xs
xsm
sm
md
lg

คนนนท์ปิดถนนซ้ำ จวกเปิดช่องร้านเครื่องไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (8 ม.ค.55) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว พร้อมกับนำคูปองส่วนลดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กระทรวงพลังงานแจกให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัย เพื่อนำไปใช้ซื้อเป็นส่วนลดเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ถูกบรรดาพ่อค้าร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าหัวใส ประกาศรับซื้อในราคาถูกสำหรับคูปอง และจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในราคาเอาเปรียบ โดยเฉพาะคูปองได้มีการพิมพ์เกินมาจากกำหนดของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเกรงว่าจะมีการคอรัปชั่นในโครงการนี้

**คนนนท์ปิดถนนฉุน!ไม่ได้รับ 5 พัน
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มชาวบ้านแฟลตเอื้ออาทร 3 ร่วม100 คน เดินทางไปรวมตัวบริเวณ ถ.กาญจนาภิเษก ย่านบางใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมครัวเรือนละ 5 พันบาท ส่งผลให้การจราจรขณะนี้ด้านขาออกช่องทางด่วน และคู่ขนานใช้การได้อย่างละ 1 ช่องทางการจราจร ขณะที่การจราจรรถติดสะสมยาวประมาณ 2-3กิโลเมตร
พ.ต.ท.ฐานพันธ์ เฉลิมพัชรพรกุล สารวัตรป้องกันและปราบปราม สภ.บางใหญ่ รับแจ้งเหตุชาวบ้านจากหมู่บ้านเอื้ออาทร ภายในซอยกันตนา อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี กว่า 100 คน รวมตัวกันออกมาปิดถนนกาญจนาภิเษกฝั่งขาออก จากต่างระดับฉิมพลีมุ่งหน้า บางใหญ่ ช่วงปากซอยกันตนา โดยปิดการจราจรทั้งในช่องทางด่วน และช่องทางคู่ขนาน แต่ยอมเปิดในช่องทางด่วน ให้รถยนต์ผ่านไปได้เพียง 2 ช่องจราจรเท่านั้น
ชาวบ้านเรียกร้องกรณีเงินเยียวยาช่วยเหลือน้ำท่วม 5,000 บาท เพราะหลังจากเกิดปัญหาน้ำท่วม จนน้ำลดลงแล้ว ชาวบ้านยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว โดยชาวบ้านต้องการเจรจากับ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องเงินช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาท แต่กลับมี นายอำเภอบางใหญ่ และผู้กำกับการ สภ.บางใหญ่ เข้ามาเจรจากับแกนนำชาวบ้าน
ทั้งนี้ชาวบ้านได้ปิดการจราจรทั้งในช่องทางด่วน และช่องทางคู่ขนาน แต่ยอมเปิดในช่องทางด่วน ให้รถยนต์ผ่านไปได้เพียง 2 ช่องจราจรเท่านั้น
ล่าสุดเมื่อเวลา 14.26 น.กองบังคับการตำรวจจราจร ประกาศแจ้งความคืบหน้าว่ากลุ่มชาวบ้านยอมสลายการชุมนุมแล้ว โดยจะรอฟังผลในช่วงเย็น สำหรับสภาพการจราจรถนนกาญจนาภิเษกทั้งขาเข้าและขาออก ช่วงบางใหญ่รถหนาแน่นติดขัด เจ้าหน้าที่กำลังเร่งระบายรถอยู่
ขณะที่อีกด้าน ชาวบ้านในพื้นที่ เขตบางแค เกือบ 100 คน เดินทางมายัง สำนักงานเขตบางแค เพื่อ ขอรับหนังสือรับรอง เกี่ยวกับเรื่องเงินเยียวยาช่วยเหลือน้ำท่วม โดยในใบนัดจากทางสำนักงานเขตบางแค ให้มาติดต่อขอรับหนังสือรับรองดังกล่าวได้ ในวันที่ 8 ม.ค.2555 แต่เมื่อชาวบ้านเดินทางมาถึง ทางเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตบางแค กลับบอกว่า วันนี้ ทางเขตปิดทำการ และให้มาใหม่ ในวันทำการ วันที่ 9 ม.ค.นี้ โดยไม่มีการชี้แจงอะไรกับชาวบ้าน เนื่องจาก วันนี้ เป็นวันหยุดราชการ ทางสำนักงานเขตบางแค จึงหยุดทำการ และขอให้ประชาชน มาขอรับหนังสือรับรองได้ ตั้งแต่วันดังกล่าว

**หมู่บ้านเมืองเอกระดมบูรณาการ
ที่ มหาวิทยาลัยรังสิต มีการจัดประชุมประชาชนในหมู่บ้านเมืองเอก เพื่อหาแนวทางป้องกันน้ำท่วม พร้อมตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อพิจารณาแนวทาการป้องกันน้ำท่วม โดยส่วนใหญ่เป็นภาคประชาชน และเตรียมเลือก สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) 1 คน ให้เป็นตัวแทนหมู่บ้านเมืองเอก เพื่อลงสมัครแข่งขัน

