xs
xsm
sm
md
lg

จีนกับการตอบโจทย์ 3 ข้อ

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

เศรษฐกิจจีนปี ค.ศ. 2011 โตอีก 9.2% จากอัตราเจริญเติบโตที่ลดหลั่นกันลงมาในแต่ละไตรมาส ( 9.7% 9.5% 9.1% 8.9% ) เทียบกับปีก่อน (10.3%) ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่เทียบกับประเทศอื่นก็นับว่าสูงมาก ทั้งนี้ทางการจีนยังบอกว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นการปรับฐานของเศรษฐกิจจีน ตามแผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 12 (2011—2015) ทำการปรับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีน เพื่อพลิกเศรษฐกิจจีนให้ก้าวไปสู่สภาวะใหม่ ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการนำประเทศจีนบรรลุสู่ความเป็นประเทศนวัตกรรมแบบใหม่ (ช่วงซินสิงกั๋วเจีย) และสังคม “อยู่ดีกินดี มั่งมีศรีสุข” (เฉวียนเมี่ยนเสี่ยวคังเซ่อฮุ่ย) ในปี ค.ศ. 2020

มองในมุมของเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจจีนเริ่มทำ “ซอฟต์แลนดิ้ง” ได้แล้ว ไม่ได้ “ปักหัวทิ่มดิน” ตามที่หลายๆ ฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ อีกทั้งยังควบคุมดัชนีราคาผู้บริโภคไว้ได้โดยพื้นฐาน นั่นหมายถึงว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวต่อไปได้ค่อนข้างเร็ว และอย่างมีเสถียรภาพ โดยไม่มีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อ

ออกจะเป็นภาพที่สดสวยอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับอนาคตอึมครึมของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป ที่ยังดิ้นขลุกขลักอยู่ในปลักของวิกฤตการเงิน วนอยู่ในอ่าง มีผลให้ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่หันมา “มองจีน” เมินเสียแล้วซึ่ง “ฉันทมติวอชิงตัน” กระทั่งมีเสียงเสนอประปรายแล้วว่า แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว ก็ยังจำเป็นต้อง “มองจีน” นำเอาแนวคิดวิธีการพัฒนาประเทศของจีนมาปรับใช้กับตน

น่าคิดอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่คนไทยต้องคิดตาม และพยายามปรับตัวเองให้พร้อมเสมอ สำหรับขับเคลื่อนตัวเองร่วมไปกับประเทศจีน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนเป็นแบบสังคมนิยม มีองค์ประกอบสองส่วนที่สำคัญยิ่ง คือ ระบบเศรษฐกิจพื้นฐาน (กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของรัฐหรือส่วนรวมเป็นหลักใหญ่ รายได้ของประชาชนมาจากค่าตอบแทนการใช้แรงงานเป็นหลักใหญ่) และเศรษฐกิจตลาดในระบอบสังคมนิยม หรือ “เศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน” ขับเคลื่อนด้วย “สองมือ” คือ มือที่มองเห็น (กลไกอำนาจรัฐ) และ มือที่มองไม่เห็น (กลไกตลาด) ขณะที่ประเทศทุนนิยมตะวันตกหรือประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นระบบเศรษฐกิจตลาดแบบทุนนิยม กลไกอำนาจรัฐตกอยู่ในการควบคุมของกลุ่มทุนผูกขาดหรือกลุ่มทุนสามานย์ กลไกตลาดทำงานไม่ได้เต็มที่ หย่อนประสิทธิภาพ อันเป็นเหตุให้เกิดวิกฤตซ้ำซากเป็นวงจรอุบาทว์

ความแตกต่างในระดับโครงสร้างเช่นนี้ ทำให้การ “เอาอย่าง” จีน กลายเป็นเรื่องยาก แต่ก็จำเป็นต้องคลำเป้า “หาโจทย์” ให้เจอ แล้วบังคับตนเองให้ปรับเปลี่ยนไปสู่สภาวะที่พร้อมจะปฏิบัติการ “ตอบโจทย์” ได้อย่างตรงเป้า

ในทัศนะของผู้เขียน โจทย์มีสองประเภท คือ โจทย์ร่วม และ โจทย์เฉพาะ โจทย์ร่วมเป็นโจทย์ข้อเดียวกันกับจีนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เรียกเท่ๆ ว่า “โจทย์แห่งยุคสมัย” หรือ “โจทย์ร่วมสมัย” ประกอบด้วย 1. สันติภาพ 2. การพัฒนา 3. ประชาธิปไตยประชาชน

