xs
xsm
sm
md
lg

“เนวิน-สุวัจน์”เงียบ! ปีใหม่!งดตอบอนาคตพ้นเว้นวรรค 5 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3 ม.ค.) นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทย และเป็น หนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ไทยรักไทย ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไป หลังจากการรัฐประหาร เมื่อปี 2549 ปฏิเสธ ที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับมุมมองการเมือง ในปี 2555 แม้ว่า จะมีหลายคนออกมาคาดเดาว่า อาจจะมีความรุนแรงขึ้นกว่าปีก่อน หากมีการเร่งรีบในการแก้รัฐธรรมนูญมากเกินไป
นายเนวิน ยังไม่ขอพูดถึง อนาคตทางการเมืองของตนเอง หลังจากจะพ้นโทษเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ในเดือนพฤษภาคมนี้ แม้ว่า แกนนำพรรคคนสำคัญ อย่าง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จะออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

**สุวัจน์งดแสดงความเห็นช่วงปีใหม่
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน และเป็นหนึ่งในสมาชิก บ้านเลขที่ 111 ที่หลายฝ่ายกำลังพูดถึงว่า จะกลับมามีบทบาทในการเมืองแถวหน้าอีกครั้ง โดยปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และอนาคตทางการเมืองของตนเอง เพียงแต่กล่าวว่า จะพูดอีกครั้งหลังจากผ่านช่วงวันดี ๆ เทศกาลปีใหม่ไปก่อน
นายสุวัจน์ ยังได้พูดถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมาว่า จากการจัดการแข่งขันเทนนิส ได้เชิญนักกีฬาระดับโลกมาแข่งขัน ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และถือเป็นการทำงานช่วยประเทศ ในการโปรโมตเรื่องของการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ได้ดีเป็นอย่างมาก มีการนำเสนอกิจกรรมทางวัฒนธรรมของไทยไปทั่วโลก และคิดว่าในอนาคต ก็ยังจะดำเนินการต่อไป แต่จะมีการพิจารณาเรื่องของอีเวนท์และสถานที่ เพื่อสนับสนุนทุกจังหวัด ทุกเมืองท่องเที่ยวด้วย

**“พงษ์เทพ” ยังไม่ตอบร่วมรบ.หรือไม่
นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และสมาชิกบ้านเลขที่ 111 กล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลใน 4 เดือนที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลโชคร้ายที่เข้ามารับหน้าที่ในช่วงเกิดปัญหาอุทกภัย ทำให้นโยบายต่าง ๆ ที่ต้องเดินหน้าเกิดความล่าช้า ไม่ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ และยังต้องนำงบประมาณบางส่วนเข้ามาแก้ไขปัญหาก่อน
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าเมื่อสมาชิกบ้านเลขที่ 111 พ้นจากการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเข้ามาร่วมรัฐบาลนั้น นายพงษ์เทพ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณาในการผลักดันนโยบายและการดึงบุคลากรต่างๆ มาร่วมงาน ซึ่งก็มีทั้งคนในและนอกรัฐบาล แต่ส่วนตัวยังไม่คิดอะไร หากนายกรัฐมนตรีทาบทามให้ร่วมงานกับรัฐบาลหลังพ้นผิด การช่วยแนะนำบางเรื่องที่เป็นประโยชน์ ก็ถือเป็นประโยชน์กว่าลงมือทำเอง
นายพงษ์เทพ กล่าวว่า หากสมาชิกบ้านเลขที่ 111 พ้นโทษและมาร่วมงานกับรัฐบาลก็จะไม่เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคเพื่อไทย เพราะการทำงานย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและพรรคก็มีกฎกติกาของพรรค ซึ่งในสมัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีการปรับ ครม.หลายครั้ง ก็ไม่เกิดปัญหา และขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยใดที่จะนำไปสู่การยุบสภา เปิดทางให้สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ได้มีการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่การทำงานของรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ หากยังบกพร่องนายกรัฐมนตรีต้องพูดคุยและปรับแนวทาง หากยังติดขัดก็สามารถปรับ ครม.ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอเวลา

