xs
xsm
sm
md
lg

บทความของคนกำลังจะติดคุก

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ จากความไม่รอบคอบในการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นให้รอบด้าน นำไปสู่ความขัดแย้งในชุมชน ก่อให้เกิดการทำร้ายทำลายสิ่งดีงามที่มีอยู่ดั้งเดิมหรือผลที่ได้รับไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไป ถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่อีกจำนวนมาก เพื่อตอบสนองคำว่า “พัฒนา” ไม่ว่ากรณีของการเดินหน้าสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่สตูลเชื่อมต่อด้วยโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ด้วยท่อน้ำมัน ทางรถไฟรางคู่สู่ท่าเรือน้ำลึกอีกฝั่งในจังหวัดสงขลา

หรือความพยายามผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช การเตรียมย้ายนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจากมาบตาพุดสู่พื้นที่ภาคใต้ การพยายามลุกขึ้นมาตรวจสอบโครงการของรัฐ ชุมชนต้องประสบกับปัญหาต่างๆ มากมาย สุดท้ายผู้นำบางส่วนต้องคดีติดคุกติดตะราง ในขณะเดียวกันรัฐก็ต้องเอางบประมาณของแผ่นดินจำนวนมากไปเยียวยาชดเชยกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ในวันที่ 24 มกราคม 2555 นี้ศาลจังหวัดศรีสะเกษมีการนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกากรณีที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งกรณีการสร้างเขื่อนราษีไศล ซึ่งก่อนหน้านั้นรัฐต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนมาแล้วจำนวนมากไม่ว่ากรณีของยายไฮ ขันจันทา ที่รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยจากการยืนหยัดต่อสู้รักษาสิทธิในที่นาของแกมาแล้วจำนวน 4.9 ล้าน และยังให้มีการจ่ายค่าชดเชยที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนอีกจำนวน 3,561 แปลง คิดเป็นเงิน 794,834,208 บาท ยังเหลืออีกจำนวน 2,893 แปลง นี่มันเงินของประชาชนทั้งประเทศที่ต้องรับผิดชอบต่อความมักง่ายของรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย

กรณีที่เจ็บลึกไปกว่านั้นสำหรับภาคประชาชนในการลุกขึ้นมาต่อสู้ตรวจสอบโครงการฯ หรือรักษาสิทธิตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ มันไม่ได้ง่ายๆ ในทางปฏิบัติ กรณีของคุณไพจิตร ศิลารักษ์ที่ศาลฎีกาจะตัดสินในวันที่ 24 มกราคม 2555 นี้ จึงจะเป็นอีกกรณีศึกษาของภาคประชาชนที่จะได้ติดตามผลการพิพากษากันอย่างใจจดจ่อ คุณไพจิตร ศิลารักษ์เข้าไปเกี่ยวข้องการชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิอันเกิดจากผลกระทบจากเขื่อนราศีไศล เป็นคดีความกรณีเข้าไปบุกรุกฝายราษีไศล ศาลชั้นต้นตัดสินให้เขามีความผิด

เขาได้เขียนบทความทิ้งไว้ในชื่อบทความว่า “บทความของคนกำลังจะติดคุก” (http://www.prachatai.com/journal/2012/01/38848) ผมอยากจะนำข้อเขียนบางส่วนของเขามาเสนอ เพื่อให้เกียรติกับการต่อสู้ที่ผ่านมาของเขา และอยากให้ผู้อ่านได้รับทราบความรู้สึกนึกคิดของคนคนหนึ่ง ที่กำลังอยู่ในวิกฤตสำคัญของชีวิต ว่าเขาจะได้ใช้ชีวิตปกติหรือจะต้องสูญเสียอิสรภาพในวันที่ 24 นี้...

