xs
xsm
sm
md
lg

"ปู"หน้าแตกไร้คนฟัง-ต้อนหน้าม้าก่อนจ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ไม่รู้จะโทษว่าใครไร้น้ำยา ระหว่างนายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ กับนายกฯยิ่งลักษณ์ หลังจัดงานปาฐกถา “ถอดรหัส GDPปี 55” แต่ไม่มีใครเข้าฟัง ทำทีมงานต้องวิ่งวุ่น เกณฑ์ทั้งสื่อ-ช่างภาพ-ผู้ช่วยกล้อง-นักศึกษา เป็นหน้าม้านั่งฟัง หวังไม่ให้ "ปู" หน้าแตก ก่อนปั้นสีหน้าขึ้นปาฐกถา ชี้ ปี 55 ศก.ผันผวน ด้าน กยอ. เผยไทยได้เวลายกเครื่องประเทศครั้งใหญ่ กำหนดทิศทางประเทศและการพัฒนาอุตสาหกรรมที่โดดเด่นก่อนนักลงทุนต่างชาติย้ายฐานหนี หลังไทยหมดเสน่ห์ ตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติลดเฉลี่ยปีละ 7%

วานนี้ (1 ก.พ.) สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ถอดรหัส GDPปี 55” ที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี โดยเชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “มุมมองเศรษฐกิจ ปี 55”

ทั้งนี้ คณะผู้จัดงานได้วางกำหนดการไว้ว่า จะให้นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ในเวลา 10.10 น.

แต่ปรากฏว่า เมื่อนายกรัฐมนตรี เดินทางไปถึงตามเวลาที่กำหนด กลับไม่สามารถขึ้นกล่าวเปิดงานได้ เนื่องจากแขกรับเชิญที่สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจแจ้งต่อทีมงานนายกรัฐมนตรีว่า จะมีผู้มาร่วมรับฟังประมาณ 400 คนนั้น ส่วนใหญ่ที่มานั่งในห้องนภาลัย ล้วนแต่เป็นผู้สื่อข่าวสายการเมืองประจำทำเนียบรัฐบาล ที่ติดตามทำข่าวภารกิจของนายกฯ ในทุกๆวัน อีกส่วนเป็นผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ ที่รวมกันแล้วไม่ถึง 50 คน ขณะที่ตัวแทนภาคธุรกิจ เอกชนหลักๆ ที่คิดว่าจะมาฟังวิสัยทัศน์ของนายกฯ กลับแทบไม่มีใครมาร่วมงานเลย

ส่งผลให้บรรยากาศในห้องนภาลัย ที่จัดเก้าอี้ไว้ 400 ที่นั่ง โล่ง โหวงเหวง ทำให้ทางทีมรักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่จากสำนักนายกรัฐมนตรี และนายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่โรงแรม ต้องวิ่งกันพล่าน สุดท้ายก็ต้องมาขอความร่วมมือ ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ และ ผู้ช่วยสื่อมวลชน เข้าไปนั่งเก้าอี้ที่จัดเตรียมไว้ อย่างโกลาหล เพื่อให้เห็นว่า มีแขกเข้ารับฟังการปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี แต่ทางช่างภาพก็ปฏิเสธที่จะไปนั่งเป็นหน้าม้าให้ เนื่องจากต้องปฏิบัติหน้าที่ ถ่ายภาพข่าว ทำให้เจ้าภาพผู้จัดงาน และเจ้าหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรี ต้องไปเกณฑ์พนักงานของโรงแรมบางส่วน นักศึกษาฝึกงาน มานั่งเก้าอี้ที่จัดไว้ โดยเน้นให้ไปนั่งด้านหน้า เพื่อให้ภาพออกมาดูไม่น่าเกลียด

