xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ดิ้นยื้อตลาดจตุจักร ชี้มติครม.ยังไม่ทางการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - " ชัจจ์ "ยันพร้อมช่วยเหลือพนักงานตลาดนัดจตุจักร 284 คน ขอให้เร่งยื่นหนังสือแจ้งว่าต้องการทำงานกับร.ฟ.ท. ปรับแผนเข้าบริหาร 2 ม.ค. 55 ใหม่ ส่งเฉพาะตัวแทนร.ฟ.ท. รับมอบเน้นงานด้านเอกสาร ระบุยังไม่ปรับค่าเช่าแผงขึ้นทันที รอตกลงกับผู้ค้าหาอัตราเหมาะสม ใน 1 เดือน ผู้ว่าฯร.ฟ.ท.เผยผู้ค้าส่วนใหญ่เข้าใจ มีเพียง 2 กลุ่มที่ยังมีปัญหาอยู่ ส่วนเรื่องสัญญาเช่าเตรียมหารือระหว่าง 20 ปี หรือ 30 ปี ปชป.เตรียมกระทู้ถามสดแผนบริหารตลาดนัดจตุจักร

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในการเข้าบริหารพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2555 เป็นต้นไปนั้น จะยังไม่มีการปรับขึ้นค่าเช่าแผงในทันที เพราะได้ให้นโยบายแล้วว่า จะต้องหารือกับผู้ค้าในตลาดให้ได้ข้อสรุปเรื่องอัตราค่าเช่าร่วมกันก่อน โดยหลักการจะต้องมีการนำรายละเอียดเช่น ายได้และกำไรที่จะเกิดขึ้น รวมถึงอัตราค่าเช่าแผงในปัจจุบันที่ผู้ค้าจ่าย มาประกอบการพิจารณาทั้งหมด ถึงจะสามารถกำหนดอัตราที่เหมาะสม เป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน หลังจากร.ฟ.ท.เข้าบริหารตลาด

ทั้งนี้ ในส่วนของพนักงานตลาดนัดจตุจักร ที่มีอยู่ประมาณ 284 คนนั้น หากต้องการทำงานที่ตลาดนัดจตุจักรต่อไป ก็ขอให้ทำหนังสือและให้ตัวแทนมายื่นที่กระทรวงคมนาคม หรือ ร.ฟ.ท. ซึ่งในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ร.ฟ.ท.ยืนยันว่าจะช่วยประสานไปยัง ร.ฟ.ท.ให้ดำเนินการช่วยเหลือ หากต้องการจะทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม แต่ขอให้ยื่นเรื่องเข้ามาโดยเร็ว เพราะหากไม่มีใครส่งเรื่องเข้ามา จนกระทั่งมีการจัดตั้งบริษัทลูกหรือว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้าไปดำเนินการแล้วจะดำเนินการได้ลำบาก

" ร.ฟ.ท.มีแนวทางที่จะหารือกับทางผู้ค้าไว้เรียบร้อยแล้ว จึงมั่นใจว่าทางผู้ค้าจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะคนทำอาชีพค้าขาย ต้องการขายของ คงไม่ใจร้ายกับ ร.ฟ.ท.มากนัก ส่วนราคาเป็นเรื่องระหว่างผู้ค้ากับ ร.ฟ.ท.จะต้องคุยกัน ซึ่งจะไม่มีการปรับขึ้นราคาโดยที่ยังไม่ได้หารือร่วมกับผู้ค้าอย่างแน่นอน และยืนยันว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาและเป็นธรรม ผู้ค้าไม่เสียมากไป ส่วน ร.ฟ.ท.ก็มีรายได้บ้างเท่านั้น หากมีการหารือกันด้วยเหตุและผลคาดว่าจะได้ข้อสรุปโดยเร็ว”พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าว

โดย ในวันที่ 2 ม.ค.2555 ร.ฟ.ท.จะส่งตัวแทนเข้าไปรับมอบตลาดนัดจตุจักรจาก กทม. โดยจะเป็นงานด้านเอกสารมากกว่า เช่น การลงนามรับมอบ และทางกทม.ก็ทำเรื่องส่งมอบให้ ร.ฟ.ท. เป็นต้น เพื่อเป็นหลักฐานว่า ร.ฟ.ท.เป็นผู้บริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร โดยได้ยกเลิกยกเลิกพิธีการเปิดที่กำหนดว่าจะมีในวันที่ 2 มกราคม และเชิญม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร (กทม. ) เข้าร่วม ก็ต้องยกเลิก และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตัวแทนด้านกฎหมายทำหน้าที่กัน

