xs
xsm
sm
md
lg

ใต้ยังวิกฤติคลื่นฝนจ่อถล่ม6-8ม.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้-ปภ.ประสานเสียงประกาศเตือนภาคใต้ 8 จังหวัดเตรียมพร้อมรับมือคลื่นลมแรงและฝนจ่อถล่มระลอกใหม่ 6-8 ม.ค.นี้ ด้าน "ผบ.ทร." ยังไม่ไว้ใจสถานการณ์น้ำท่วมใต้ “อภิสิทธิ์” แฉรัฐวางเกมเบี่ยงประเด็นไม่ให้คนสนใจน้ำท่วม ด้าน มท.1 ลงหาดใหญ่ ระบุเห็นด้วยกับแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยการขยายคลองระบายน้ำ ร.1 ด้านน้ำท่วมใต้หลายจังหวัดเริ่มคลี่คลาย

วานนี้ (5 ม.ค.) สภาพคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง 6 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร อ.ระโนด และ อ.เมือง ยังคงมีกำลังแรง แม้จะไม่สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ชายฝั่ง แต่ชาวประมงพื้นบ้านยังไม่กล้าออกทำการประมง เนื่องจากคลื่นยังสูง 1-2 เมตร ต้องหยุดออกเรือต่อเนื่องมากว่า 3 เดือน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเนื่องจากขาดรายได้

ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่บ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว บางส่วนต้องหันไปประกอบอาชีพก่อสร้าง เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวในช่วงที่ว่างเว้นจากการหยุดออกเรือ ซึ่งชาวประมงคาดว่า อีกประมาณ 4-5 วัน จะสามารถเดินเรือตามปกติได้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้ออกประกาศเตือนฉบับที่ 2 เรื่อง คลื่นลมแรงในอ่าวไทย บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศตอนบนแล้ว โดยจะทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช ลงมามีฝนกระจาย สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระหว่างวันที่ 6-8 ม.ค.นี้

**ปภ.เตือน8จังหวัดใต้รับมือฝนตกหนัก

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 6-8 ม.ค. บริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนตกชุกเพิ่มขึ้น และฝนตกหนักบางพื้นที่ ประกอบกับหลายพื้นที่มีสภาพดินชุ่มน้ำและเกิดสถานการณ์อุทกภัยอยู่แล้ว อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มได้อีก จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำชายฝั่งทะเล และพื้นที่เสี่ยงภัยใน 8 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี สตูล และนราธิวาส เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 6-10 ม.ค.โดยติดตามพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที ส่วนชาวเรือและชาวประมง ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

นายวิบูลย์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานให้ทั้ง 8 จังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ และคันกั้นน้ำ หากไม่มั่นคงแข็งแรงให้แก้ไขโดยด่วน

สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลาสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

**ผบ.ทร.พร้อมช่วยเหลือ

พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร.ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ว่า กำลังของกองทัพเรือภาค 2 ภาค 3 และหน่วยนาวิกโยธิน ได้ร่วมสนับสนุนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกับทางจังหวัดที่ร้องขอ ปัจจุบันเราได้ส่งกำลังพลไปช่วยเหลือที่ อ.ระโนด และ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี ทั้งนี้ กองทัพเรือพร้อมที่จะสนับสนุนช่วยเหลือตลอดเวลา โดยเราจัดตั้งหมู่เรือช่วยผู้ประสบภัย มีเรือหลวงจักรีนฤเบศร์ และเรือหลวงสุรินทร์พร้อมช่วยเหลือเมื่อทางรัฐบาลหรือกระทรวงกลาโหมสั่งการ เรือเราพร้อมออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที

**ให้กองทัพใช้งบเร่งด่วนแก้น้ำท่วมใต้

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ได้รายงานความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินการให้ตนทราบ โดยได้ใช้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของกองทัพภาคที่ 4 เต็มพื้นที่ทุกจุดที่จะเข้าไปแก้ปัญหาได้ ในส่วนที่ต้องแก้ปัญหาเรื่องสะพาน ถนนขาด ก็ให้รีบทำพื้นที่ที่ต้องแก้ปัญหาเรื่องดินถล่มได้เตรียมเครื่องมือหนักไว้แก้ปัญหา

นอกจากนี้ ยังให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของกองทัพภาคที่ 1 , 2 , 3 เตรียมพร้อมที่จะเข้าไปเสริมกำลัง สำหรับเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้นั้นคงต้องทำย้อนหลัง แต่ขณะนี้ใช้งบเร่งด่วนในการแก้ปัญหาล่วงหน้าไปก่อน โดยตนให้ทำ 7 วัน ว่ามีการใช้งบไปเท่าไหร่ ดำเนินการอะไรบ้าง จากนั้นก็จะขอให้งบประมาณต่อไป

**“อภิสิทธิ์”ลงชุมพร-สุราษฎร์ฯ

วันเดียวกันนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงพื้นที่เยี่ยม พร้อมมอบถุงยังชีพโครงการอาสาประชาชน ให้กับชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยที่ จ.ชุมพร และสุราษฎร์ธานี

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในวันเสาร์ ที่ 7 ม.ค.จะเดินทางไป จ.นครศรีธรรมราช ทั้งนี้อยากจะเห็นบทบาทของรัฐบาลและศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือน้ำท่วม (ศปภ.) มีบทบาทในการดูแลภาคใต้มากกว่านี้ และตนรู้สึกว่ารัฐบาลพยายามไม่ให้คนให้ความสนใจกับน้ำท่วม เพราะอยากให้สนใจเรื่องการฟื้นฟูหลังน้ำลด พอเกิดเหตุที่ภาคใต้ ซึ่งอาจจะล่าช้ากว่าที่อื่น ก็จะเป็นปัญหาขึ้นมา

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ศปภ.ยังไม่ได้ถูกยุบ ก็ควรจะเข้าไปดูแลช่วยเหลือชาวใต้ โดยอยากให้ทั้งนายกฯ และศปภ. เอาใจใส่กับการแก้ปัญหาพื้นที่ภาคใต้ด้วย ส่วนกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ มีแนวคิดที่จะสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลนั้น ตนอยากให้พิจารณาอย่างรอบคอบ แนวทางแก้ปัญหาดีที่สุดคือ สานต่อสิ่งที่รัฐบาลที่แล้วทำไว้ โดยสำรวจร่วมกับประชาชนในการอพยพชาวบ้านริมชายฝั่งไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยได้ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อนุญาตให้ชาวบ้านจ้าไปพักอาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดได้ส่งแผนดำเนินการให้รัฐบาลพิจารณาแล้ว จึงอยากให้สานต่อเรื่องนี้

**“เทือก”เย้ยคนใต้ช่วยตัวเองได้ไม่ต้องรอรบ.

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมุ่งเน้นเรื่องการฟื้นฟูในพื้นที่ภาคกลางมากกว่าการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ว่า ตนคิดว่าเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลสอบตกมาตลอด ทั้งภาคเหนือ กลาง กทม. และภาคใต้ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ เราก็ไม่ได้คาดหวังว่ารัฐบาลจะทำอะไรได้ดีหรือพิเศษ เพราะเราเห็นว่าการแก้ปัญหาที่ผ่านมาล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่ารัฐบาลยังมีโอกาส อย่าไปจมปลักอยู่กับเรื่องเก่า อย่าไปมัวแต่คิดถึงเรื่องแก้แค้น เรื่องประโยชน์พวกพ้อง ญาติพี่น้องตัวเอง วันนี้ยังไม่สายที่จะมาคิดทำงานอย่างจริงจังในการฟื้นฟูให้ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมมีโอกาสได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ รัฐบาลยังมีโอกาสอยู่ถ้ารีบทำงานตั้งแต่ตอนนี้

