xs
xsm
sm
md
lg

หลักการกอบกู้เศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอดของผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: นายพิเศษ หัวหมาก

ค่าเยียวยาผู้ประสพภัย 5,000บาท/หลังคาเรือนเปรียบได้ไม่ต่างกับถูกรางวัลเลขท้าย ของฉลากกินแบ่งรัฐบาล จากการลงทุนซื้อที่สูง แม้จะมีความดีใจที่มีโชค แต่ไม่คุ้มทุน เหตุและผลมันต่างจากการซื้อฉลากกินแบ่งเพราะการซื้อฉลากฯอยู่บนความเสี่ยงที่เต็มใจ ต่างกับอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ เพราะอุทกภัยครั้งนี้ เป็นภัยที่ถูกยัดเยียดจากความไร้ศักยภาพในเชิงบริหารของราชการเอง

สำหรับระบบช่วยเหลือเยียวยาด้านอื่นๆ เช่นการเสนอของเหล่าธนาคารในรูปแบบสินเชื่อเพื่อการซ่อมแซมบ้านเรือนในวงเงินต่างๆด้วยอัตราดอกเบี้ย 5 – 6% ต่อปีที่อ้างว่าเป็นอัตราต่ำนั้น ก็ดูเหมือนเป็นการเอื้ออาทรที่จริงใจ? แต่ในความเป็นจริง ยังซ่อนเร้นด้วยอัตรากำไรที่มิใช่น้อย

การพักหนี้ 3 – 6 เดือนปลอดดอกเบี้ย น่าสร้างบุญคุณล้นเหลือ แต่ช่วงระยะสั้นๆคงยากที่ลูกหนี้ในสภาพหลังเผชิญอุทกภัยคงยากที่จะชำระหนี้ ธนาคาร (เจ้าหนี้) คงไม่เมตตาที่จะไม่คิดดอกเบี้ย (ในระบบทบต้น) อันเป็นเหตุให้ลูกหนี้หน้ามืดยิ่งกว่าภัยน้ำท่วมที่ได้เผชิญมา

มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติ 20,000ล้านให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ในรูปแบบสินเชื่อดังประกาศ แต่ปราศจากกรอบวินัยการบริหารสินเชื่อชี้นำให้ผู้กู้ปฏิบัติ ก็มิได้เป็นการแก้ไขที่ถูกต้อง

ในอาชีพนัการเงิน มีเหตุให้มองต่างมุมและวิธีการกอบกู้แก้ไข อิงทฤษฎีและวิธีการที่อาจแตกต่างจากรูปแบบของนักการเมืองผสมนักธุรกิจต่างอาชีพ

ปฏิบัติการที่เหมาะสมเที่ยงธรรมต่อประชาชนผู้ประสพภัย มิใช่ด้วยเงินเยียวยาด้วยจำนวนเงินเพียง 5,000บาทต่อครัวเรือน เพราะภัยที่ประชาชนเผชิญหาเพียงเพราะเกิดจากภัยธรรมชาติ แต่เกิดจากการซ้ำเติมอันจากความบกพร่องของงานบริหารของภาครัฐฯ ซึ่งจนบัดนี้ยังไม่มีใครกล้าพอที่จะประกาศยอมรับที่สั่งการชลอการระบายน้ำจากเขื่อนเพื่อรอคอยการเก็บเกี่ยวเกษตรผลจนเกิดพายุตามมาซ้ำเติมถึงต้องเปิดการระบายเต็มที่จนน้ำล้นท่วมที่สร้างความเสียหาย

ฉะนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบเต็มที่ที่รัฐบาลจะปฏิเสธมิได้ที่ต้องเยียวยา อันประกอบด้วย:-

1.ค่าซ่อมแซมบ้านเรือนให้เหมือนเดิมพร้อมเครื่องเรือนและเครื่องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงยานพาหนะ ในจำนวนเงินตามความเป็นจริง

2.ชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป/ค่าจ้างแรงงานที่ขาดหายไป เพราะไม่สามารถประกอบการ หรือ เพราะถูกระงับจ้างอันเพราะโรงงานเสียหายจนนายจ้างต้องปิดโรงงาน