**ชทพ.ปัดสัญญาณแลกกระทรวง
นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีการส่งสัญญาณ หรือเรียกรัฐมนตรีในโควต้าของพรรค เข้าหารือ เพื่อปรับเปลี่ยนตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ตามที่มีแหล่งข่าวของพรรคเพื่อไทย ระบุว่าจะมีการแลกเก้าอี้ระหว่างระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้เชื่อว่า แกนนำของพรรคจะไม่สนใจในข่าวปล่อยดังกล่าวจนสร้างความขัดแย้ง หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างพรรค
"การออกมาให้ข่าวของแหล่งข่าวที่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อ ในขณะนี้เชื่อว่า เป็นการหวังผลทางการเมืองของกลุ่มบุคคล หรือบุคคล ที่มีกิเลสอยากได้ตำแหน่งเท่านั้น" นายวัชระ กล่าว

**เหลิมกั๊กตอบรัฐไม่ส่งประกบร่างเหวง
อีกด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่าตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลจะไม่เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ได้พูดมาตั้งแต่ต้นว่า การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ 3 ภาคส่วนคือรัฐบาล ประชาชน และ ส.ส. ซึ่งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าภาพเสมอไป เพราะเมื่อพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเป็นเจ้าภาพแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชน ก็เข้าใจได้ว่า รัฐบาลก็ทำ
ส่วนที่รัฐบาลจะไม่ส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ประกบกับ ร่างรัฐธรรมนูญที่ภาคประชาชนส่งไปก่อนหน้านี้นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการหารือในรายละเอียดกัน แต่ส่วนตัวยืนยัน ที่มาของ ส.ส.ร.ว่า ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และให้ 77 คนไปเลือกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 22 คน รวมเป็น 99 คน
"ผมยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญควรรอไปอีก 8 เดือน เพื่อให้รัฐบาลมีผลงานเรื่องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ยาเสพติด และเรื่องอื่นๆ ก่อน ส่วนที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกันในพรรคเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย แสดงว่า พรรคเพื่อไทยมีความเป็นประ ชาธิปไตย จึงมีความขัดแย้งกันได้"ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยพรรคเพื่อไทยไม่เคยเสนอแก้ไขมาตรา 112 และหากใครเสนอตนจะเป็นผู้คัดค้านเอง
เมื่อถามว่า จะพูดคุยทำความเข้าใจกับ ส.ส.หรือแกนนำเสื้อแดงที่ต้องการให้แก้ไขมาตรา 112 ได้หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมตอบว่า คุยกันได้ ขนาดสหรัฐอเมริกากับจีนทะเลาะกัน ยังดีกันได้เลย
ร.ต.อ.เฉลิม ยังสรุปด้วยว่า ในวันที่ 6-9 ม.ค. นี้ จะเดินทางไปภาคอีสาน เพื่อพบผู้ว่าราชการจังหวัด 20 จังหวัด และมอบนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติด

**“พท.ปัดข้อเสนอกักบริเวณ”แม้ว”
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายเสนาะ เทียนทอง เสนอให้กักบริเวณ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแทนการติดคุกว่า ก็เป็นความเห็นส่วนตัวของนายเสนาะ แต่เรื่องนี้ส่วนตัวมองว่าถ้าหากพ.ต.ท.ทักษิณกลับมาควรจะกลับมาอย่างสง่างามมากกว่า เพราะขณะนี้เมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยและพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งวันนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งคดีของพ.ต.ท.ทักษิณเกิดจากกระบวนการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดๆที่จะมากักบริเวณอดีตนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องมาคุยกันเรื่องความเป็นธรรมด้วย ที่ผ่านมาการยึดอำนาจหลายสิ่งหลายอย่างที่สร้างมาก็ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับพ.ต.ท.ทักษิณ และไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้