อย่างไรก็ตาม หากมีการขัดขวางการเข้าไปของ ร.ฟ.ท. ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

***เร่งเคลียร์ผู้ค้าในตลาดจตุจักร

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า หลังจากที่ ครม.รับทราบเรื่องให้ รฟท.เข้าไปบริหารพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร ถือเป็นเกราะป้องกันให้กับ รฟท. ไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันในการเข้าไปบริหารซึ่ง รฟท.มีความพร้อมอย่างแน่นอน มีการแต่งตั้งคณะทำงานชุดต่างๆ ไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ค้ารายเดิมได้มาลงทะเบียนไว้กับ รฟท. แล้วกว่า 7,000 แผง จากทั้งหมดกว่า 8,000 แผง ส่วนอัตราค่าเช่าที่เหมาะสม ขอหารือร่วมกับผู้ค้ารายเดิมก่อนว่าจะเป็น 1,500-2,800 บาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการปรับปรุงตลาดด้วย ส่วนสัญญาเช่าทาง รฟท.กำหนดไว้ 20 ปี และปรับค่าเช่าทุกๆ 5 ปี แต่ทางผู้ค้าต้องการ 30 ปี ก็จะต้องคุยกันก่อน
สำหรับช่วงรอยต่อที่ กทม.ยังไม่หมดสัญญา ทาง รฟท.จะยังไม่เข้าไปใช้พื้นที่ตลาดนัดจตุจักรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา แต่ได้ใช้พื้นที่บริเวณสโมสรของ รฟท.ในการบริหารจัดการให้ผู้ค้าเข้ามาลงทะเบียนแทน ในเบื้องต้นได้มีการทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ค้าส่วนใหญ่ 27 กลุ่มเข้าใจแล้ว มีเพียง 2 กลุ่มที่ยังไม่ยอมรับเท่านั้น ทั้งนี้ ในวันที่ 2 ม.ค. 55 รฟท.จะต้องเข้าพื้นที่นั้น จะต้องการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้าไปดูแล ส่วนหนึ่งมีตำรวจรถไฟ และได้ประสานตำรวจจาก สน.บางซื่อ และตำรวจจากนครบาล ในการเข้าไปควบคุมดูแลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวุ่นวาย แต่สิ่งสำคัญที่สุด รฟท.จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าส่วนใหญ่เข้าใจว่าจะต้องเข้ามาทำสัญญา กับ รฟท.โดยตรง.

***ร.ฟ.ท.เผยเบื้องหลังฮุบ'จตุจักร'

นายทวีศักดิ์ สุทธิเสริม ผู้อำนวยการฝ่ายการบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท.กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องเข้าไปบริหารตลาดนัดจตุจักรเอง ภายหลังสัญญาเช่าที่ดินระหว่างกทม.และร.ฟ.ท.สิ้นสุดลงในวันที่ 1 ม.ค. 55 ว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2549 ผู้ว่าการร.ฟ.ท.ได้ทำหนังสือแจ้งให้กทม.รับทราบถึงการยกเลิกการเช่าที่ดิน ที่กำหนดไว้ในสัญญาให้ร.ฟ.ท.แจ้งล่วงหน้า 5 ปี ซึ่งครบระยะเวลาเมื่อเดือนก.พ. 2554 แล้ว จึงถือเป็นการปฎิบัติตามเงื่อนไขสัญญาที่ระบุไว้

หลังจากนั้นหากกทม.จะดำเนินกิจการตลาดนัดต่อ กทม.ก็จะต้องมาตกลงค่าตอบแทนกับร.ฟ.ท.ใหม่ ซึ่งค่าตอบแทนที่ได้ข้อยุติและเสนอให้คณะกรรมการร.ฟ.ท.เห็นชอบคือไม่ต่ำกว่าปีละ 420 ล้านบาท และมีอัตราการปรับเพิ่ม 15% ทุก 5 ปี สัญญาเช่ามีกำหนด 20 ปี

