ที่สถานีขนส่ง จิ้นหยัง แออัดไปด้วยผู้คนต่างถิ่นซึ่งเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ และต่างมุ่งเดินทางกลับบ้านเพื่อไปฉลองปีใหม่กับครอบครัวของตน
เล่า หยาง ก็เป็นอีกคนหนึ่ง บ้านของเขาอยู่ในเขตเทือกเขา ซึ่งรถไฟไปไม่ถึง จึงต้องอาศัยรถบัส เมื่อผู้สื่อข่าวซีซีทีวีจีนไปขอสัมภาษณ์ เขาอายกล้อง ยังไม่ค่อยตอบอะไร
หยาง บอกว่าเขาเป็นชาวนา แต่ความที่นาแล้งมาก และปัญหาต้นทุนสูงขึ้นจนขาดทุนเป็นหนี้สิน ทำให้เขาไม่มีทางเลือก ต้องเดินทางเข้ามาในเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง เพื่อหางานทำและส่งเงินไปให้ครอบครัว แม้จะต้องห่างไกล แต่ก็ยังดีกว่า
เมื่อหยางเริ่มคุ้นเคยกับนักข่าว เขาโชว์ตั๋วรถโดยสาร และบอกว่า แค่คิดว่าจะได้กลับบ้านก็มีความสุขขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก มีคนที่เรารักรออยู่ที่บ้านเสมอ
"แม่ของผมอายุ 80 ปีแล้ว ผมคิดถึงแม่ ท่านแก่แล้ว และปีหน้านี้ ผมคงจะไม่ไปไหนไกลแล้ว"
เมื่อได้เวลารถจะออกจากสถานี เล่าหยาง บอกว่า นอกจากของเล็กๆ น้อยๆ ให้แม่ และภรรยาแล้ว เขายังมีรองเท้า 3 คู่ ซึ่งเขาเก็บเงินซื้อไปฝากลูกๆ ในวันปีใหม่นี้ เล่าหยาง วิ่งลากกระเป๋าเก่าที่อัดของแน่นไปขึ้นรถ และหันมาโบกมือบอกนักข่าวว่า "ดีใจครับ จะได้เจอหน้าครอบครัวแล้ว"
บริเวณชานชาลา สถานีรถฯ ยังคงคราคร่ำไปด้วยผู้โดยสารคนอื่นจำนวนมาก ซึ่งต่างรอคอยเวลานี้เช่นเดียวกับหยาง
คนจีนมีความเชื่อว่า ชีวิตคนก็เหมือนต้นไม้ เติบโตสูงใหญ่ไม่สำคัญเท่ารากยาว คนที่หลงลืมบรรพบุรุษ ก็เหมือนต้นไม้ไร้ราก ยากที่จะเจริญเติบโตงอกงาม และเทศกาลตรุษจีนนี้ ถือเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ที่สะท้อนความรักความผูกพันของครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานของชีวิต และเคยมีผู้กล่าวว่า หากชาวต่างชาติต้องการรู้จักคนจีนควรจะเริ่มต้นที่เทศกาลฯ นี้ ที่เรียกว่า "ชุนอวิ้น" 春运
หากจะถามต่อว่าเพราะอะไร ก็จะได้คำตอบว่า กิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลนี้ สะท้อนปรัชญาการอยู่ร่วมของครอบครัว ท่ามกลางสภาพสังคมที่แปรเปลี่ยนไปตามกาล ทั้งการใช้ชีวิตของผู้คน สภาพเมือง ระบบคมนาคม และประเพณีปฏิบัติต่างๆ ซึ่งมีบ้างที่ปรับ และมีมากที่เปลี่ยน แต่โดยรวมแล้ว คนภายนอกสามารถเรียนรู้หัวใจของคนจีนได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ของเทศกาลนี้
ตลอดเวลา 11 วัน ของเทศกาลใหญ่ ผู้คนต่างพูดกันแต่เรื่องว่าจะหาตั๋วกลับบ้านได้อย่างไร มีเว็บไซต์ตั๋วราคาถูกที่ไหน ทั้งคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำงานในเมือง นักเรียนนักศึกษา และคนทำมาค้าขายที่จากบ้านไกล รวมกันแล้วนับร้อยๆ ล้านคนในแต่ละปี ใครๆ จึงพากันเรียกว่า นี่เป็น "มหกรรมการเดินทางกลับบ้าน" ที่ใหญ่โตมโหฬารที่สุดในโลก ซึ่งมีรากฐานมาจากคำสั้นๆ ว่า "ครอบครัว"