3.สำหรับเกษตรกรที่นาล่มเพราะน้ำท่วม รัฐพึงต้องรับผิดชอบในเงินทุน (ที่กู้ยืมมา) ในส่วนเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าไถหว่าน รวมถึงค่าแรงงานโดยประมาณการของเกษตรกร (ค่าแรงโดยประมาณต่อวันต่อคน x จำนวนวันต่อฤดูกาล)

4.ช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัย ชาวบ้านผู้ประสพภัยได้อพยพย้ายไปพักอาศัยตามศูนย์ตามคำประกาศเตือนของทางราชการ ปล่อยทิ้งทรัพย์สินไว้ลำพัง โดยหวังได้รับการปกป้องดูแลจากทางตำรวจ แต่กลับถูกละเว้นอันเป็นโอกาศให้ถูกโจรกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปฏิเสธความรับผิดชอบมิได้ ย่อมเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องสำรวจและชดใช้

ด้านการฟื้นฟูเสริมสร้างระบบป้องกันมิให้เกิดอุทกภัยซ้ำเติม

ช่วงที่นิคมอุตสาหกรรมเผชิญอุทกภัยสร้างความเสียหายต่อโรงงานต่างๆที่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของต่างชาติ พร้อมข่าวเตรียมการย้ายฐานหนี และน่าจะสร้างความกลัวให้เกิดแก่รัฐบาล จึงเกิดการประกาศเจตนารมณ์ จะมีการกู้เงินเพื่อฟื้นฟูนิคมอุสาหกรรมที่เสียหายจากภัยน้ำท่วม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่น่าจะดีแต่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะบริษัทข้ามชาติที่มาลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ย่อมมีและได้มีการซื้อประกันภัยคุ้มครองในทุกกรณี ไม่เว้นแม้แต่ภัยก่อการร้าย ที่มีการเผาบ้านเผาเมือง จะมีบ้างคงเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของคนไทย ที่อาจซื้อประกันคุ้มภัยไม่ครบถ้วน เพราะประมาทหลงเชื่อในศักยภาพการบริหารน้ำของภาครัฐฯและเสียดายเบี้ยประกันที่เพิ่มมากขึ้น

ฉะนั้นการฟื้นฟูจิตใจสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติให้ยึดมั่นคงอยู่ไม่ย้ายฐานหนี ต้องอาศัยทฤษฎีการเงินและระบบภาษีเป็นตัวช่วย โดยอาศัยฝีมือแรงงานไทยมีคุณภาพที่เหนือกว่าภูมิภาคประเทศใกล้เคียง ย่อมเป็นที่นิยมของผู้บริโภคเหนือกว่าผลผลิตจากภูมิภาคอื่นแม้ค่าแรงงานต่ำกว่าแต่ฝีมือด้อยกว่าแรงงานไทย เป็นแรงยึดเหนี่ยวควบคู่

แต่ทั้งนี้รัฐบาลต้องมีมาตรการเยียวยาการเสียโอกาสเชิงธุรกิจช่วงที่โรงงานเหล่านั้นเผชิญวิกฤติเสียหายจากอุทกภัย แม้จะได้รับการชดเชยจากบริษัทประกันภัย เช่น:-

๑. ยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับเครื่องจักรใหม่ที่ต้องนำเข้าจากนอกประเทศ ทดแทนเครื่องจักรที่เสียหาย

๒. งดเว้นภาษีดอกเบี้ย (Withholding tax) เงินกู้เพื่อการสั่งซื้อเครื่องจักร/ปรับปรุงซ่อมแซมโรงงานที่เสียหาย

ความสูญเสียอันเกิดจากปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ประเมินโดยธนาคารโลก ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากถึง 1.357 ล้านล้านบาท คำนวณเสียหายทางทรัพย์สิน 6.4 แสนล้านบาท บวกกับ ค่าสูญเสียโอกาส 7.1 แสนล้านบาท การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ติดลบโดยสิ้งเชิง

คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ) ที่มี นายวีรพงษ์ รามางกูร นั่งหัวแถว และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน) ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นั่งหัวแถว นั้น น่าจะเป็นเพียงการเคาะกะละมังกลบเสียงก่นด่าความไม่เอาไหนของรัฐบาล “ที่เอาไม่อยู่” เพราะหากย้อนนึกถึงอดีต ธนาคาร เอเชียทรัส จำกัด (ภายหลังบรรจงเปลี่ยนชื่อว่า “ธนาคาร สยาม จำกัด)และ ธนาคาร กรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด ภายใต้การบริหารที่ นายวีรพงษ์ มีส่วนสำคัญ บัดนี้ยังมั่นคงอยู่หรือ และช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 40 ถ้าจำไม่ผิด ปรส น่าจะมี ฯพณฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นหนึ่งใน key man ร่วมเหมาเข่งขายทรัพย์สิน ที่ยึดจากกลุ่มบริษัท การเงิน สร้างความสุขสดชื่นแก่สังคมถ้วนหน้า เลยหวังระดมทุนกันเพื่อพร้อมซื้อ ถ้าเกิดมีการเหมาเขื่อนขายทรัพยากรน้ำ บ้างเพื่อค้าแข่งกับ การประปา คงรุ่งเรือง ท่านจะรู้สักนิดไหมว่า พ่อค้าวาณิชย์ไทยมากหลายต้องกล้ำกลืนน้ำตาจากการเหมาเข่งขายของ ปรส

ในฐานะนักการเงินหางแถว
จึงเกิดมองมุมที่ท่านนักบริหารประเทศทั้งหลายไม่มอง ใคร่สะกิดเสนอทฤษฎีทางการเงิน ที่สถาบันการเงิน และสถาบันการธนาคาร ในต่างประเทศนิยมใช้มาเสนอพิจารณา:-

1.Factoring

2.Forfaiting

นโยบายที่นำเสนอช่วงหาเสียง เรื่อง “กองทุนหมู่บ้าน” ก็ดี “กองทุนตั้งตัว” ก็ดี หากเหลียวมองพิศพิจารณาถึงผล แน่นอนท่านได้รับคะแนนในผลของการเลือกตั้ง แต่คนในแต่ละหมู่บ้าน มีฐานะร่ำรวยขึ้นด้วยกองทุนหมู่บ้านแน่หรือ เป็นเพียงโอกาศดิ้นรนเบาลงที่อาศัย “กู้กองทุนไปใช้หนี้นอกระบบ และย้อนกู้นอกระบบมาใช้คืนกองทุน และหลีกเลี่ยงมิได้ คือ มีจำนวนเงินที่เป็นหนี้เพิ่มถ้วนหน้า”

สำหรับ “กองทุนตั้งตัว” ที่ท่านใช้ทอดแหหาเสียง เป็นที่น่าสนใจ อย่างน้อยผู้เขียนคงเป็นหนึ่งในจำนวนคนที่รอคอย มิทราบว่า “กองทุนตั้งตัว” เป็นเงินที่ ฯพณฯ ท่าน (รัฐบาล) กู้มาแจกให้ผู้คนที่หวังตั้งตัว เป็นการให้เปล่าไม่ต้องใช้คืนถ้าล้มตัวทำเจ๊ง หรือต้องมีหลักค้ำประกัน เพราะผู้เขียนเป็นคนตัวเปล่าไม่มีทรัพย์สินเป็นหลักค้ำประกัน แต่ยินดีค้ำประกันด้วยคะแนนเสียงทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ขอโทษทราบแล้วกรุณาลบทิ้งเพื่อความปลอดภัยจากกกต

หากรัฐบาลมีเจตนาแน่วแน่ที่ต้องการสร้างฐานะที่มั่นคงให้กับประชาชนโดยยึดมั่นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักเกณฑ์ ต้องประสานกับสถาบันการเงินการธนาคาร ใช้ทฤษฎีทางการธนาคารที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้ประชาชนทุกระดับฐานะได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมสร้างกรอบบริหารสินเชื่อที่ถูกต้องมีวินัยทางการเงินให้เกิดแก่ผู้ได้รับสินเชื่อเพื่อสร้างความไว้วางใจสำหรับสถาบันที่อำนวยสินเชื่อให้กับตน