**เชื่อปี55ไม่แรง วอนปชป.สร้างสรรค์
นายพร้อมพงศ์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา พรรคภูมิใจไทยวิเคราะห์การเมืองปี 2555 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้ชนวนความขัดแย้งเกิดขึ้น ว่า ตนมองว่านายสมศักดิ์มองการเมืองในแง่ร้ายเกินไปเพราะการแก้รัฐธรรมนูญนั้น พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงกับไว้กับประชาชนในช่วงที่มีการเลือกตั้งยืนยันได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้แก้ไขเพื่อคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องการให้การเมืองพัฒนาไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ฉะนั้นควรที่จะหันมาเสนอแนะที่เป็นไปทางที่สร้างสรรค์จะดีกว่า ส่วนถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเสนอลักษณะเป็นกฎหมายดีกว่าจะพูดตีกันและโยนบาปให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำอยู่บนผลประโยชน์ของพรรคเพื่อไทย หรือคนใดคนหนึ่ง แต่การแก้ไขก็เพื่อคนไทยทุกคน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้คงไม่เกิดปัญหาใดๆถ้าทุกคนเคารพเสียงของประชาชน ทุกอย่างอยู่ที่การทำความเข้าใจกันทุกภาคส่วนให้มีความเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งเชื่อว่าทั้งวิปรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องมีจุดยืนทำเพื่อประชาชนให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพจริงๆก็จะไม่มีปัญหา เชื่อว่าความขัดแย้งที่หลายฝ่ายกังวลก็ไม่เกิดขึ้น
ส่วนกรณีที่บางฝ่ายแสดงความกังวลว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้มีการไปแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา112 ด้วยนั้น นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านพยามเบี่ยงเบนประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่เอามาตรา112เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งความเป็นจริงไม่เกี่ยวกันเนื่องจากมาตรา112เป็นประมวลกฎหมายอาญา และพรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญา ซึ่งไม่เกี่ยวกันมันคนละเรือ่งลักษณะเหมือนกับนำมาตรา112มาโยงกันทั้งที่พรรคเพื่อไทยได้ยืนยันแล้วว่าไม่ได้หาเสียงไว้ รวมถึงไม่มีนโยบายแก้มาตรา112 เป็นเรื่องขององค์กรอื่นๆ
“ผมอยากเรียกร้องให้พรรคฝ่ายค้านทำการเมืองตรวจสอบอย่างสร้างสรรค์เลิกจองเวรพ.ต.ท.ทักษิณ และหันมาให้ปรองดองหลังปีใหม่ประชาชนเบื่อที่จะเห็นบ้านเมืองแตกแยก ช่วยกันพัฒนาประเทศชาติดีกว่า ทุกวันนี้นักการเมืองทะเลาะกันประชาชนเบื่อหน่าย แข่งขันด้านนโยบายกันดีกว่า”นายพร้อมพงศ์ กล่าว

**เล็งถกรายภาคถามปชช.ก่อน
ที่พรรคเพื่อไทย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงผลประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า ที่ประชุมไม่มีการหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มีการหารือระหว่างภาค ซึ่งจะมีการสอบถามความเห็นจากประชาชน ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ ว่าเห็นด้วยกับการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 อย่างไร เพื่อให้มีความเห็นที่หลากหลาย
นายจิรายุ ยังกล่าวต่อถึงกรณีการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างเร็วคือสิ้นปี พ.ศ.2555 และอย่างช้าคือ วันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2556 นับตั้งแต่เลือกครั้งล่าสุด วันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2552 ซึ่งคณะทำงานภาคกทม.ของพรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่ามีการย้ายรายชื่อบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านของกทม. มากขึ้นกว่าเดิม อาทิ บางครัวเรือนที่มี 2-3 คน. ก็เพิ่ม 6-8คน ซึ่งจะมีการตรวจสอบเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง

