xs
xsm
sm
md
lg

คสรท.จวก “เพื่อไทย” ขรก.-แรงงานต้องไม่สองมาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาววิไลพร จิตรประสาร คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ออกแถลงการณ์ ระบุว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ได้ประกาศนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปี 2554 โดยการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างความสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ดำเนินการให้แรงงานมีรายได้วันละ 300 บาท ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้เดือนละ 15,000 บาท ภายในวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติอุทกภัย คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เลื่อนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาทุกข์ผู้ประกอบการ โดยให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 39.5% นำร่อง 7 จังหวัด และปรับให้ครบทุกจังหวัดในวันที่ 1 มกราคม 2556 และไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำอีกเป็นเวลา 2-3 ปี
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เห็นว่า พฤติกรรมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแสดงเจตนาไม่ปฏิบัติตามนโยบายของตนเองที่ได้ให้สัญญาประชาคมไว้กับผู้ใช้แรงงานกว่า 37 ล้านคน เพียงเมื่อมีเสียงคัดค้านจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรม พรรคเพื่อไทยได้กลับคำแถลงเปลี่ยนแปลงนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายได้ ทั้งยังฉวยสถานการณ์ภัยพิบัติอุทกภัยซ้ำเติมผู้ใช้แรงงานที่เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ยังชีพจากค่าล่วงเวลาและได้รับเงินเดือนไม่ครบ ด้วยการเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และจะไม่ปรับขึ้นค่าจ้างอีก 2-3 ปี ในทางกลับกัน สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รวมทั้งสถานประกอบการนอกเขตภัยพิบัติน้ำท่วม ต่างได้รับประโยชน์จากการเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ขอย้ำจุดยืนต่อนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้
1.) ให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ โดยทันที โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมในมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำ ตามหลักการตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศจะต้องเป็นค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี รวมทั้งคำนึงถึงความเสมอภาคของแรงงานกับข้าราชการ ที่มีอัตราเงินเดือนเท่ากันทั่วประเทศ
2.) คัดค้านมติคณะกรรมการไตรภาคี ในการไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2-3 ปี ภายหลังการปรับค่าจ้าง 300 บาท และให้มีโครงสร้างค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และมีการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีทุกสถานประกอบการ
3.) รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น ค่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงานโดย คสรท. เดือนสิงหาคม 2554 พบว่ามีค่าใช้จ่ายวันละ 561.79 บาท
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ขอย้ำเตือนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่า การไม่รักษาสัจจะประชาธิปไตย จะเป็นจุดเริ่มของความเสื่อมศรัทธาต่อพรรคเพื่อไทย บทเรียนประชาธิปไตยที่ผ่านมาได้ตอกย้ำว่า เราไม่อาจปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง ไม่อาจปล่อยให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นของข้าราชการ ในขณะที่ผู้ใช้แรงงานเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ที่ดำรงสัมมาชีพอยู่ในโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียมนี้
ทั้งนี้ หากไม่มีการปฏิบัติตามข้อเสนอข้างต้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จะทำการรณรงค์เคลื่อนไหวกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น