**มท.1เห็นชอบขยายเพิ่มป้องกันน้ำท่วม

เวลา 16.00 น. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รมว.มหาดไทย พร้อมนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยได้เดินทางไปตรวจสภาพคลองระบาย ร.1 บ้านหน้าควน เขตเทศบาลเมืองควนลัง ซึ่งเป็นคลองที่ผันน้ำมาจากคลองอู่ตะเภาเพื่อระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลา หลังจากที่ได้เกิดภาวะน้ำขึ้นในพื้นที่ 4 ชุมชนภายในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และเขตเทศบาลเมืองควนลัง เนื่องจากปริมาณน้ำในคลองระบายน้ำ ร.1 เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วม โดยมี นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจ.สงขลา นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และนายดนัยวิทย์ สายบัณฑิต ผู้อำนวยโครงการชลประทานสงขลา รายงานสถานการณ์ให้รับทราบ

นายยงยุทธ เปิดเผยภายหลังว่า เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมหาดใหญ่และพื้นที่รอบนอกตลอดแนวคลองระบายน้ำ ร.1 ที่ทางโครงการชลประทานได้เสนอโครงการพัฒนาตามแผนหลักเพื่อการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา จ.สงขลา โดยการขยายแนวคันคลองระบายน้ำ ร.1 ให้กว้างขึ้นเกิน 90 เมตร และสร้างคอนครีตแนวคันคลองทั้งสองฝั่งเพื่อความแข็งแรงตลอดระยะทาง 7 กิโลเมตร จากประตูระบายน้ำบ้านหน้าควน ซึ่งที่ผ่านมาคลองระบายน้ำ ร.1 สามารถระบายน้ำได้ 465 ลูกบาตรเมตรต่อวินาที

หากมีการขยายแนวคันคลองตามแผนจะสามารถเพิ่มกำลังระบายน้ำได้1,000 ลูกบาศกร์เมตรต่อวินาที ส่วนคลองอู่ตะนั้นสามารถระบายน้ำได้ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งหากเป็นไปตามจะสามารถเพิ่มความเร็วในการระบายน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลาได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะใช้งบประมาณจำนวน 3,000 ล้านบาท

แต่หากจะแก้ปัญหาน้ำท่วมหาดใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จจะต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาทเพื่อขยายแนวคันคลองระบายน้ำ ร.1 ตลอดระยะทาง 7 กิโลเมตรให้ได้ความกว้าง120 เมตร และสร้างโรงสูบน้ำเพิ่มอีก 1 โรง ซึ่งจะทำให้เพิ่มกำลังการระบายน้ำเป็น 1,200 ลูกบาตรเมตรต่อวินาที เมื่อรวมกับการระบายน้ำในคลองอู่ตะเภา500 ลูกบาตรเมตรต่อวินาที ก็จะสามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลาได้ทั้งสิ้น 1,700 ลูกบาตรเมตรต่อวินาที ซึ่งเท่ากับปริมาณน้ำท่วมหาดใหญ่ครั้งใหญ่เมื่อปี 53 ซึ่งมีปริมาณน้ำมากที่สุด ซึ่ง นายยงยุทธ รับที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.โดยเร็วที่สุด

**น้ำท่วมใต้หลายจังหวัดคลี่คลายมากขึ้น

ด้านสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้บางพื้นที่เริ่มคลี่คลายมากขึ้นจนเกือบจะเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นครศรีะรรมราชวานนี้ หลังจากฝนได้หยุดตกส่งผลให้การระบายน้ำในจุดที่น้ำท่วมขังเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เกือบทุกพื้นที่กำลังเข้าสู่สภาวะปกติ ยกเว้นชุมชนบ้านตก ชุมชนบ่อทรัพย์ ชุมชนท่าโพธิ์ และชุมชนราเมศวร์ ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังแต่ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว การระบายน้ำลงสู่คลองท่าซาก คลองปากนคร ก่อนระบายออกสู่ปากอ่าวปากนคร
กำลังโหลดความคิดเห็น