xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบชาวสวนยางอัด “รัฐบาลโง่” MOU ทุบราคาร่วงเอื้อนอมินี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม็อบชาวสวนยางภาคใต้ ชุมนุมปิดถนนสายหลักพร้อมกับขู่จะเข้ากรุง เพื่อถามเรื่องการแก้ปัญหาราคายางของรัฐบาล แม้ว่านายธีระ วงษ์สมุทร จะเข้ามารับปากว่าจะเคลียร์ปัญหาให้ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า ปัญหายังไม่จบ
รายงาน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

เกษตรกรชาวสวนยางไทยกว่า 6 ล้านคนฝันสลาย เมื่อคาดหวังว่าปี 2554 จะเป็นปีทองแห่งราคายางที่พุ่งแตะ 200 บาท/กิโลกรัม(กก.) แต่ทว่า เมื่อการเมืองกลับสู่ “ระบบนอมินี” ที่มีรัฐบาลฝึกหัดเข้ามาบริหาร ปัญหาที่เกิดจากความไม่รู้ค่อยๆ ปะทุมาทีละอย่าง จนกระทั่งปลายปีที่ผ่านมาราคายางพาราร่วงมาราธอนต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

โดยเมื่อวันที่ 11 ม.ค.55 ณ ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ยางแผ่นดิบคุณภาพดีเหลือ 91.20 บาท ปรับขึ้นที่ราคาที่คงไว้กว่า 80 บาทมากว่า 2 เดือน ซึ่งคล้อยหลังม็อบชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้รวมตัวเดินทางไปชุมนุมราดน้ำยางหน้าบ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เพียงวันเดียว

เหตุใดราคายางพาราจึงตกต่ำ? ทั้งที่ก่อนนี้ปรับตัวสูงขึ้นโดยที่รัฐบาลแทบไม่ต้องเข้ามาดูแลเหมือนสินค้าเกษตรชนิดอื่น มิหนำซ้ำยังได้โหนกระแส “โครงการยางล้านไร่” เปิดช่องทุจริตกล้ายางตาสอยสร้างความเสียหายแก่พันธุ์ยางไทยมาแล้ว นั่นเป็นเพราะเป็นไปตามกลไกอุปสงค์-อุปทานของตลาดโลก ที่มีมหาอำนาจใหม่จีน อินเดีย เป็นผู้ใช้รายใหญ่ ประกอบกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้ยางธรรมชาติแทนยางสังเคราะห์มากขึ้นเช่นกัน จนทำให้เกษตรกรหันมาโค่นล้มพืชชนิดอื่นและแปลงที่นาเพื่อปลูกยาง

ทว่า วงการยางพารากลับปั่นป่วนอีกครั้ง เมื่อคนของ “นายกฯนกแก้ว” ซึ่งรับผิดชอบดูแลเรื่องยางทำให้กลไกราคายางบิดเบี้ยว และมีข้อพิรุธในหลายจุดที่มาจากฝีมือของรัฐบาลและกลุ่มพ่อค้าที่ดึงราคายางไว้ไม่ให้เกิน 100 บาท/กก.

เรื่องนี้ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมสมาพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ถึงกับสบถกลางที่ประชุม ณ โรงแรมวีแอล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 55 ก่อนจะมีการจัดม็อบชาวสวนยางบุกบ้านนายกฯในวันที่ 10 ม.ค.ว่า ตั้งแต่อยู่วงการยางมาร่วม 50 ปียังไม่เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ ที่ “รัฐบาลหน่อมแน้ม” และคนบางกลุ่มไม่รักประเทศตัวเอง ขายยางให้กับนอมินี (มีการสันนิษฐานว่าบริษัทผู้ขายถือหุ้นอยู่ด้วย 15%) จนทำให้ราคายางตกต่ำสวนทางกับความต้องการของตลาด

สืบเนื่องจากเมื่อปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นสักขีพยานที่ประเทศจีนให้แก่บริษัทผู้ส่งออกยางรายใหญ่ลงนามซื้อขายยางพาราล่วงหน้ากับจีนจำนวน 180,000 ตัน ในราคา FOB 105 บาท/กก. ส่งผลให้ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดีตลาดภายในประเทศลดลงเหลือ 92-93 บาทเท่านั้น

ในวันเดียวกันยังได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ เพื่อซื้อขายยางระหว่างองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) อีก 300,000 ตัน โดยที่ยังไม่ระบุราคา แต่จะคาดว่าจะมีการส่งมอบในปี 2555 แช่แข็งราคายางรวม 480,000 ตัน หรือคิดเป็น 16% จากตลาด ไม่ให้บริษัทอื่นขายยางในราคาที่สูงกว่านี้ และการรับซื้อผลผลิตจากชาวสวนก็ถูกกดลงอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

