xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ตรุษจีนนี้มาเร็วที่สุดในรอบ 40 ปี คนจีนในแผ่นดินใหญ่ที่เพิ่งฉลองปีใหม่มาหมาดๆ ก็ต้องวางแผนการเดินทางกันอีกครั้ง เพื่อ “กลับบ้าน” ฉลองตรุษจีน

ในห้วงดังกล่าวของแต่ละปี ทั้งนักเรียน นักศึกษา กรรมกรลูกจ้าง ตลอดจนนักท่องเที่ยว รวมเป็นจำนวนนับร้อยนับพันล้าน พากันเฮละโลไปขึ้นรถไฟ รถยนต์ เรือยนต์ และเครื่องบิน รวมทั้งขับรถนั่งส่วนตัว “กลับบ้าน” และเมื่อหลังการฉลองตรุษจีนผ่านไปแล้ว ทุกคนก็จะพากัน “กลับที่”

ระยะเวลา “กลับบ้าน” และ “กลับที่” ช่วงก่อนและหลังตรุษจีนนี้ ทางการจีนจะจัดการ “ชุนอวิ้น” หมายถึงการขนส่งผู้โดยสารในฤดูใบไม้ผลิ แต่ละปีจะกินเวลาราวเดือนเศษ เฉพาะปีนี้รวมทั้งหมด 40 วัน ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม ถึง 16 กุมภาพันธ์ 2012

เห็นตัวเลขของการเดินทางแล้วจะต้องตาโต เมื่อฝ่ายจัดการขนส่งจีนแจ้งว่า ปีนี้จะมีการเดินทาง (คำนวณตามเที่ยว) ตลอดห้วง “ชุนอวิ้น” รวมทั้งหมด 3,118 ล้านคน เพิ่มจากปีที่แล้ว 9.1% แบ่งเป็นทางรถไฟ 235 ล้านคน(เที่ยว) ทางรถยนต์ 2,845 ล้านคน(เที่ยว) ที่เหลือเป็นทางอากาศและทางเรือ

ฝ่ายจัดการ “ชุนอวิ้น” ยอมรับตรงๆ ว่า จำนวนคนเดินทางมหาศาลที่ไม่มีที่ใดเสมอเหมือนบนผิวโลกดวงนี้ ล้นทะลักเกินกว่ากำลังขนส่งที่มีอยู่ โดยเฉพาะทางบก สิ่งที่จะทำได้มากที่สุดก็คือ ระดมรถที่มีอยู่ในสต็อกทั้งหมดออกมาให้บริการ

จากเรื่อง “ชุนอวิ้น” ทำให้เราพอมองเห็นว่า ขนาดเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนั้น พอเอามาวัดกับจำนวนประชากรแล้ว ยังนับว่า “เล็ก” มาก ยังไม่สามารถแก้ไขความอัตคัตขัดสนที่คนจีนเผชิญหน้าอยู่ คิดดูเถอะ ลำพังรถไฟความเร็วสูงของจีน ที่มีระยะทางให้บริการร่วมหนึ่งหมื่นกิโลเมตร ยาวที่สุดในโลก และวิ่งเร็วที่สุดในโลก แต่ก็รับได้เพียงราว 8% ของ “ชุนอวิ้น” (ทางรถยนต์ราว 90%) จึงไม่แปลกที่จีนจะต้องเร่งพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทันสมัยแบบใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนั้นจะต้องอิงอยู่บนฐานของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจีน

การพัฒนาเศรษฐกิจ คือ “หัวใจ” ของการสร้างชาติจีน ตามคำวินิจฉัยของเติ้งเสี่ยวผิงที่กำหนดให้เศรษฐกิจเป็น “หัวใจ”ของการพัฒนาประเทศในรอบร้อยปีนี้ เพราะเมื่อเศรษฐกิจดีแล้ว อย่างอื่นจึงทำได้

เกษตรกรรมต้องดี พอเลี้ยงคนจีนนับพันล้านได้ อุตสาหกรรมต้องดี ช่วยให้คนจีนทำอะไรก็ได้ การค้าการลงทุนต้องทั่วถึง พอที่จะให้คนจีนมีงานทำ มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว วิทยาการเทคโนโลยีต้องก้าวหน้า พอที่จะนวัตกรรมสิ่งใหม่ขึ้นมาได้ตลอดไป บุคลากรต้องเยี่ยม พอที่จะสู้กับคนของประเทศอื่นได้ โดยทั้งหมดนั้นจะต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุพลังงาน มากมาย รวมทั้งการบริหารจัดการในระดับ “มหภาพ” และ “จุลภาค” ซึ่งตกอยู่กับรัฐบาลที่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ใช้ “สองมือ” ทำงานประสานกัน ประกอบด้วย มือที่หนึ่ง มือที่มองเห็น (การใช้กลไกรัฐ การวางแผน ควบคุมการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจมหภาพ) และมือที่สอง มือที่มองไม่เห็น (การพัฒนาระบบเศรษฐกิจตลาดให้เข้มแข็ง องค์กรธุรกิจการผลิตทั้งของรัฐ ของรวมหมู่และของเอกชน ทั้งของจีนและของต่างประเทศสามารถพัฒนาเติบใหญ่ ขับเคลื่อนไปได้ด้วยตนเอง)