นักศึกษาคนหนึ่งที่เข้ามาเรียนในเมือง บอกเล่าประสบการณ์ครั้งแรกที่กลับบ้านว่า เขาไม่มีตั๋วนั่ง จึงต้องยืนไปตลอดทางพร้อมกับแบกเป้หนัก 5 กิโลกรัมไว้ที่หลัง บางช่วงก็ได้นั่งบ้างโดยอาศัยเบียดกับผู้โดยสารคนอื่นๆ อีก 3 คน ทรมานเอาเรื่องอยู่ แต่บรรยากาศในรถนั้น กลับตรงกันข้าม "พวกเรากำลังกลับบ้าน ทุกคนมีความสุข"
รายงานข่าวในช่วงนี้ ส่วนมากจะนำเสนอในเชิงปริมาณผู้เดินทาง โครงการระบบคมนาคมขนส่ง ท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนจนทำให้หลายๆ คน คิดจะเปลี่ยนและปรับความยืดหยุ่นของช่วงเวลาวันหยุดนี้ ด้วยเหตุผลว่า "ปัญหามาก ต้นทุนสูง ทรมาน และไม่มีความจำเป็น" แต่ในด้านมิติทางวัฒนธรรมนั้น "ชุนอวิ้น" ยังคงสืบทอดธรรมเนียมปฏิบัติเก่าแก่ของชาวจีน ที่ให้ความสำคัญกับ "ครอบครัว" และผูกพันกับ "บ้าน" ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด
ผู้โดยสารที่สถานีรถไฟ เป่ยจิง เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ม.ค. รายงานข่าวกล่าวว่า ขณะนี้มีจำนวนผู้เดินทางออกจากเมืองใหญ่เพื่อกลับบ้านแล้วมากกว่า 21 ล้านคน (ภาพเอเยนซี)
ภาพความโกลาหล ที่สถานีรถไฟก่วงตง จนกลายเป็นข่าวใหญ่ เมื่อปี 2551 เมื่อสภาพอากาศเลวร้ายทำให้กำหนดการเดินรถล่าช้า ไม่สามารถให้บริการได้ และผู้โดยสารต้องแออัด อดทนรอกันแน่นที่หน้าสถานี (แฟ้มภาพฯ) ตั๋วรถไฟ สิ่งที่มีค่ายิ่งสำหรับชาวจีนนับล้านๆ คน ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ (แฟ้มภาพ)
คลิปร้องเพลง"ชุนเทียนหลี่" 《春天里》 โดยหวังซี่ว์(王旭) และหลิวกัง (刘刚) - หวังซี่ว์ชาวเหอหนัน อายุ 44 ปี และหลิวกังชาวตงเป่ย อายุ 29 ปี เป็นแรงงานอพยพที่เดินทางเข้ามาใช้แรงงานยังมหานครปักกิ่ง บันทึกเสียงเพลงแห่งความรู้สึกของตนในห้องเช่าเล็กๆ กลางเมืองหลวง สะท้อนความรู้สึกของแรงงานอพยพที่ต้องทนต่อความเดียวดายเนื่องจากพลัดพรากจากบ้านเกิด และไม่มีตัวตนหรือความสำคัญใดๆ ในสังคมเพราะยากจน เมื่อคลิปนี้แพร่หลายไปบนอินเทอร์เน็ต ได้กระแทกความรู้สึกและสร้างความประทับใจให้ผู้คน จนทั้งสองโด่งดังติดอันดับชายร้อนแรงบนโลกไซเบอร์ปีกลาย (2553)
แม้จะไม่เกี่ยวกับเทศกาลฯ แต่ The Road Home (พ.ศ. 2543 กำกับการแสดงโดย จางอี้โหมว) ก็เป็นภาพยนตร์จีนที่สะท้อนเนื้อหาค่านิยมความรักความผูกพันของครอบครัวและการรอคอยคนรักกลับบ้าน ทั้งตลอดชีวิตและหลังความตาย เมื่อแม่ผู้แก่เฒ่าต้องการที่จะเคลื่อนย้ายศพสามีของเธอจากโรงพยาบาลกลับบ้านตามประเพณี ด้วยการแบกโลงเดินเท้า ไม่ว่าจะต้องฝ่าพายุหิมะ ทางกันดารเพียงใด (ตามความเชื่อในพิธีเชิญวิญญาณกลับบ้าน ที่ว่าจะทำให้วิญญาณผู้ตายจำทางกลับบ้านได้ และไปสู่สุคติ)