศยาน ตรงนี้จะรู้ตัวว่ามีผู้ก่อการร้ายเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยได้มีพัฒนาเรื่องนี้หรือไม่ หากมีคนร้ายเข้ามาจริง จะสามารถสกัดไม่ให้เข้าประเทศได้หรือไม่
ส่วนที่บอกว่า ไม่อยากยุ่ง เพราะประเทศไทยไม่ใช่พื้นที่ก่อเหตุ แต่ที่ผ่านมาก็มีเหตุเกิดขึ้นให้เห็น ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีเครื่องมือ รู้เขา รู้เรา รู้ข้อมูล ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นแดนสวรรค์ แต่ตอนนี้พบว่ากลายเป็นแหล่งกบดานของผู้ก่อการร้าย เรื่องนี้ต้องเอาจริง
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการด้านการลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้ หากคนถามกระทู้อยากรู้รายละเอียด ให้มาถามเป็นการส่วนตัว ตนจะอธิบายให้ฟังอย่างละเอียด เพราะหากเปิดเผยไปตอนนี้จะทำให้ผู้ก่อการร้ายรู้ และสามารถปรับตัว
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ รวม 21 ประเทศ ประกาศเตือนภัยผูก่อการร้ายในประเทศไทย แต่หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปประเทศจีน ต่อมาประเทศจีนได้ถอนประกาศ รวมทั้งสหรัฐฯ และอื่นๆรวม 8 ประเทศ ก็ถอนประกาศเตือน เหลือแค่ 13 ประเทศเท่านั้น
ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นเจ้าภาพอาหารรกลางวัน และหารือร่วมกับ คณะเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย 7 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย ไอร์แลนด์ สวีเดน กรีซ อิตาลี สหราชอาณาจักร และโรมาเนีย ในการชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการประกาศเตือนระวังการก่อการร้ายในประเทศไทย โดยมี นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการหารือด้วย
นายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยผลการหารือ และการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการออกคำประกาศเตือนอาจมีการก่อการร้ายในไทยว่า ล่าสุดมีประเทศที่ยังประกาศเตือน 12 ประเทศ คือไอซ์แลนด์ สวีเดน กรีซ อิตาลี อังกฤษ โรมาเนีย ญี่ปุ่น ใต้หวั่น เกาหลี แคนาดา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ส่วนประเทศถอนคำประกาศเตือนแล้ว 10 ประเทศ และทราบว่า ประเทศอังกฤษ สวีเดน เยอรมนี ได้ถอนคำประกาศดังกล่าวแล้ว และไม่ได้ออกเป็นคำเตือน แต่เป็นการแจ้งข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ให้คนชาติของตนทราบ ซึ่งทุกประเทศที่เชิญมา พอใจพัฒนาการที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเชื่อว่า การที่สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล ปรับคำเตือนแล้ว จะทำให้ประเทศต่างๆ สบายใจมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี
นายเจษฎา กล่าวด้วยว่า ในวันนี้ (3 ก.พ.) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จะเชิญคณะเอกอัครราชทูตต่างประเทศ ประจำประเทศไทย มาฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการเดินทางเยือนอินเดีย และการประชุมเศรษฐกิจโลก ที่เมืองดาวอส ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่าง 24-29 ม.ค.ที่ผ่านมา และจะใช้โอกาสนี้ ชี้แจงพัฒนาการล่าสุดและทำความเข้าใจกับประเทศที่ยังคงคำประกาศเตือนก่อการร้ายในไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น