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นายกรัฐมนตรี นั่งรอในห้องรับรองพิเศษอยู่นาน ทีมงานนายกรัฐมนตรี ได้ส่งสัญญาณให้นายกรัฐมนตรี เดินเข้ามายังห้องนภาลัย เพื่อขึ้นเปิดงาน และกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในเวลา10.30 น. โดยทีมงานนายกรัฐมนตรี ล้วนแต่ออกอาการเซ็งๆ ที่เจ้าภาพจัดงานไม่ยืนยันแขกที่เข้าร่วมงาน ขณะที่นายกรัฐมนตรี เมื่อรู้ว่ามีแขกเข้าร่วมรับฟังมีจำนวนน้อย ไร้นักธุรกิจหลักมานั่งฟัง ก็พยายามเก็บอาการ ไม่ได้แสดงออกถึงความไม่พอใจ ผู้จัดงาน พร้อมกับระบุว่า ก็ถือว่ามาพูดให้นักข่าวฟัง และขึ้นกล่าวปาฐกถา ตามที่เจ้าภาพเชิญตามปกติ

** ปี55 เศรษฐกิจ ค่าเงิน ผันผวน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “มุมมองเศรษฐกิจไทยปี 55” ว่า ปีนี้ ทุกฝ่ายให้ความสนใจ ทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทั้งเศรษฐกิจโลก หรือเศรษฐกิจในประเทศ เพราะปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงค่าเงิน จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น หลายๆประเทศได้ประสบคล้ายคลึงกัน เพราะฉะนั้นการเกิดเหตุการณ์ต่างๆในปีนี้ ทุกคนควรจะต้องตื่นตัว และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อจะกลับมาดูว่าจะปรับตัวเองอย่างไร เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้

" ปีนี้ถือเป็นปีของความท้าทาย เป็นปีของการฟื้นฟูความมั่นใจ เป็นปีของการแข่งขัน และรวมพลังของคนในชาติทั้งหมด เพื่อกอบกู้ความมั่นใจทั้งหมดกลับคืนมา" นายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยขณะนี้ เราพึ่งเศรษฐกิจโลกมากว่าเศรษฐกิจในประเทศ ฐานจีดีพีของเราประมาณ 10ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากสัดส่วนรายได้การส่งออก คือ 70 % เป็นการพึ่งเศรษฐกิจโลก ส่วนอีก 20 % มาจากการบริโภคในประเทศ หรือการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมตัวว่า จะทำอย่างไรถ้าเศรษฐกิจโลกเกิดความผันผวน ซึ่งความผันผวนนั้นเกิดตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในสหรัฐอเมริกา วันนี้เกิดในยุโรป โดยเราอยู่ปลายทาง ต้องดูว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ เป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ต้องกลับมาดูในประเทศไทยว่า เราต้องปรับตัวเองอย่างไร ให้เตรียมการที่จะทำให้ประเทศแข็งแรง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้เตรียมการมามากเหมือกัน ทั้งเรื่องของการส่งออกไปยังประเทศอื่น โดยไม่พึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯหรือยุโรป

** ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงที่กระทบศก.
 

นายกฯ กล่าวต่อว่า ปีนี้ปัจจัยเสี่ยงที่น่าจับตามองสำหรับเศรษฐกิจไทยมี 3 ปัจจัย คือ 1. ความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งในเวทีเวิลด์ อิโคโนมิก ฟรอรั่ม ประเด็นนี้เป็นหัวข้อที่ทุกประเทศให้ความสนใจ และไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ซึ่งหลายประเทศเชื่อว่า จะไม่จบลงง่ายๆ และยังไม่สามารถสรุปได้ และทุกประเทศเชื่อว่า จะมีผลกระทบแน่นอน เพราฉะนั้นจึงหันหลับมาดูในประเทศของตัวเอง โดยการพึ่งเศรษฐกิจในประเทศของตัวเอง และความหวังของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ คือ ทุกประเทศหวังในตัวคนรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงต้องสร้างพลังของคนรุ่นใหม่

