xs
xsm
sm
md
lg

ดร.โกร่ง... อย่าโกง... (1)

เผยแพร่:   โดย: ดร.ประยูร อัครบวร

ดร.โกร่งหรือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นที่รู้จักในบรรดาคนสอนเศรษฐศาสตร์มหภาคก็ต้องบอกว่าเป็นคนเก่งคนหนึ่ง เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต่อเนื่องยาวนานที่สุดคนหนึ่งในการเมืองไทย (2523-2531) จึงไม่แปลกที่คุณปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงานในนิตยสารผู้จัดการ อย่างยกย่องว่า

“เขา (ดร.โกร่ง) เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนเดียวในสังคมไทยที่ทรงอิทธิพลที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา “ความคิด” ของเขา (ดร.โกร่ง) เป็นสิ่งที่สัมผัสได้เสมอ แต่นั่นย่อมมิใช่ปัจจัยเดียวของ “อิทธิพล” ทั้งมวลของเขา (ดร.โกร่ง) ยิ่งไปกว่านั้นเขา (ดร.โกร่ง) อาจจะได้ชื่อว่าเป็น “เทคโนแครต” คนสุดท้ายที่มีภูมิหลังเส้นทางชีวิตและการทำงานด้านนโยบายของรัฐ มีความต่อเนื่องภายใต้ระบบการเมืองไทย จากยุคกึ่งเปิดกึ่งปิดไปสู่ระบบเปิด “ผมทำงานตั้งแต่ปี 2523 คงทนที่สุด ต่อเนื่องที่สุด และเห็นมากที่สุด” เขา (ดร.โกร่ง) เองก็ยอมรับอย่างนั้น”

นอกจากนี้ ดร.วีรพงษ์มีโอกาสดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และรองนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันก็ยังเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการของทีมทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน “ปกติเขามาประชุมกับทีมที่ปรึกษาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง” พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี บอกว่าอย่างนั้น นอกจากนี้เวลาที่มีการประชุมเรื่องนโยบายสำคัญก็เข้าร่วมด้วย (นิตยสารผู้จัดการ/ตุลาคม 2544)

จากความสัมพันธ์อย่างยาวนานของ ดร.โกร่งกับทีมงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงไม่แปลกอีกที่ชื่อ ดร.โกร่ง ถูกนำเสนอในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาโดยตลอด และเมื่อมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ซึ่งต้องการเงินมาจัดทำโครงการจึงมีการเสนอให้โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) 1.142 ล้านล้านบาทมาให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบในการคืนเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ย เมื่อมีเสียงคัดค้าน ดร.โกร่งถึงกับออกโรงวิจารณ์ ว่า

“สังคมไทยไว้ใจ ธปท. แต่ไม่ไว้ใจรมว.คลัง และนักการเมือง ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นฝีมือ ธปท.ทั้งสิ้น ถ้าปิดประตูไม่ให้รมว.คลังทำกำไรได้ แบงก์ชาติก็เป็นรัฐอิสระร้อยเปอร์เซ็นต์แทน และชอบพูดให้สังคมไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย เพราะคณะรัฐมนตรีและนักการเมืองมาจากประชาชน แบงก์ชาติไม่ได้มาจากประชาชนเลย แต่กลับมาพูดไม่ให้ไว้วางใจนักการเมือง จึงควรเปิดประตูไว้บ้างไม่ใช่ปิดประตูตายเลย” (www.khaosod.co.th - 8/01/2012)

จากคำสัมภาษณ์ของ ดร.โกร่งข้างต้น ถ้าเป็นคำพูดของนักการเมืองที่แก้ตัวรายวัน ผมจะไม่สนใจเลย แต่เป็นคำพูดของนักวิชาการผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจก็อดที่จะตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า ดร.โกร่งลืมไปแล้วหรือไร ก่อนที่ ดร.โกร่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อจากยุค นายประมวล สภาวสุ ที่ได้ปลดนายกำจร สถิรกุล ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นยุคตกอับของแบงก์ชาติที่โดนนักการเมืองตีกรอบจำกัดบทบาท และความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ไม่มีอำนาจตัดสินในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการอนุญาตเปิดสาขาของแบงก์ต่างประเทศ

ถ้า ดร.โกร่งลืมก็กลับไปอ่านบทความ “แบงก์ชาติเล่นการเมืองหรือการเมืองเล่นแบงก์ชาติ?” ของ สุปราณี คงนิรันดรสุข และ เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับกุมภาพันธ์ 2539 และยังมีงานวิจัยเรื่อง “ความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยกับการเมืองไทย” ของ ดร.พัชรี สิโรรส และดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ซึ่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์โดยปี 2535 พบกับข้อสรุปของ Goodman ที่ว่า “ยิ่งนักการเมืองมีเวลาในตำแหน่งสั้นเท่าใด ธนาคารกลับมีอิสระทางการเมืองน้อยลงเท่านั้น หมายความว่า ยิ่งผู้นำรัฐบาลไม่แน่ใจว่าตนจะอยู่ในตำแหน่งมากเท่าไร จะมีแนวโน้มว่า พวกเขามักจะละเมิดนโยบายอนุรักษนิยมทางการเงิน โดยเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐบาลมากขึ้น เพื่อขยายฐานเลือกตั้งของตน” และสอดคล้องกับงานวิจัยของ Doner and Unger ที่ว่า “เมื่อพรรคการเมืองมีความโยงใยสัมพันธ์กับบริษัทที่กำลังขยายตัวมากขึ้น จะมีผลทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยถูกบีบคั้นจากกระทรวงการคลังมากขึ้นด้วย”

