ยะลา - ราคายางพาราและโครงการก่อสร้างสนามบินเบตงส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใน อ.เบตง ขยายตัว พร้อมฉุดราคาที่ดินให้สูงขึ้นตามไปด้วย โดยในย่านเศรษฐกิจราคาสูงถึงตารางวาละ 1.5 แสนบาท แพงกว่าราคาที่ดินสูงสุดในตัวเมืองยะลา
ความเคลื่อนไหวในด้านธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของอำเภอเบตงในช่วงปลายปี 2554 นั้น ยังคงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของภาคใต้ เศรษฐกิจ อ.เบตง ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง กอปรกับอาชีพที่สร้างรายได้หลักของประชาชนใน อ.เบตง คือสวนยางพารา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาของปี 2554 ถือว่ามีราคาดี จึงเชื่อมโยงให้เกิดการหมุนเวียนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา ตั้งแต่ผู้รับจ้างกรีดยาง เจ้าของสวนยาง ผู้ขายกล้ายาง ธุรกิจขายอุปกรณ์การปลูกและการกรีดยางพารา รวมทั้งธุรกิจค้าน้ำยางและยางแผ่น ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง
ส่งผลให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานและแหล่งทำมาหากินของผู้คน ทำให้เศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของ อ.เบตง ได้รับผลดีจากกลไกเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นภาพสะท้อนไปยังราคาซื้อขายที่ดินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนที่ดินบางแห่งในย่านชุมชนและย่านเศรษฐกิจใน อ.เบตง มีราคาสูงสุด 150,000 บาท/ตร.วา ซึ่งที่ดินราคาสูงที่สุดในตัวเมืองยะลาอยู่ที่ 40,000 - 50,000 บาท/ตร.วา ส่วนราคาที่ดินต่ำสุดใน อ.เบตง อยู่ที่ 100 บาท/ตร.วา ส่วนพื้นที่นอกเขตเทศบาลเมืองเบตง ที่ดินเปล่าอยู่ที่ไร่ละ 1 - 2 แสนบาท
นายวรวุฒิ ภคพงศ์พันธ์ ผจก.อาวุโส ธนาคารกรุงไทย สาขา เบตง เปิดเผยว่า ในด้านการอำนวยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ทุกชนิดของธนาคารพาณิชย์ใน อ.เบตง มีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นลูกค้าภาคเกษตรกรประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ จากการอนุมัติสินเชื่อเคหะและสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์
สำหรับสินเชื่อบุคคลขยายตัวขึ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ประชาชนถอนเงินไปซื้อบ้านจัดสรรและอาคารพาณิชย์เพื่อรองรับการขยายตัวในด้านธุรกิจ ประกอบกับประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ อ.เบตง มีอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะยางพารา นอกจากนี้ยังได้รับผลพวงจากการเวนคืนที่ดิน ที่จะมีการสร้างสนามบินในพื้นที่บ้านจันทรัตน์ ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา ที่ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเวนคืนที่ดิน ทำให้ประชาชนที่ถูกเวนคืนที่ดินนำเงินมาซื้อบ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ ในเขตเทศบาลเมืองเบตง เป็นจำนวนมาก
ด้าน นายดลเดช พัฒนรัฐ นายอำเภอเบตง กล่าวว่า อำเภอเบตงได้จ่ายเงินเวนคืนค่าจัดซื้อที่ดินสิ่งปลูกสร้างและค่าชดเชยพืชผลและค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ครั้งที่ 2 ให้กับเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นผู้เสียสละ 26 ราย 30 แปลง รวมเนื้อที่ 72 ไร่ 2 งาน 3 ตารางวา เป็นเงินทั้งสิ้น 24,002,393.63 บาท เพื่อก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง รองรับด้านคมนาคม เศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ประชาชนชาวเบตงและจังหวัดยะลา มีความต้องการเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะในมิติของความมั่นคง ประกอบกับ อ.เบตง มีถนนเข้ามาในพื้นที่เพียงเส้นทางเดียว คือ สาย 410 ซึ่งมีเส้นทางคดเคี้ยวและสูงชันทำให้การติดต่อคมนาคมไม่สะดวก ถ้าหากเพิ่มท่าอากาศยาน จะเป็นการดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคง
จังหวัดยะลาและเทศบาลเมืองเบตง จึงได้ริเริ่มโครงการจัดสร้างท่าอากาศยานดังกล่าว และได้รับความเห็นชอบในหลักการจากกรมการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคม โดยปี 2552-2554 จะทำการเจรจาจัดซื้อที่ดินของเกษตรกรที่อยู่บริเวณพื้นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งนี้ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 253 ล้านบาท ส่วนวงเงินการก่อสร้างท่าอากาศยานทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นงบต่อเนื่อง คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2555 ซึ่งจะแล้วเสร็จและเปิดทำการได้ในปี 2558
สำหรับโครงการท่าอากาศยานเบตงที่จะก่อสร้าง อยู่ห่างจากเทศบาลเมืองเบตง ประมาณ 15 กิโลเมตร ในพื้นที่ ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา สนามบินมีรันเวย์ ขนาด 30 คูณ 1,800 เมตร ทางขับขนาด 18 คูณ 702 เมตร ลานจอดเครื่องบินขนาด 94 คูณ 180 เมตร เครื่องที่ใช้บิน ATZ 72 - 500
ส่วนในด้านภาคพาณิชย์มีการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ประการแรกดูได้จากปริมาณการใช้เช็คในทางการค้า และธุรกรรมทางการเงินของห้างร้านต่างๆ มีอัตราต่ำสูงขึ้น ประการที่ 2 มีการขอวงเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจากปริมาณธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น แสดงถึงความต้องการใช้เงินเพื่อสั่งสินค้า อันเนื่องมาจากความต้องการขอประชาชน เป็นผลให้ธุรกิจจำเป็นต้องสต๊อกสินค้าโดยใช้เงินสดมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงสภาพคล่องทางด้านการเงินและด้านเครดิต ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินในท้องถิ่นด้วย
ทั้งนี้ เครือข่ายทางธุรกิจที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดของ อ.เบตง จะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์การก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะยางพารา หากมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 - 130 บาท ก็จะช่วยเสริมให้ประชาชนมีสภาพคล่องทางการเงินมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และที่สำคัญในเป็นเป้าหมายหลักในการเข้าถึงแหล่งทุนของประชาชน จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการพิจารณาสินเชื่อที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพื้นฐานของ อ.เบตง เป็นหลัก และควรมีมาตรการยืดหยุ่นเพื่อให้เกิดความสมดุลด้านความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น