การที่รัฐบาลจรรโลงเสริมสร้างหลักการดำรงชีพที่มั่นคงแก่ปวงชน จำต้องจำแนกวิชาชีพของแต่ละกลุ่มคนออกให้ชัดแจ้ง อันได้แก่:-

1.ระดับล่าง อันได้แก่ – หาบเร่ แรงงานกรรมาชีพ ร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงเกษตรกร อุตสาหกรรมในครัวเรือน

2.ระดับกลาง อันได้แก่ – บริษัทตัวแทนจำหน่ายขายปลีก และ/หรือ นำเข้าเบ็ตเตล็ด อุตสาหกรรมขนาดกลาง

3.ระดับใหญ่ อันได้แก่ - บริษัทนำเข้า/ส่งออก เพื่อการขายส่งและขายปลีก รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

หลักการวิธีพิจารณาอำนวยสินเชื่อของธนาคาร หรือบริษัทไฟแนนซ์ ภายใต้หน้าที่ของฝ่ายอำนวยสินเชื่อ (Credit Risk Management) จะอยู่บนพื้นฐานความมั่นคงของธุรกิจ ที่ตั้งหลักแหล่งที่แน่นอน รายได้ และต้นทุน ของแต่ละวิชาชีพ กรอบของการพิจารณาอำนวยสินเชื่อจึงแตกต่างกันระหว่างธนาคารกับสถาบันการเงิน (บริษัท ไฟแนนซ์) ด้วยเหตุนี้กรอบธุรกิจของธนาคารทางด้านสินเชื่อ จึงประกอบด้วย –

วงเงินเบิกเกินบัญชี (Overdrawn Facility) แบบหมุนเวียน (Revolving)

วงเงินกู้ชั่วตราวด้วยตราสารสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) แบบวงเงินหมุนเวียน (Revolving)

วงเงินกู้โครงการ (Project Loan)

วงเงินค้ำประกัน (Aval/Guarantee Facility) แบบหมุนเวียน (Revolving)

วงเงินตราสารรับรองการชำระ (LC/TR Facility) แบบหมุนเวียน (Revolving)

หมายเหตุ: จำนวนขนาดของสินเชื่อขึ้นกับหลักค้ำประกันที่เป็นที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของกรรมการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร

ส่วนกรอบธุรกิจของบริษัทไฟแนนซ์ทางด้านอำนวยสินเชื่อจะเจาะจงพิจารณาองค์ธุรกิจขนาดเล็ก อันประกอบด้วย:-

โรงงานขนาดเล็กหรือในครัวเรือน รวมถึงกลุ่มใช้แรงงานในครัวเรือน (Home Labour)

บริษัทจัดการแรงงาน (Man Power Supply)

บริษัทเหมาช่วง (Sub-Contractor)

การเกิดของทฤษฎีทางการเงินว่าด้วย “ขายลดโอนสิทธิ์เด็ดขาด” (Forfaiting)

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (2) สงบลง โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆในโลก โดยเฉพาะในแถบประเทศยุโรป ต่างพยายามฟื้นฟูกิจการ สั่งซื้อเครื่องจักรกลทดแทนส่วนที่ถูกพิษสงครามทำลาย สร้างโอกาสตักตวงรายได้ของกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรกล ด้วยเงื่อนไขรูปแบบการขายที่ไม่เปิดช่องในผู้ซื้อต่อรองได้

แต่เมื่อโรงงานทั้งหลายทั้งปวงได้รับเครื่องจักรครบถ้วนเข้าสู่ระบบการผลิต โอกาสก็ย้อนกลับสู่ผู้ซื้อ อันกระทบต่อโอกาศของผู้ขาย (ผู้ผลิตเครื่องจักร) ที่จะต้องเผชิญวิกฤติ แต่ผู้ผลิตเครื่องจักรถือได้เป็นลูกค้าหลักมีความสำคัญยิ่งต่อสถาบันการเงิน (ธนาคาร) ที่จะปล่อยให้เผชิญหายนะมิได้ จำเป็นต้องเข้าช่วยเหลือผยุงให้อยู่รอดปลอดภัย

ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ฮังการี ได้คิดค้นพบทฤษฎีว่าด้วย “การขายลดโอนสิทธิ์รายรับเด็ดขาด” (Forfaiting) ได้เสนอให้เหล่าผู้ผลิตเครื่องจักรกลค้นคว้าปรับปรุงผลิตเครื่องจักรใหม่ ที่มีศักยภาพเชิงผลิตสูง ผลผลิตมีคุณภาพดีกว่าและต้นทุนเท่าเทียม เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าที่ผลิตขาย อันเป็นการสร้างจุดเด่นในเชิงแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตจากภูมิภาคอื่น โดยเสนอแนะให้ผู้ผลิตเครื่องจักรเสนอขายภายใต้รูปแบบการชำระด้วย(Term Payment)กำหนดเวลาชำระระยะปานกลาง (2ปี+)หรือยาว (5ปี+)(Medium Term 2yrs+) (Long Term 5 yrs+) ทั้งนี้ธนาคารพร้อมสนับสนุนด้วยการซื้อลดตั๋วที่เซ็นรับภาระโดยผู้ซื้อแบบรับโอนสิทธิ์ปลอดภาระผูกพัน (Forfait without recourse on accepted bills [bill of exchange])

ทฤษฎีระบบการเงินในรูปแบบ Forfaiting ในปัจจุบันได้แผ่ขยายเป็นที่นิยมแพร่หลายในยุโรป มีการจัดตั้งสมาคม Forfaiting Association International โดยมีสำนักงานใหญ่ใน มหานคร ลอนดอน สหราชอาณาจักร อังกฤษ ทั้งนี้รับธนาคารในมวลประเทศยุโรปเป็นสมาชิก (น่าเสียดายที่ธนาคารในประเทศไทยเราขาดความสนใจ)

ในภาวะที่โรงงานอุตสาหกรรมทั้งระดับใหญ่และกลางที่มีระดับใหญ่ หากธนาคารไทยสนใจและเสนอสินเชื่อ (LC/TR) ค้ำประกันการชำระและรับภาระประสานกับธนาคารต่างประเทศที่มีธนกิจสัมพันธุ์ (Correspondence Banking) ให้ยอมรับซื้อลดตั๋วในรูปแบบ Forfaiting โดยส่วนดอกเบี้ยให้ รัฐบาล ยกเว้นภาษีดอกเบี้ย (Withholding tax) รวมถึงภาษี ศุลกากร/ภาษีมูลค่าเพิ่ม

แม้แต่โรงงานขนาดกลางต้นๆ และขนาดเล็ก ย่อมสามารถใช้ระบบ Forfaiting ได้เช่นกัน เว้นและระยะการชำระคงสั้นกว่า

นี่คือกรรมวิธีกู้อุตสาหกรรมที่รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมที่รัฐบาลมีส่วนอย่างยิ่งที่ขาดศักยภาพเชิงบริหารน้ำ

ด้านมุมกลับเพื่อการสร้างความอยู่รอดมั่นคงเชิงธุรกิจการพาณิชย์ ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญวิกฤติอ่อนแอในหลายภูมิภาคในปัจจุบันอันเป็นเหตุให้กำลังซื้อตกต่ำ ย่อมกระทบถึงการตลาดอันทำให้โรงงานและผู้ประกอบการย้อนต้องประสพวิกฤติซ้ำซ้อน อาศัยรูปแบบการขายด้วยการชำระที่มีกำหนดเวลา (Term Payment) อิงระบบ Forfaiting เป็นตัวช่วยทางรายได้กำลังเงิน อันเป็นทฤษฎีเชิงช่วยเสริมสร้างเพิ่มพูนกำลังซื้อให้เกิดแก่ผู้ซื้อ (ลูกค้า) ต่างแดน ซึ่งเป็นการก่อเกิดประโยชน์เชิงซ้อนต่อผู้ผลิต/ผู้ขาย/โรงงานและผู้ซื้อ ที่เรียกว่า Win Win situation