การเอาอำนาจทางการเมืองมากดดันคนในแบงก์ชาตินี้มีมาทุกสมัยที่นักการเมืองเริงอำนาจ หรืออดีตนักวิชาการส้มหล่นต้องการเอาใจผู้เป็นนาย อย่างบทความของนายอดิศักดิ์ (www.oknation.net - สิงหาคม 2551) ที่ฝากให้ ดร.โกร่งและ ดร.ณรงค์ชัยไปคิดก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) เรื่อง “แร้งฝูงเดิม” คนเก่งที่ไม่น่าใช่ “คนดี” “รุมทึ้ง” คลัง-ธปท.-ก.ล.ต.-ตลาดหุ้น ซึ่ง นายอดิศักดิ์ มองเห็นรอยเท้าของ “เห้...ห่...” สารพัดสัตว์เลื้อยคลานที่เต็มไปด้วย “รอยแผลเป็น” จากการ “กินดะไม่เลือก” ในอดีตกำลังย่องกลับเข้าไปแทะกิน “ของเก่า” อย่างโอชะในกระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ยิ่งสังคมได้เห็น “รายชื่อ” ผู้คน “ฝูงใหญ่” ที่กำลังเข้าไปยึดกุมนโยบายและยึดกุมการสรรหาคณะกรรมการแบงก์ชาติ, คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

มีอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ “วิจิตร สุพินิจ” ที่ยังมีข้อสงสัยในความประพฤติส่วนตัวและผลประโยชน์หุ้นที่ผิดวิสัย “คนแบงก์ชาติ”, นิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังที่ยังไม่สามารถลบล้างคดีทุจริตจนถูกให้ออกจากราชการแล้วพลิกกลับเข้ามาได้อีกจากอำนาจทางการเมือง, พรชัย นุชสุวรรณ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่มีคดีหวยบนดิน ฯลฯ และบทความนี้ยังได้ฝากเตือนให้ “ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช (รมช.คลังในคณะนั้น) อย่าเพิ่ม “ปาก” สร้างปัญหาให้ประเทศไปมากกว่านี้เลย ลำพัง “ปาก” นายกรัฐมนตรีคนเดียวก็เหลือทนแล้ว กับการพ่นน้ำลายไม่เลือกที่ไม่ถูกกาลเทศะ ไม่เว้นกระทั่งหน้าห้องส้วมสาธารณะ จนทำให้ประเทศนี้เน่าเหม็นทะเลาะกันเละเทะมากพออยู่แล้ว” โดยเฉพาะในการพูดต่อหน้า คุณอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการแบงก์ชาติบนเวทีเสวนาเดียวกันว่า “หากเห็นไม่ตรงกัน ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องเลิก รัฐบาลต้องลาออกหรือตกลงกันไม่ได้จริงๆ ผู้ว่าการ ธปท.ก็ต้องลาออก ตั้งคนใหม่เข้ามา ไม่งั้นประเทศจะอยู่อย่างไร”

บทความข้างต้นแม้จะผ่านมาหลายปี แต่มีข้อดีที่ให้บทเรียนในอดีตทำให้เกิดการเรียนรู้ในปัจจุบัน คนที่พูดถึง ดร.โกร่ง ก็ยังมีเยื้อใย ห่วงใยไม่อยากให้ทำผิด และยังให้สติว่า อย่ายอมรับตรรกะการเข้ามาช่วยชาติอยู่บนเงื่อนไขผลประโยชน์ส่วนตัวไม่กระทบ ยังขอเป็นกรรมการบริษัทกว่า 30 บริษัทเพราะ “ผมจำเป็นต้องเลี้ยงครอบครัว”

           วันนี้ ดร.โกร่ง ยังสวมหมวกหลายใบ จึงไม่จำเป็นต้องถามคนอื่นอีก แต่ถามใจ ดร.โกร่งเองเถอะว่า “อยู่เพื่อสร้างชาติ หรืออยู่เพื่อช่วยคนอื่นโกงชาติเพราะตอนเขาโกงกันที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด จนเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ดร.โกร่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการธนาคาร (2535-2538) ดร.โกร่งก็ไม่รู้ ไม่ได้รับรายงานใช่ไหมครับ”
กำลังโหลดความคิดเห็น