xs
xsm
sm
md
lg

เขมรแบะท่าปล่อย"วีระ-ราตรี"แลกตัวนักโทษ-"ปึ้ง"เจรจา"ฮุนเซน"แบ่งผลประโยชน์บ่อก๊าซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- "ปึ้ง"กอดคอ"พิชัย" บินไปกัมพูชาเข้าพบ"ฮุนเซน" เจรจาแบ่งผลประโยชน์บ่อก๊าซในอ่าวไทยและช่วยเหลือ "วีระ-ราตรี" พ้นคุกเขมร ด้าน "ฮอร์ นัม ฮง" ยันทั้ง 2 คนต้องได้รับโทษ 2 ใน 3 ก่อนขออภัยโทษ แย้มอาจพิจารณาปล่อยตัวหากเสนอแลกเปลี่ยนตัวนักโทษเป็นกลุ่ม ขณะที่บัวแก้วอ้างเป็นเรื่องใหม่ ต้องขอศึกษาข้อกฎหมาย-ขั้นตอนก่อน

เมื่อเช้าวานนี้ (29 ธ.ค) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ พร้อมด้วย นายพิชัย นริพทะพันธ์ รมว.พลังงาน ได้เดินทางไปประเทศกัมพูชา โดยจะเข้าพบ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อสานสัมพันธ์ และติดตามงานด้านต่างๆ หลังจากการเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชา ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การเข้าพบสมเด็จฮุนเซน จะมีการหารือถึงประเด็นต่างๆ เช่น การเปิดด่านการค้าระหว่างชายแดน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ด้านการทหาร

ทั้งนี้ จะมีการพูดคุยเพื่อติดตามความคืบหน้า กรณีนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ 2 คนไทย ที่ถูกจับกุมตัวอยู่ในกัมพูชา หลังจากที่ศาลถอนคำอุทธรณ์ เนื่องจากทั้ง 2 คน ยอมรับความผิดในการบุกรุกพื้นที่เข้าไปในประเทศกัมพูชา ซึ่งเชื่อว่า เป็นโอกาสที่ดี ที่อาจจะนำไปสู่การได้รับพระราชทานอภัยโทษ

อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์ ระบุว่า ทั้ง 2 คน จะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกัมพูชา แต่หากได้รับพระราชทานอภัยโทษ และสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ก่อนวันขึ้นปีใหม่ ก็ถือเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทย

ด้านนายพิชัย กล่าวว่า การเดินทางไปประเทศกัมพูชา ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ระหว่างกัน โดยเฉพาะพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนในทะเล ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนจะมีการยึดถือข้อตกลงตามเอ็มโอยู 2544 หรือไม่นั้น เป็นรายละเอียดที่ต้องมีการหารือต่อไป

นายพิชัย ยังเปิดเผยอีกว่า ไทยและกัมพูชา มีแผนพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกัน มาเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว โดยในปี 2544 สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทย และกัมพูชาอ้างสิทธิ ในไหล่ทวีปทับซ้อน เพื่อเร่งรัดการเจรจาทำความตกลง สำหรับการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน ในพื้นที่ทับซ้อน แต่ในปี 2552 คณะรัฐมนตรีชุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เห็นชอบให้ยกเลิกฝ่ายเดียว ในเอ็มโอยู ดังกล่าว เพื่อแสดงถึงความไม่พอใจของไทย หลังรัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี ให้เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของกัมพูชาในช่วงนั้น

ขณะที่รัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีแนวทางที่จะสานต่อโครงการดังกล่าว

ด้านนายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา แถลงภายหลังการหารือร่วมกัน ว่า ฝ่ายกัมพูชาขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่ผ่านมา ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นมีความคืบหน้าในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านการค้าที่มีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปีนั้น จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกัน ในการหารือ ยังได้แสดงความหวังว่าไทยคงจะเดินทางข้อกฎหมายในการปฏิบัติตามศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) พร้อมกับรายงานให้ศาลโลกได้รับทราบด้วย ซึ่งนายสุรพงษ์ แสดงความเห็นด้วยที่ทั้ง 2 ประเทศจะต้องปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่เป็นไปตามคำสั่งศาลโลก ที่จะให้ถอนทหารในพื้นที่บริเวณที่ศาลโลกกำหนด และเห็นด้วยที่จะให้จัดประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี)ไทย-กัมพูชา ในอนาคตเพื่อให้สามารถก้าวเข้าไปสู่การปักปันเขตแดนที่ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งถือว่าสามารถทำได้ก่อนในระหว่างที่ยังรอคำตัดสินของศาลโลก

