อาทิตย์ที่ผ่านมา มีโอกาสตระเวนไปเยี่ยมเยียนพี่น้องตามพื้นที่ชายฝั่งใน 3-4 จังหวัดคือ สตูล ตรัง นครศรีธรรมราช และสงขลา เริ่มต้นไปพบพี่น้องชาวประมงกลุ่มหนึ่งที่เอาเรือมาจากฝั่งสงขลา มาออกทะเลหาปลากันที่อำเภอระงู ถามไถ่ฟังได้ว่าพื้นที่ชายฝั่งสงขลาแถบอำเภอสิงหนคร สทิงพระ และระโนด มีปัญหาอันเกิดจากการขุดเจาะน้ำมัน 5 หลุมของบริษัท นิวคอสตอล ที่ได้เข้าไปบุกรุกที่ทำการประมงที่เขาเคยทำมาหากินกันมาแต่เดิม การห้ามเข้าไปทำการประมงในเขตใกล้หลุมเจาะ ผลกระทบจากการขุดเจาะในรูปของโคลน/คราบน้ำมันที่กระจายออกไป ทำให้อุปกรณ์ทำการประมงไม่สามารถจับปลาได้ตามปกติ ต้องทิ้งครอบครัว ขนเรืออุปกรณ์ในการจับกุ้งหอยปูปลาขึ้นรถข้ามฝั่งจากสงขลามาทำมาหากินในฝั่งอันดามัน
ในขณะที่ชุมชนประมงชายฝั่งจังหวัดสตูลก็อยู่ในสถานการณ์สู้รบตบมืออยู่กับฝ่ายต่างๆ ที่กำลังเดินหน้าทำงานตามแผน และนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศว่าจะเดินหน้าในการสร้างท่าเรือน้ำลึก เขตอุตสาหกรรมที่ปากบารา นายหน้าค้าที่ดิน กลุ่มผู้รับเหมา บริษัทรับประชาสัมพันธ์หรือมวลชนสัมพันธ์หลายหน่วยงานลงพื้นที่จัดประชุมให้ข้อมูล จัดขบวนการสนับสนุนผลักดันโครงการทุกรูปแบบ ทั้งเลี้ยงดูปูเสื่อ พาไปศึกษาดูงาน ตลอดถึงการใช้อิทธิพลข่มขู่ผู้ที่มีความเห็นต่างคือไม่เห็นด้วยและลุกขึ้นมาคัดค้านการเดินหน้าของโครงการ
จังหวัดตรังถูกกำหนดให้พื้นที่ชายฝั่งในอำเภอกันตัง เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชุมชนชาวบ้านเพิ่งรับรู้ข้อมูลหลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เริ่มปักเขตกำหนดพื้นที่ก่อสร้าง ชุมชนที่เคยสุขสงบก็ต้องตระหนกตกใจกับสิ่งแปลกใหม่ที่จะเข้ามาสู่ชุมชนอย่างไม่ทันตั้งตัว ต้องลุกขึ้นมารวมกลุ่มศึกษาหาข้อมูล เรี่ยไรเงินเป็นค่ารถไปถามไถ่พี่น้องในอำเภอท่าศาลา นครศรีธรรมราช ซึ่งพวกเขาได้ทราบข่าวคราวว่าชาวบ้านที่นั่นลุกขึ้นมาคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างขยันขันแข็งด้วยเหตุผลใด การสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเป็นไปอย่างเข้มข้น
พื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่อำเภอสิชลตลอดถึงหัวไทร คุกรุ่นด้วยการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าของโครงการยักษ์ใหญ่ของต่างชาติอย่างอเมริกา คือ บริษัท เชฟรอน ที่เล็งพื้นที่เป้าหมายในอำเภอท่าศาลาเป็นฐานที่มั่นในการสร้างท่าเรือ และมีเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ถ่ายเทมาจากภาคตะวันออก ตามนโยบายของสภาพัฒน์ การเผชิญหน้าถึงขั้นกระทบกระทั่งกันระหว่างพี่น้องในพื้นที่ การแบ่งแยกประชาชนออกเป็นสองฝ่าย ความสุขสงบที่เคยมีในชุมชนเลือนหายไปทีละน้อยๆ
ภาคใต้ดินแดนที่ทอดยาวสองข้างถูกขนาบด้วยทะเล คือ อ่าวไทย และอันดามัน ลักษณะภูมินิเวศน์เป็นแบบป่าต้นน้ำถึงทะเล มีเทือกเขาที่สำคัญได้แก่ เทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาภูเก็ต เทือกเขานครศรีธรรมราช และเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับมาเลเซีย มีแม่น้ำสายสำคัญหลายสาย ได้แก่ แม่น้ำกระบุรี แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำท่าทอง แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตาปี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำโกลก ชายหาดทั้งสองฝั่งของภาคใต้มีความแตกต่างกัน คือ ฝั่งอ่าวไทยเกิดจากการยกตัวสูงทำให้ชายหาดเป็นแนวยาว ส่วนทะเลอันดามันมีชายฝั่งยุบต่ำลง ทำให้มีที่ราบน้อย ชายหาดเว้าแหว่ง เป็นโขดหิน มีหน้าผาสูงชัน มีพื้นที่ราบแค่ 40% ของทั้งภาค