**"มาร์ค" เตือน อย่าคิดทำพิสดาร
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอให้เอาความกังวล และความห่วงใยของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทั้งหมดมาทบทวนกันว่า ในทางการเมืองควรจะทำอะไร ไม่ทำอะไรบ้าง ในขณะที่ประชาชนห่วงใยเรื่องการทุจริต ห่วงใยเรื่องความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นหากสามารถเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะดีที่สุด
"ผมย้ำมาตลอดว่า เรื่องใดที่จะสร้างความขัดแย้ง มีปัญหา ให้ละเอาไว้ พักเอาไว้ ให้โอกาสประเทศไทย สังคมไทย ได้เดินหน้ากันดีกว่า การเมืองอยู่เฉยๆ ทำงานของเราทำหน้าที่ดีกว่า อย่าไปคิดอะไรที่มันแปลกประหลาดเลย เพราะสังคมเดินได้ด้วยตัวของมันเอง นายกฯ ก็บอกจะอยู่ครบเทอม ผมก็บอกอยู่ครบเทอมได้ ถ้าไม่ไปทำเรื่องที่เป็นปัญหา"
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ห่วงใยเรื่องความขัดแย้งจากปมประเด็นทางการเมืองเช่น รัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม มาตรา 112 นั้น ประชาชนก็ยังมีความห่วงใยในเรื่องเศรษฐกิจ เพราะกำลังฟื้นตัวจากปัญหาน้ำท่วม ถ้าทุ่มเทเอาใจในการแก้ไขปัญหาเพื่อฟื้นฟูชีวิตของคนในช่วงต้นปีจะเป็นเรื่องที่ดีมาก ขอให้รัฐบาลทบทวนประเมินนโยบายต่างๆ ให้ดี เพราะนโยบายในการขึ้นราคา หรือต้นทุนสินค้า ค่าครองชีพ ที่ดูเหมือนว่าด้านพลังงานจะหนักตั้งแต่ต้นปี ทั้ง แอลพีจี เอ็นจีวี ค่าไฟ อยากให้รัฐบาลได้เอาใจใส่ช่วยเหลือประชาชนตรงนี้ และปรับนโยบาย โดยพรุ่งนี้จะมีการประชุมสภาฯ พวกตนจะได้อภิปรายกันในเรื่องเหล่านี้
ส่วนข้อเสนอของนายเสนาะ เทียนทอง ที่จะให้นำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มากักบริเวณเหมือน นางอองซาน ซูจี นั้น นายอภิสิทธิ์ มองว่า เราควรมองหาอะไรสร้างสรรค์ ที่จะทำในปีนี้ดีกว่า ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่เปิดโอกาสให้ผู้มีหน้าที่ในกระบวนการปรองดองได้ทำงาน และควรเดินหน้าแก้ปัญหาของประชาชนดีกว่า เพราะมาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมาช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาน้ำท่วม การเฝ้าระวังผลกระทบจากเศรษฐกิจ ไปจนถึงการวางแนวทางในการวางรากฐานเพื่อนำไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน ซึ่งยังมีอีกมากที่ต้องเดินหน้าเร่งทำงาน อย่าผนึกตัวเองอยู่กับปัญหาแบบนี้เลย
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีเหตุผลที่พรรคจะไปหมกหมุ่นกับปัญหาของบุคคลดังกล่าว แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ เองที่เป็นคู่ขัดแย้งของรัฐ เป็นคู่ขัดแย้งกับกฎหมายไทย และสิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลเองที่หมกหมุ่นในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งกรณีที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ออกพาสปอร์ตให้ การทำเรื่องของพระราชทานอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรม
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีสองมาตรฐานเหนือคนไทย รัฐบาลทำให้อยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งทำให้เราจำเป็นต้องมาปกป้องระบบนิติรัฐ นิติธรรม ของประเทศ ที่บอก พ.ต.ท.ทักษิณ อยากกลับบ้านนั้น จะกลับยเมื่อไร ก็ได้ เพียงแค่เดินไปที่สถานเอกอัครราชทูตของประเทศนั้นๆ ขอใบเซอติฟิเคด ก็กลับบ้านได้ทันที
ส่วนกรณีที่มีการพูดกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักโทษการเมือง จะให้มีการกักบริเวณแทนการติดคุกนั้น นายชวนนท์ กล่าวว่า อย่าทำให้สังคมเกิดความสับสน ยืนยันว่านักโทษทางการเมืองในประเทศไทย ไม่มี เพราะคนที่เป็นนักโทษการเมือง คือ คนที่คิดตรงข้ามกับผู้มีอำนาจรัฐ แต่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายแล้วถูกจับ อย่างนางอองซาน ซูจี แต่สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำผิดคดีอาญา ศาลก็ได้พิพากษาความผิดผู้อื่นที่เป็นนักการเมืองลงโทษไปแล้ว คนเหล่านั้นก็ยอมรับชดใช้กรรมตามคำตัดสินของศาล แต่ทำไม พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียวจะต้องไม่รับผิด ไม่รับโทษ
" อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอย่าทำให้หลักนิติรัฐของบ้านเมืองเสียหาย ถ้าพูดอย่างนี้แปลว่า 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไม่ก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ และพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องได้ทุกอย่างคืนก่อน บ้านเมืองจึงจะสงบสุขได้ และไม่ใช่เรื่องของไพร่ และอำมาตย์ อย่างที่เคยกล่าวอ้าง แต่เป็นพ.ต.ท.ทักษิณ ที่เป็นอำมาตย์เอง" นายชวนนท์ กล่าว