โดยผู้เขียนขยายความหรือต่อยอดจากข้อวินิจฉัยของเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า โจทย์ใหญ่ (จู่ถี) ของยุคสมัยปัจจุบัน ก็คือ สันติภาพและการพัฒนา ทั้งนี้ ก็ยังอิงกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศจีน ที่กำลังทำหน้าที่ “ตอบโจทย์”อยู่อย่างขมักเขม้น ด้วยการสร้างสภาวะสันติภาพให้เกิดขึ้นในประเทศจีนได้อย่างต่อเนื่องหลายสิบปี หลุดพ้นจากการต่อสู้ทางชนชั้น ทางการเมือง และทางสังคม ที่สับสนวุ่นวายได้สำเร็จ สามารถพัฒนาแนวคิดการพัฒนาประเทศจากการพัฒนาทั่วไป เป็น “พัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” โดยถือเอาชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีน สิทธิผลประโยชน์ของประชาชนจีนเป็นตัวตั้ง ซึ่งสะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรมของชีวิตคนจีน ทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ โอกาสต่างๆ ในการพัฒนาชีวิตตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ด้าน เกิดความสำนึกถึงความเป็น “เจ้าของประเทศ” รักชาติบนฐานของความอยู่ดีกินดี มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศและท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ตามสิทธิ์และหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ทุกประเทศจะต้องสามารถตอบโจทย์ร่วมนี้ให้ได้ เฉกเช่นที่ประเทศจีนกำลังกระทำอยู่ มิเช่นนั้น ก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใดในการนำเอาประสบการณ์ของจีนมาปรับใช้กับตน เพราะเมื่อในประเทศขาดซึ่งสันติภาพ ในทางการเมืองเต็มไปด้วยการแก่งแย่งกัน ต่อสู้หักเหลี่ยม ปัดแข้งปัดขา เลื่อยขาเก้าอี้กัน มีการใช้อำนาจในทางมิชอบ ทุจริตฉ้อฉล กอบโกยโกงกินเป็นอาจิณโดยกลุ่มผู้ครองอำนาจ ในทางเศรษฐกิจเต็มไปด้วยการผูกขาดตัดตอน ต่อสู้เชือดเฉือนกัน เอารัดเอาเปรียบกัน “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” “ใครมือยาวสาวได้สาวเอา”

คนส่วนใหญ่ต้องอยู่อย่าง “ปากกัดตีนถีบ” ขณะที่คนส่วนน้อยอยู่อย่าง “อิ่มหมีพีมัน” หรือ “รวยกระจุก จนกระจาย” ในทางสังคมก็เต็มไปด้วยโจรขโมย ฆ่าข่มขืน ยาเสพติดเต็มบ้านเต็มเมือง มาเฟียครองเมือง กระทั่งมีการเบียดเบียนข่มเหงรังแกกันระหว่างชนเผ่าและระหว่างศาสนา เกิดการห้ำหั่นกันถึงชีวิตทุกวี่วัน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนั้น ปมปัญหาก็คือการเมือง ถ้าไม่แก้ทางการเมือง เรื่องอื่นก็แก้ได้ยาก เพราะมันเชื่อมโยงถึงกัน

เมื่อขาดสันติภาพก็พัฒนาประเทศได้ยาก หรือทำได้ไม่เต็มที่ ไม่บรรลุเป้าหมาย แม้ใช้เงินงบประมาณมหาศาล แต่มักได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย อุปมาตำพริกละลายแม่น้ำ ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์โภคผลเท่าที่ควร ไม่หลุดจากสภาวะ “ปากกัดตีนถีบ” ชีวิตที่อับจนและขัดสนก็กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง เข้าไม่ถึงความจริง เข้าไม่ถึงโอกาสการศึกษาและการเมือง ไม่มีส่วนร่วมกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศ ไม่มีฐานะของความเป็น “เจ้าของประเทศ” มีแต่ตัวอักษรที่ระบุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ในทัศนะของผู้เขียน การจะตอบโจทย์ร่วมได้นั้น จำเป็นจะต้องตอบโจทย์เฉพาะของตนเองก่อน โดยต้องตั้งเป้าการตอบโจทย์ร่วมไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้การตอบโจทย์เฉพาะมีพลัง มีแรงจูงใจพอที่จะโน้มน้าวพลังสังคม “ทุกฝ่าย” เข้ามาร่วมกระบวนการตอบโจทย์เฉพาะนั้นด้วย

โจทย์เฉพาะของแต่ละประเทศแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นโจทย์ใหญ่ทางการเมือง หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา ก็เพราะแก้โจทย์ทางการเมืองได้สำเร็จ ทำให้การเมืองน้ำเน่ากลายเป็นการเมืองสะอาด เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ส่วนประเทศจีนสามารถตอบโจทย์ได้ด้วยการ “ปฏิรูปและเปิดประเทศ”

โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยอยู่ตรงไหน? ผู้เขียนขอฟันธงว่า อยู่ที่ การเมืองน้ำเน่าในอุ้งมือของกลุ่มทุนสามานย์ คนไทย “ทุกฝ่าย” จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขให้ตกไป และตอบโจทย์ร่วม 3 ข้อนั้นให้ได้

เพื่อประเทศไทยจะได้ก้าวไปสู่ความเป็นสังคม “อยู่ดีกินดี มั่งมีศรีสุข”
กำลังโหลดความคิดเห็น