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เชื่อว่าความเปราะบางนี้จะมีผลกระทบต่อการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวของไทย และขณะนี้สิ้นค้าของไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป 19 % ของมูลค่าการส่งออก ส่วนนักท่องเที่ยวมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 30 % ซึ่งถือว่ามากทีเดียว ที่ได้รับผลกระทบถ้าการแก้ปัญหาไม่ลงตัว ซึ่งของไทยจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่โดยตรง อาจะเป็นเพียงปลายทางของห่วงโซ่ ผลกระทบนั้น

อย่างไรก็ตามมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่เจอปัญหาสึนามิ แต่ขณะนี้ ญี่ป่นได้เริ่มกลับมามีบรรยากาศที่ดีขึ้น ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเองถือว่าเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย ก็เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น และคาดว่าตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าไว้ว่าตลาดส่งออกของญี่ปุ่นน่าจะดีขึ้น ถึง 5 % ก็เชื่อว่าจะเป็นไปได้

สำหรับปัจจัยที่ 2 คือ ความผันผวนของค่าเงินบาท ที่น่าจะมีส่วนในการย้ายกระแสการไหลเข้าออกการลงทุนจากหลายประเทศ ก็มีผลต่อค่าเงินบาท ซึ่งอาจจะกลับมาเป็นปัจจัยบวกในเรื่องตลาดส่งออก ทำให้เราได้เปรียบทางการค้ากลับมา

ปัจจัยความเสี่ยงที่ 3 คือ ภัยธรรมชาติ ซึ่งภัยธรรมชาติไม่ได้เกิดกับประเทศไทยเพียงอย่างเดียวแต่เป็นปัญหาของทุกประเทศในอาเซียน ซึ่งทุกประเทศต้องปรับตัวรับมือกับภัยธรรมชาติ

ส่วนของประเทศไทยมีแผนรับมือเรื่องนี้โดยการออก พ.ร.ก.ขึ้นมา เพื่อกู้เงินมาบริหารจัดการน้ำในเบื้องต้น 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งไม่รวมกับเงินที่รัฐบาลลดค่าใช้จ่ายมาเป็นการเยียวยา และการแก้ปัญหาฉุกเฉิน 1.2 แสนล้านบาท เราจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.อย่างเร่งด่วน เพราะเพื่อสร้างความมั่นใจ ทั้งคนในชาติ และนักลงทุนต่างชาติ เพราะถ้าเขาไม่เห็นแผนที่ชัดเจน เขาจะไม่เห็นสิ่งที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม

วันนี้สิ่งที่เป็นห่วงคือ การย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศอื่นที่เป็นคู่แข่งของเรา จึงเป็นที่มาว่า ทำไมรัฐบาลต้องเร่งออก พ.ร.ก. เพื่อสร้างวามมั่นใจ เราไม่อยากเห็นความเจ็บปวดเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก

** ตั้งเป้าปีนี้ จีดีพีโต 5 %
 

นายกฯ กล่าวต่อไปอีกว่า ถ้าประเทศไทยต้องพึ่งเศรษฐกิจต่างประเทศ ร่วมกับ 3 ปัจจัยเสี่ยง เราต้องเตรียมพร้อม ซึ่งปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าให้ จีดีพี โตอยู่ที่ 5 % โดยคาดว่าน่าจะมาจากภาคการส่งออกที่มีการกระจายความเสี่ยง โดยไม่พึ่งตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยูโรปมากเกินไป แต่เราจะพุ่งไปยังตลาดส่งออกตะวันออกกลาง อินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น รวมถึงประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ อย่างประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และ ญี่ปุ่น คงต้องใช้ประโยชน์ทางโครงสร้างภาษีมากที่สุด