“พยานหลักฐานที่โจทย์นำสืบรับฟังได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้นำกลุ่มผู้ชุมนุมในการพังประตูทางเข้าฝายราษีไศล และบุกรุกเข้าไปภายในฝายราษีไศล ปิดกั้นประตูไม่ยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของฝายราษีไศลออกไปภายนอก อันเป็นความผิดตามฟ้องพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก 360, 365, (2) (3) ประกอบ 364, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เนื่องจากความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ และฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน เป็นความผิดบทหนักที่มีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ จำคุก 2 ปี” เป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อ 7 กันยายน 2547 ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินคดีเขาอีกครั้งเมื่อ 20 มีนาคม 2551 ลดโทษลงเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

“ผมไม่รู้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกา จะตัดสินออกมาอย่างไร ในวันที่ 24 มกราคม นี้ แต่สิ่งที่ต้องบอกเพื่อรับรู้ร่วมกันว่ายังมีคนจนอีกจำนวนมาก ที่กำลังถูกรัฐใช้กระบวนการยุติธรรมเล่นงานอยู่กว่า 3,800 คดี บทลงโทษที่มักเกิดขึ้นกับคนจนเหล่านี้ มันเป็นความยุติธรรมของใคร กระบวนการยุติธรรมใช้เพียงปรากฏการณ์และมองการเดินขบวนของประชาชนเท่านั้นหรือ?

ผมยืนยันว่าหากไม่มีการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2543 ของชาวบ้านราษีไศล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูเขื่อนราษีไศล และการเรียกร้องในครั้งนั้นก็เป็นเหตุที่นำมาสู่คดีนี้ ผมก็คงไม่ต้องตกเป็นนักโทษเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตรงกันข้ามเพราะมีการชุมนุมในครั้งนั้น ซึ่งนำไปสู่การเปิดประตูระบายน้ำ จึงทำให้ชาวบ้านจำนวนกว่า 70,000 ชีวิต สามารถประกอบอาชีพเดิมอยู่ในชุมชนเดิมได้อย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน”

“จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 19 ปี (เขื่อนราษีไศลสร้างเสร็จและเริ่มกักเก็บน้ำตั้งแต่ปี 2536 - 2555) ใครบ้างได้ทำนาปีละ 2 ครั้ง ใครบ้างได้งานทำ ใครบ้างที่ร่ำรวยเงินทอง สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นเลย เห็นมีแต่ความยากจนปนความขัดแย้ง ชุมชนแตกแยก วิถีชีวิตล่มสลาย บ้านช่องเหลือแต่คนแก่กับเด็กอยู่เฝ้า คนหนุ่มสาว คนวัยทำงานอพยพไปรับจ้างขายแรงงานในต่างถิ่น เพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัวเมื่อคุณเป็นนักโทษด้วยเหตุแห่งการใช้สิทธิในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชนเมื่อคุณเป็นนักโทษเพราะพฤติกรรมที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาของรัฐบาล ด้วยเหตุว่าโครงการที่ก่อสร้างขึ้นมานั้น ได้ไปทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้าน รวมทั้งยังไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม คุณได้ร่วมต่อสู้กับชาวบ้านซึ่งเป็นเหยื่อของโครงการพัฒนานั้น”

“หากคำพิพากษาว่าต้องติดคุก ซึ่งเป็นคำตัดสินของศาลฎีกา ผมก็ต้องเข้าคุก เข้าไปอยู่ในคุกเดียวกันกับนักโทษ ปล้น ฆ่า ค้ายาบ้า และนักโทษคดีซึ่งเราเรียกว่า คดีอาชญากรรม โดยที่ผมเป็นนักโทษหนึ่งเดียวที่ติดคุกเพราะบังอาจกระทำการไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาของรัฐ ผมยังพยายามคิดหาเรื่องเล่าเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับนักโทษในเรือนจำ แต่ก็ยังคิดไม่ออก เพราะไม่มีประสบการณ์ในการปล้น ฆ่า และอื่นๆ”

เป็นความคิดเป็นความในใจของสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมที่รัฐเป็นผู้ก่อ เขาไม่ได้ลุกขึ้นมาเพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐ เขาแค่ต้องการรักษาสิทธิของชุมชน สิทธิของคนจนๆ ที่ด้อยโอกาสในสังคม วันที่ 24 มกราคม 2555 ก็จะเป็นอีกครั้งของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ว่าต่อกรณีอย่างคุณไพจิตร ศิลารักษ์ กับความผิดจากความไม่เป็นธรรมซับซ้อนที่เกิดขึ้น เขาจะต้องจบอิสรภาพหรือไม่อย่างไร.
กำลังโหลดความคิดเห็น