แม้ภายหลังผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีการปฏิเสธเรื่องดังกล่าว แต่ก็ส่งผลต่อเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศให้เดือดร้อนแล้ว เพราะหากไม่มีการซื้อขายล่วงหน้า ในระยะนี้เกษตรกรควรจะได้ราคาผลผลิตที่สูงขึ้นอีก เพราะเกษตรกรในภาคต่างๆ ทยอยปิดหน้ายางจนถึงต้นปีนี้ อีกทั้งจีนจะปิดการรับซื้อระหว่างวันที่ 14 ม.ค.-4 ก.พ. และโหมรับซื้อเก็บไว้ในสต๊อกอีกครั้งหลังตรุษจีนทำให้ราคายางเพิ่มขึ้นเหมือนเช่นทุกปี

นอกจากนี้ ยังมีการขูดรีดซ้ำตั้งแต่ระดับต้นน้ำ-ปลายน้ำในวงการยางพารา จากการเก็บเงินสงเคราะห์ปลูกยาง หรือ “เงินเซส” อีก 1.40 บาท/ กก. ซึ่งมีเพียงไทยและมาเลเซียเท่านั้นในประเทศผู้ผลิตยางพาราโลกที่เก็บเงินส่วนนี้ แม้จะขอให้คงในอัตราเดิมเพราะอย่างไรเสียชาวสวนจะต้องจ่ายภาษีที่ดินอยู่แล้ว แต่รัฐบาลกลับผลักดันมาใช้ในอัตราก้าวหน้าสูงสุด 5 บาท/กก. เมื่อราคายางแตะ 100 บาทขึ้นไป ทว่าในห้วงที่ราคายางถูก “บล็อก” ให้ต่ำกว่า 100 บาท ก็ยังปรากฏว่าต้องจ่ายเงินเซสในอัตรา 5 บาท/ กก.เท่าเดิมเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรยิ่งขึ้นอีก

แต่เมื่อชาวสวนประสบความเดือดร้อน รัฐบาลกลับวางเฉยในการช่วยเหลือ และสร้างข่าวว่าต้นทุนการผลิตยางแค่ 50 บาท/ กก. ซึ่งต่างจากความเป็นจริงมาก เพราะนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทั้งการขึ้นเงินเดือน ขรก. ป.ตรี 15,000 บาท, แรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท, อุดหนุนบ้าน-รถคันแรก 100,000 บาท ล้วนทำให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่นเดียวกับที่เกษตรกรชาวสวนต้องมีต้นทุนในการผลิตยางสูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะยุติม็อบชาวสวนยางพาราใน 14 จว.ใต้ที่ก่อตัวได้เพียงวันเดียว ก็ใช่จะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวปกป้อง “นายกฯปู” ไม่ให้ถูกรุมขย้ำด้วยปัญหาที่รายล้อมจากการบริหารประเทศแบบสวยใส แต่เป็นเพียงการสร้างความพึงพอใจในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้แม้จะมีการยื่นหนังสือแต่รัฐบาลไม่เคยมีปฏิกิริยาตอบรับดังเช่นการปิดถนน

ข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวสวนยางบรรลุวัตถุประสงค์ที่ให้รัฐบาลยอมรับข้อเสนอในการใช้กลไกตลาดยกระดับราคายางให้สูงขึ้น และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ในวันที่ 17 ม.ค.นี้ เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติจัดสรรวงเงินเพื่อซื้อยางจำนวน 200,000 ตันในราคาที่ชี้นำตลาด โดยมีเป้าหมายทำให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้น และมีเสถียรภาพในราคา 120 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะต้องมีผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ร่วมประชุม รวมทั้งให้นำมติที่ประชุมของคณะกรรมการชุดดังกล่าว นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 24 ม.ค.นี้ด้วยนั้น

ทว่า ยังเป็นแต่การประวิงเวลาในปัญหาเท่านั้น เพราะยังไม่มีใครกล้าการันตีว่าจะสามารถซื้อยางพาราจากเกษตรกรได้ในราคา 120 บาท/กก. ตราบเท่าที่คนของรัฐบาลยังไม่เปิดเผยสัญญาการลงนามซื้อขายยางล่วงหน้าที่มัดมือชกชาวสวนไม่ให้ลืมตาอ้าปาก และยังเป็นการเสียมารยาทยิ่งที่ไทยไม่เห็นหัวตลาดร่วมทุน 3 ประเทศ กลับหักหน้ามาเลเซียและอินโดนีเซียขายยางในราคาต่ำ

ดังนั้น ทางออกของราคายางพารานั้น นายอุทัยจึงแนะว่า ให้รัฐบาล “เลิกโง่” และปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโดยเร็ว ก่อนที่ชาวสวนจะฉิบหายมากไปกว่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น