ภาคใต้จึงอ่อนไหวต่อการพัฒนาโครงสร้างขนาดใหญ่ ที่จะกระทบทั้งต่อพื้นที่บนบกและชายฝั่ง บทเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ไม่ว่าเหตุการณ์ภัยธรรมชาติจากน้ำป่า น้ำท่วม หรือการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่ง ทำให้คนภาคใต้ต้องตั้งสติในการที่จะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่โน่น นี่ นั่น โดยที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนด การปิดหูปิดตา การใช้อำนาจทุน อำนาจรัฐเข้ามาข่มขู่ คุกคามหรือเอาแต่ได้ คนภาคใต้คงไม่ยินยอมอีกต่อไป
คำประกาศที่ว่า “ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เพื่อเตรียมรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการที่มีศักยภาพของประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากพื้นที่ฐานเศรษฐกิจปัจจุบันในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เริ่มมีข้อจำกัดในการขยายตัวทั้งในเชิงพื้นที่ และขีดความสามารถในการรองรับด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่พื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้จะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่ควรได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศในอนาคต” เสียดแทงหัวใจคนใต้ยิ่งนัก
คนใต้ตระหนักดีว่าทิศทางการพัฒนาบนพื้นฐานทางการเกษตรที่เป็นต้นทุนที่มีอยู่เดิม และไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาในทิศทางแห่งอุตสาหกรรม แต่เราต้องการอุตสาหกรรมที่กำลังทำรายได้ในระดับต้นๆ ของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการกระจายผลประโยชน์มากที่สุด นั่นก็คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในปี 2549 ภาคใต้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22 เราต้องการการพัฒนาพื้นที่ชายแดนที่ไม่ใช่การทำลายพื้นที่เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมอย่างท่าเรือ แต่เป็นพื้นที่เมืองแห่งการค้าขายชายแดนปกติ เพราะเราพบว่าในปี 2550 มีมูลค่าการค้าขายผ่านชายแดนต่างๆ ของภาคใต้ มีรายได้ 3.7 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 75 ของมูลค่าการค้าผ่านแดนของประเทศ
มีคำถามมามากมายว่า ทำไมเราจึงคัดค้านการพัฒนา อยากประกาศว่าคนใต้ไม่เคยคัดค้านการพัฒนา แต่เราต้องการการพัฒนาที่ลูกหลานในอนาคตมีที่อยู่ มีที่ยืน นั่นคือการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสีเขียว ที่มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มีมาตรฐานการครองชีพที่ทุกครอบครัวมีรายได้พึ่งตนเอง และมีสภาพการดำรงชีวิตตามอัตภาพของแต่ละครอบครัวและชุมชนที่เป็นสุข มีธรรมาภิบาลในการปกครองตนเอง ในระดับตำบล จังหวัด ภาค และระดับประเทศ มีการรักษาระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ มีการเคารพวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และความแตกต่างในทางเชื้อชาติและศาสนา ฯลฯ
การที่ฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าทุนต่างชาติ ทุนในชาติ หรือการกำหนดให้พื้นที่ภาคใต้พัฒนาไปในทิศทางของอุตสาหกรรมที่ไม่คำนึงถึงผลร้ายที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้มองการพัฒนาที่คนภาคใต้มองถึงอนาคตของฐานทรัพยากรดั้งเดิมที่ดีงามแล้ว จะมาทำลายไปเพื่อเอาสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นทุกหัวระแหง เสียงสะท้อนที่สำคัญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายควรจะตระหนักก็คือ พวกเขาบอกผ่านมาทางนี้ว่า “ภาคใต้ไม่ใช่บ่อกำจัดขยะหรือภาคใต้ไม่ใช่บ่อบำบัดน้ำเสีย”