แต่ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย/กรรมการนโยบายการเงิน ต้องตื่นขึ้นศึกษาระบบและคุณประโยชน์ของ “ทฤษฎีการเงินระบบขายลดตั๋วโอนสิทธิ์ขาดปลอดภาระผูกพัน (Without Recourse Forfaiting on accepted time bills) ด้วยเอกสารขั้นตอนที่ถูกต้องและกระตุ้นให้เหล่าธนาคารละเว้นการแสวงรายได้จุกจิกที่ไม่พึงควร อันจะเป็นการสร้างหนทางแห่งชัยชนะแบบ Triple Win Situation – Win Win Win สำหรับ “ผู้ผลิต/ขาย – ผู้ซื้อ – ธนาคาร”

แต่สิ่งพึงระวังศึกษาระบบเสนอขายภายใต้การชำระแบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Payment Offer/Supplies) อันประกอบหลักฐานรองรับด้วย “ตราสารรับรองการชำระ”ที่มีการยืนยัน (Confirmed Irrevocable Documentary Credit) ที่ธนาคารฝ่ายผู้ซื้อเป็นผู้ออกตราสารรับรอง ที่ได้ชื่อเป็นธนาคารออกตราสารฯ(LC issuing Bank) แจ้งผ่านธนาคารในประเทศไทยในฐานะธนาคารผู้แจ้งตราสาร (LC advising Bank) ธนาคารในประเทศต้องรอบคอบศึกษาตรวจสอบถึงระดับฐานะความน่าเชื่อถือธนาคารผู้ออกตราสาร (LC issuing Bank) หรือไม่ เพราะนี่คือความเสี่ยงเพียงน้อยนิดสำหรับระบบ แต่พิษภัยสูงมาก เพราะเจ้าหน้าที่ของธนาคารในประเทศเรายังอ่อนด้อยในการวิเคราะห์ตรวจสอบดังกล่าว

มีเหตุก่อเกิดผลร้ายต่อผู้ส่งออกบ่อยครั้งที่ผู้ส่งออกได้รับแจ้งตราสารรับรองการชำระ (Letter of Credit) ได้สอบถามว่าตราสารที่ธนาคารแจ้งให้นั้น “ดีและน่าเชื่อถือไหม” คำที่ได้รับตอบ (แบบไม่รู้จริง) ด้วยเพียงดูตราสารดังกล่าวรูปแบบต้องตรงครบถ้วนตามมาตรฐานบทบัญญัติของ “สภาหอการค้านสากล” ที่เรียกขานว่า “บทบัญญัติพึงถือปฏิบัติ” (International Chamber of Commerce – Uniform Custom Practice) ก็ขานรับยืนยันว่าถูกต้องรับได้ แต่ผู้ส่งออกจัดส่งสินค้าลงเรือ ยื่นเอกสารผ่านธนาคารแจ้งรับตราสารฯ เหตุกลับตาลปัตร เสียทั้งสินค้าไม่ได้รับชำระ และเสียความรู้สึก เพราะเจ้าหน้าที่ธนาคารปฏิเสธหน้าตาเฉยว่าไม่สามารถช่วยได้ในทุกกรณี ฉะนั้นระดับฐานะของธนาคารผู้ออกตราสารรับรองฯ (LC issuing Bank) มีความสำคัญยิ่ง ไม่ใช่เพียงแค่มีคำลงท้ายชื่อว่า Bank ลงท้ายชื่อเป็นใช้ได้นั้น อันตรายยิ่ง

ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศต้องได้รับการวิเคราะห์ตรวจสอบจากผู้บริหารของธนาคารที่มีความรอบรู้จริงเชิงตรวจสอบ “ระดับและฐานะความน่าเชื่อถือของธนาคารต่างประเทศ” ที่จะเป็นธนาคารออกตราสารรับรองการชำระ (LC issuing Bank) ก่อนการบรรจุทำงานใน “ฝ่ายต่างประเทศ”

นายพิเศษ หัวหมาก – 13 มกราคม 2555

กำลังโหลดความคิดเห็น