รมว.ต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงปัญหาของนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกจำคุกอยู่ในกัมพูชา ว่าจะมีการลดโทษหรือขออภัยโทษได้หรือไม่ ซึ่งฝ่ายไทยได้ขอบคุณที่ได้ดูแลความเป็นอยู่ของทั้งสอง และได้แจ้งให้นายสุรพงษ์ ทราบว่า รัฐบาลกัมพูชา ได้ดูแลความเป็นอยู่ให้ดี ส่วนเรื่องการลดโทษนั้นต้องดูที่หลักความจริง โดยกฎหมายกัมพูชามีอยู่ว่านักโทษต้องได้รับโทษ 2 ใน 3 ก่อนจึงจะสามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้ ซึ่งตนได้แจ้งต่อนายสุรพงษ์ว่า หากไทยขอแลกเปลี่ยนนักโทษเป็นกลุ่ม ทางกัมพูชาก็รับข้อเสนอนี้

ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวว่า การเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้า หลังจากการหารือของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อครั้งเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ก็เพื่อเตรียมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี หรือเจซี ไทย-กัมพูชา ครั้งต่อไปที่จะมีไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2555 ซึ่งกำหนดจะประชุมกันระหว่างวันที่ 29 ก.พ.- 1 มี.ค.2555

นอกจากนี้การเดินทางครั้งนี้ มี รมว.พลังงาน ร่วมคณะมาด้วย เพื่อหารือถึงประเด็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งตนในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาเขตพื้นที่ทางทะเลนั้น ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเดินหน้าเรื่องเขตแดนทางทะเลต่อไปหรือไม่อย่างไร โดยขณะนี้คณะกรรมการด้านเทคนิค กำลังประมวลความเห็นจากราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาพิจารณา ซึ่งหากเดินหน้าต่อ ก็จะนำเสนอกรอบการเจรจาให้รัฐสภาเพื่อเห็นชอบก่อน

สำหรับประเด็นการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษลักษณะเป็นกลุ่มตามข้อเสนอของกัมพูชานั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเพิ่งจะมีการพูดถึง แต่ด้วยแนวทางการเปลี่ยนตัวนักโทษลักษณะนี้ ไทยยังไม่เคยทำมาก่อน จึงจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องมีขั้นตอนหรือดำเนินการได้หรือไม่

ล่าสุด ตนเองได้มอบหมายให้ นายสมปอง สงวนบรรพ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ รีบติดต่อกลับไปยังกระทรวงการต่างประเทศ กัมพูชา เพื่อขอรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งทั้งแม่ของนายวีระ และพี่ชายของน.ส.ราตรี ก็เข้าใจว่าต้องใช้เวลา ส่วนสุขภาพของนายวีระ ขณะนี้มีปัญหาเพียงเรื่องตับ ส่วนอาการอื่นๆ ทั้งผื่นคันตามตัว หายเป็นปกติแล้ว โดยในวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคมนี้ ทั้ง 2 คนจะได้เข้าเยี่ยมนายวีระ และน.ส.ราตรี ในเรือนจำเปรย์ซอว์

***แม่"วีระ"บุกพบ“ปึ้ง”ถึงเขมร

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า นางวิไลวรรณ สมความคิด มารดาของนายวีระ สมความคิด และพี่ชายของ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ได้เดินทางมาที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ เพื่อเข้าพบนายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการหลังเข้ารับตำแหน่งตามคำเชิญของนายฮอร์นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรี และรมต.ต่างประเทศกัมพูชา

จากนั้น นางวิไลวรรณ กล่าวว่า ตนมาเข้าพบนายสุรพงษ์ เพื่อขอให้ช่วยเหลือลูกชายเรื่องอภัยโทษ เพราะอยากให้เดินทางกลับประเทศไทยโดยเร็ว แต่เพิ่งรู้จากนายสุรพงษ์ว่าทางการกัมพูชามีข้อเสนอให้แลกตัวนักโทษลักษณะกลุ่ม ซึ่งนายสุรพงษ์ ขอเวลาเพื่อหาทางว่าจะช่วยเหลือได้ด้วยวิธีใด และรับปากแล้วว่าจะทำให้ดีที่สุด ซึ่งตนก็เชื่อมั่นและหวังว่าจะหาหนทางช่วยเหลือทั้งสองคนได้

ส่วนประเด็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ที่ถูกมองเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐบาลทุกสมัยจนก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การดำเนินการทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุม คณะกรรมการเพื่อสรุปความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ เพื่อเตรียมเสนอต่อครม.พิจารณาว่า รัฐบาลนี้จะทำต่อไป หรือยกเลิก นอกจากนี้ตนอยากให้มีการสอบถามประชาชนด้วยว่าเห็นอย่างไรกับกรณีนี้ ซึ่งขอยืนยันว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำ ตนได้ยึดถือประโยชน์ของชาติเป็นหลัก อย่าใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสิน และอย่าเอาแต่โจมตีกัน ดังนั้นเรื่องนี้ขอให้ร่วมกันคิด รับรองว่าจะไม่แอบทำอะไรโดยที่รัฐบาลและประชาชนไม่เห็นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น