**โพลล์ย้ำชัดรัฐจ่าย 5 พันน้อยไป
ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบคโพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูบ้านและทรัพย์สินครัวเรือนหลังน้ำลดของประชาชน โดยสำรวจจากผู้ประสบภัยในพื้นที่ 9 จังหวัด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.2 ต้องใช้เงินตัวเองฟื้นฟูบ้านและธุรกิจหลังน้ำลด และร้อยละ 40.8 ยังต้องกู้ยืมเงินนอกระบบ ซึ่งประชาชน ร้อยละ 59.5 ยังเห็นว่า เงินเยียวยาควรมากกว่า 5 พันบาท
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจ ยังพบว่า ผลกระทบจากน้ำท่วม คือ ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ร้อยละ 86.5 อาคารบ้านเรือน เสียหาย ร้อยละ 81.6 ทรัพย์สิน รถยนต์เสียหาย ร้อยละ 61.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ รายการฟื้นฟูหลังน้ำลด สุงสุด คือ ซ่อมแซมบ้านเรือน ร้อยละ 68.4 โดยเป็นมูลค่าเฉลี่ย 37,022 บาท และซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ ร้อยละ 40.6 เป็นมูลค่าเฉลี่ย 20,745 บาท

**แนะรบ.ทบทวนมาตรการฟื้นฟูเพิ่ม
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคฯ กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีภาระค่าใช้จ่ายพุ่งจากน้ำท่วม และเงินเยียวยา 5,000บาทไม่เพียงพอชี้ชัดได้ว่า ชาวบ้านเหยื่อน้ำท่วมกำลังเดือดร้อนเป็นทุกข์ในภาระค่าใช้จ่ายต้องหยิบยืมและพึ่งพากู้เงินนอกระบบอย่างแน่นอน เงินเยียวยาของรัฐบาลจำนวนห้าพันบาทไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมส่วนใหญ่ของพื้นที่ภัยพิบัติทั้งหมด จึงจำเป็นต้องทบทวนมาตรการฟื้นฟูเยียวยาเพิ่มเติมโดยเสนอให้พิจารณาแนวคิดและงานวิจัยมาตรการรับมือภัยพิบัติที่ค้นพบในต่างประเทศ เช่น เสนอให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจสำมะโนครัวเรือนในแต่ละพื้นที่หาความเป็นจริงของมูลค่าความเสียหายแต่ละครัวเรือน
เสนอให้ทำแผนรับมือภัยพิบัติทุกประเภทอย่างยั่งยืน ให้มี “แผนหรือนโยบายรัฐบาลว่าด้วยเรื่องภัยพิบัติ” ต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนตั้งแต่ต้น เสนอให้มี “ข้อมูลข่าวสาร” ที่แม่นยำเชื่อถือได้และเข้าถึงประชาชนโดยการพัฒนาประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ทั้งฟรีทีวีและเคเบิลทีวี
เสนอให้มีการฝึกอบรมและเพิ่มเนื้อหาด้านการศึกษาภัยพิบัติลงในหลักสูตรให้แก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาสามารถสังเกตสัญญาณเตือนภัย และสามารถเอาตัวรอดได้จากภัยพิบัติทุกรูปแบบ เสนอให้มีความร่วมมืออย่างแท้จริงทั้งรัฐบาล องค์กรไม่หวังผลกำไร และบริษัทเอกชนพิจารณาระบบรับประกันความเสี่ยงภัยพิบัติทุกรูปแบบที่ถาวรครอบคลุมทั่วประเทศ
ประการที่สำคัญคือ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่สร้างภาพที่ทำไม่ได้จริง ถ้าจะประกาศอะไรที่ทำให้รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐผู้ประกาศดูดี แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นตามที่พูดหรืออยู่ในสภาวะที่เคยโจมตีผู้อื่นว่า “ดีแต่พูด”

**180 หมู่บ้าน บางเลน จ.นครปฐมยังจม
ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศอส. รายงานสถานการณ์อุทกภัยในปัจจุบันและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ใน 2 พื้นที่ คือ ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอุทกภัยในจังหวัดนครปฐม ที่อำเภอบางเลน 15 ตำบล 180 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 14,680 ครัวเรือน 43,760 คน จากสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด
ทั้งนี้ มีจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว อยู่ระหว่างฟื้นฟู 64 จังหวัด
ขณะที่การปฏิบัติการช่วยเหลือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จ่ายเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท (กรณีอุทกภัย) ปี 2554 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ประสบอุทกภัย 30 เขต จำนวน 621,355 ครัวเรือน เป็นเงิน 3,106,775,000 บาท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินแล้ว 262,547 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,312,735,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 42.25 และจนถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ธนาคารออมสินจ่ายเงินให้ผู้ประสบภัยแล้ว 102,879 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 39.18
ส่วนในพื้นที่จังหวัดที่ประสบอุทกภัย 62 จังหวัด คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความช่วยเหลือ จำนวน 2,289,562 ครัวเรือน เป็นเงิน 11,447,810,000 บาท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินแล้ว 808,182 ครัวเรือน เป็นเงิน 4,040,910,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 53.18 และจนถึงวันที่ 4 มกราคม 2555 ธนาคารออมสินจ่ายเงินให้ผู้ประสบภัยแล้ว 591,802 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 73.23 ทั้งนี้มีจังหวัดแจ้งระงับการจ่ายจำนวน 660 ครัวเรือน
กำลังโหลดความคิดเห็น