ขณะเดียวกันพื้นฐานทางด้านเกษตรกรรมของไทย ต้องมีการปรับและให้มีการยกระดับการแข่งขันด้วย ที่จะต้องทำควบคู่กันไป ซึ่งต้องทำงานในเชิงรุก และรัฐบาลจะต้องเร่งเคลียร์ข้อตกลง เอฟทีเอ ที่ค้างอยู่ทั้งหลาย เช่น ประเทศอินเดีย ช่วงที่เดินทางไปได้เซ็นสัญญาเพิ่มอีก 1 รายการ ซึ่งมีแผนตั้งเป้าว่าจะต้องมีการเคลียร์เอฟทีเอทุกอย่างให้เสร็จในกลางปีนี้ และเชื่อว่าหากมีการเจรจาเอฟทีเอได้เยอะ ก็จะเป็นประโยชน์ทางการค้าขายของไทย

นอกจากภาคการส่งออกแล้ว ยังมีเรื่องของภาคการลงทุนที่จะเน้นเรื่องของเส้นทางคมนาคม ซึ่งจุดเด่นของประเทศไทยคือ พื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ และเกษตรกรรม รวมถึงพื้นฐานคน และพื้นฐานโครงสร้างประเทศ ซึ่งเราเชื่อมั่นว่ามีพื้นฐานที่ดี ขณะเดียวกันหลายประเทศมองว่าประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางที่ได้เปรียบประเทศอื่น ซึ่งเราเชื่อมต่อกับภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นจึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งของนักลงทุน ที่ประกอบกิจการในประเทศไทย นักลงทุนยังมองไทยเป็นศูนย์กลางในการลงทุน และเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเด็นนี้เราจะพูดมากขึ้นในช่วงการเปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้นเราต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปอีกหลายประเทศ ที่มีการเจริญทางด้านการค้า และการลงทุน

*** เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเริ่มหด
 

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่องถอดรหัสGDP ปี2555 ว่า สัญญาณที่น่าจะเป็นห่วงว่าความน่าสนใจลงทุนของไทยในสายตาต่างชาติได้ลดลงแล้ว จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2547-2552 เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)มาไทยลดลงเฉลี่ยปีละ 7% จากเดิมที่มีส่วนแบ่งตลาดอาเซียนอยู่ที่ 17% ลดลงเหลือแค่ 6%ในปี 2553-2554

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งในอาเซียนที่มีอัตราFDI สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนต่างชาติหันไปลงทุนในอินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สิงคโปร์ยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดประเทศที่มีเม็ดเงินลงทุนFDI สูงสุดอยู่ที่ 48% รองลงมาคือ อินโดนีเซีย 21% มาเลเซีย 12 % เวียดนาม 10% และไทย 6%

โดยรายละเอียดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ(FDI)ตั้งแต่ปี 2547-2552 พบว่ามีเม็ดเงินFDIไหลเข้าอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 40% มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 12% เวียดนามเพิ่มขึ้น 26% ฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 17% และสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 8%

*** ยกเครื่องครั้งใหญ่ดึงเงินต่างชาติ


นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องมีการเพื่อยกเครื่องประเทศครั้งใหญ่ รวมทั้งกำหนดทิศทางของประเทศไทยในระยะกลาง-ยาว เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ก่อนที่นักลงทุนต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทน โดยไทยต้องอาศัยความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน โครงสร้างพื้นฐานและซัปพลายเชนที่ดี ในการดึงดูดนักลงทุน

รวมทั้งรัฐบาลจะต้องกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องการเติบโตในอนาคต เหมือนหลายประเทศในอาเซียนที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์เอาไว้แล้ว เช่น มาเลเซีย ที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมใน 12 sector อินโดนีเซียวางเป้าหมายการเป็นผู้ผลิต Low Cost Automotive ฟิลิปปินส์จะเป็น Service Outsourse และสิงคโปร์เป็นTrade และFinance Hub เป็นต้น โดยมองว่าอุตสาหกรรมที่ไทยน่าจะเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ คือ ไบโอพลาสติก ช่วยต่อยอดธุรกิจเกษตรของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น