**นิคมเชื่อพท.เดินหน้าแก้ รธน.-ปีทองศก.
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา เปิดเผยกับเกี่ยวกับมุมมองการเมืองในปีใหม่นี้ว่า ในความเห็นส่วนตัว ปีนี้ประชาชนอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน รวมถึง นักการเมือง ด้วย โดยเฉพาะ เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อมั่นว่า พรรคเพื่อไทยและรัฐบาล จะเดินหน้าอย่างแน่นอน และมีหลายคนหลายฝ่าย พยายามเชื่อมโยงกับการแก้ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งอาจทำให้ประชาชนสับสน และอาจเป็นงานหนักที่รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจน โดยเฉพาะ นายกรัฐมนตรี รวมถึง เรื่องความโปร่งใสในการทำงาน เรื่องงบประมาณ เพราะที่ผ่านมามีมูลเหตุ พอสมควรอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่หลายคนพยายามจะนำกลับมา แต่หากปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกับทุกฝ่าย แต่ถ้าไม่ยอมมีการดึงดัน ก็ง่ายที่จะกลายเป็นประเด็นในการขัดแย้งต่อไป แต่ถ้าหากทุกฝ่ายมุ่งแก้ปัญหาให้กับประชาชนส่วนใหญ่ ความขัดแย้งก็จะไม่เกิด
มีความเชื่อมั่นว่า ในปีนี้ เศรษฐกิจ น่าจะมีโอกาสที่ดีในการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พืชผลการเกษตร ภาคเหนือ อีสาน น่าจะเป็นปีทอง และหากเป็นไปตามนั้น จะทำให้ลดปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้มาก
นายนิคม ยังเปิดเผยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลว่าทุกฝ่ายไม่ควรพูด หรือ แสดงความคิดเห็นใด ๆ ในเชิงให้เกิดความขัดแย้ง แนวทางที่ควรทำมากที่สุด คือ การแก้ มาตรา 291 และให้บุคคลภายนอกเข้ามาแก้ไข และมีการประชาพิจารณ์ ประชามติ เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ต้องการที่จะแก้ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะในอดีต พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลก็อยากจะแก้เช่นกัน
แนะนำให้ทุกฝ่าย ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของชาติ โดยเฉพาะ ในมาตรา 190 ที่อาจทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์มากกว่า ทำไมทุกฝ่ายไม่พูดถึงเรื่องดังกล่าว แต่กลับพยายามหามาตราที่จะแก้ไข เพื่อตนเอง หรือ พวกพ้องมากกว่า ส่วนประเด็นของการเดินหน้า ปรองดอง ที่หลายฝ่ายพยายามจะทำ และมีการพยายามเสนอที่จะให้เลิกแล้วต่อกัน ล้มล้างเรื่องที่ผ่านมาทั้งหมด ก็ได้ นายนิคม มองว่า เรื่องดังกล่าว จะไม่เกิด หากทุกฝ่ายไม่มีเหตุผล และในความเป็นจริง ทุกฝ่ายควรที่จะสนับสนุนให้เกิดการเคารพในกฎหมาย เคารพในหลักการและเหตุผลที่ถูกต้อง เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ มากกว่า
ทั้งนี้ยังมั่นใจว่า แม้สังคมไทย ประชาชน จะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แตกแยก แต่ด้วยความเป็นคนไทย จะไม่มีการต่อสู้ที่ถึงขั้นแตกหักอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น