ผู้บริหารประเทศของจีน จึงต้องเก่งทั้งสองมือ จึงจะสามารถรับมือกับปัญหาของจีน ที่ “หิน” สุดๆ ยิ่งกว่าประเทศอื่นใด

ผู้เขียนเคยได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ถ้าจะแก้ไขปัญหาระดับชาติของจีน จะต้องใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ ด้วยวิทยาการที่ล้ำหน้า และทรัพยากรมหาศาล ยิ่งกว่าประเทศอื่นใด และเมื่อแก้ไขได้ในประเทศจีน (เช่นการขนส่งด้วยระบบรถไฟความเร็วสูง) ก็จะใช้แก้ไขปัญหาลักษณะเดียวกันในประเทศอื่นๆ ได้ไม่ยาก และประหยัดยิ่งกว่าด้วย (โดยไม่ต้องวิ่งเร็วเท่ากับวิ่งในประเทศจีน)

การสร้างฐานทางเศรษฐกิจของจีน ไม่เพียงแต่ยกระดับเทคโนโลยีการผลิตเท่านั้น ยังพยายามขยายฐานใหม่ๆ เพิ่มอีกด้วย ล่าสุดก็ได้ออกหนังสือปกขาว เรื่องการพัฒนากิจกรรมอวกาศ ซึ่งนักสังเกตการณ์ชี้ว่า จะส่งผลเกิดการพัฒนา “เศรษฐกิจอวกาศ” (ไท่คงจิงจี้) ครั้งใหญ่ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งภายหลังการประกาศพัฒนา “เศรษฐกิจทะเลมหาสมุทร”(ไห่หยังจิงจี้) มาแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ หรือการแปรกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม ทั้งด้านภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิดีโอเกม สิ่งพิมพ์ ศิลปกรรม ประติมากรรม การแสดง เพลง ระบำ ดนตรี ตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับชาติ ฯลฯ ให้เข้าสู่กระบวนการผลิตเชิงธุรกิจอุตสาหกรรม ให้ขยายตัวใหญ่โตเป็นอีกหนึ่งฐานของเศรษฐกิจจีน

เกี่ยวกับเศรษฐกิจอวกาศ นายซุนเจียต้ง นักวิทยาศาสตร์อวกาศชั้นนำของจีน กล่าวว่า กิจกรรมอวกาศของจีน ได้สนองตอบความต้องการทางเศรษฐกิจของจีนเป็นเบื้องต้นแล้วตั้งแต่ปลายทศวรรษ ค.ศ. 1990 สร้างความมั่นคงให้แก่เศรษฐกิจจีน และในทางกลับกัน เศรษฐกิจจีนที่ดีก็นำมาสู่การพัฒนาอวกาศของจีนได้ทีละขั้นๆ อย่างมั่นคง เช่น การส่งคนขึ้นสู่วงโคจร และพัฒนาบุคลากรด้านอวกาศรุ่นใหม่ๆ จำนวนมากซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น อายุเฉลี่ยของพวกเขาแค่สามสิบกว่า ระดับหัวหน้าก็อยู่ในวัยก่อนสี่สิบ

เขาย้ำว่า น้ำหนักของกิจกรรมอวกาศจีน อยู่ตรงที่สนองตอบความต้องการทางเศรษฐกิจของจีน ในแต่ละปีสามารถส่งดาวเทียมและยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจรนับสิบๆ รายการ ยิ่งส่งขึ้นได้มาก ก็แสดงว่าสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศจีนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เมื่อนั้น รัฐบาลก็สามารถจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่มากขึ้น ให้แก่กิจกรรมอวกาศ ดำเนินการบุกเบิกใหม่ๆ ในห้วงอวกาศลึกๆ ออกไปอีก

ในปลายปี 2011 สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี จีน ได้ประกาศผลรางวัลทางด้านบุคคลเศรษฐกิจยอดเยี่ยมประจำปี ปรากฏว่าทีมพัฒนากลไกประกบประตูยานอวกาศ “เสินโจว 8” กับห้องอวกาศ “เทียนกง 1” ที่ประกบกันได้อย่างสนิทเนียบบนวงโคจรได้สำเร็จ ได้รับรางวัลใหญ่

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจอวกาศก่อนใครอื่น จากการคำนวณ ทุก 1 เหรียญดอลลาร์ ที่ลงทุนไปในกิจกรรมอวกาศ จะสามารถสร้างค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึง 7-14 เหรียญ

แต่ที่กระเป๋าฉีก เศรษฐกิจรุ่งริ่ง คนตกงานบานตะไท ก็เพราะจัดการไม่ดี รัฐ “จ่าย” มากกว่า “รับ” ประชาชน “บริโภค” มากกว่า “ผลิต” นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น