แต่ปรากฎว่ากทม.ไม่รับเงื่อนไข และก็มีการต่อรองกัน ซึ่งร.ฟ.ท.แจ้งให้กทม.ทราบว่าหากกทม.จะเช่าที่ดินต่อจะต้องยืนยันตามเงื่อนนไขที่ร.ฟ.ท.แจ้ง แต่กทม.ทำหนังสือถึงร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2554 ต่อรองราคาเหลือ 79 ล้านบาท อัตราการเพิ่ม 15% ทุก 5 ปี ส่วนระยะเวลาที่แจ้งไป 20 ปี กทม.ขอต่อรองเป็น 30 ปี

"สรุปแล้วก็เลยยังตกลงกันไม่ได้ เมื่อตกลงกันไม่ได้ร.ฟ.ท.ก็มีแนวคิดว่าสามารถคำนวณผลประโยชน์ได้มากกว่าปัจจุบันจำนวนมาก เพราะมีค่าตอบแทนที่ไม่อยู่ในแผงค้า เช่นถนนคนเดินหรือแผงลอยและลานแร่ที่ตั้งขึ้นมาและเป็นประโยชน์กับกทม. ซึ่งเป็นผู้บริหารตลาดนัด เมื่อกทม.ไม่รับร.ฟ.ท.เลยจำเป็นต้องทำเอง"

***ขยายเวลาลงทะเบียนถึง 1 ม.ค.55

ร.ฟ.ท.แจ้งว่า ได้ขยายระยะเวลาให้ผู้ค้าที่มีความประสงค์จะทำการค้าในพื้นที่ บริเวณย่านพหลโยธิน (ตลาดนัดจตุจักร) ในการยื่นเอกสาร ออกไปจนถึง วันอาทิตย์ที่1มกราคม 2555 (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ถึงเวลา 16.30 น. ที่สโมสรรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กทม. จากก่อนหน้า ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันจันทร์ที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้ค้าเป็นจำนวนมากอยู่ระหว่างการค้นหาและรวบรวมเอกสารหลักฐานที่ยังไม่สามารถดำเนินการยื่นเอกสารเพื่อแจ้งความประสงค์ขอเช่าอาคารและหรือแผงค้าได้ทันตามกำหนดดังกล่าวได้

***ปชป.เตรียมกระทู้ถามสดแผนบริหาร

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. ในฐานะโฆษกครม.เงาพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวภายหลังการประชุมครม.เงาว่า กรณีตลาดนัดจตุจักรทางพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ตั้งใจว่จะต้องอยู่ภายใต้การบริหารงานของกทม.เท่านั้น แต่เราเป็นห่วงเรื่องของผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปจะได้รับผลกระทบหากไปอยู่ในการดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เนื่องจากค่าเช่าที่วันนี้กทม.เช่าอยู่ที่ 24 ล้านบาท จะปรับขึ้นเป็น 420 ล้านบาทนั้น กทม.ก็ไม่สามารถเช่าได้จริง จะมีความเดือดร้อนกับประชาชนที่เกิดขึ้นคือ การที่รฟท.จะนำไปแสวงหาผลประโยชน์เองให้ได้ถึงปีละ 420 ล้านบาท จะต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบของการจัดตลาดนัดไปอย่างสิ้นเชิง วัฒนธรรมก็จะถูกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเราเกรงว่าสุดท้ายแล้วการบริหารงานของรฟท.จะไม่สามารถทำตลาดนัดได้ แล้วจะต้องส่งมอบสัมปทานให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง คนจะเดือดร้อนจากค่าแพงที่สูงขึ้น ประชาชนก็จะซื้อของที่แพงขึ้น ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะมีการตั้งกระทู้ถามสดในวันพรุ่งนี้ (28 ธ.ค.) เพื่อต้องการคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องว่า จะทำอย่างไรและมีแผนการจัดการอย่างไร เพราก่อนหน้านี้ไม่เคยได้ยินรฟท.หรือรัฐมนตรีออกมาพูดว่า เมื่อเอาไปแล้วแผนการบริหารคืออะไร

***กทม.ดิ้นยื้อบริหารสวนจตุจักร

นายสัญญา จันทรัตน์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม.กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม.ร่วมกับฝ่ายกฏหมายและผู้เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เกี่ยวกับการบริหารตลาดนัดจตุจักร ซึ่งตามมติครม.เป็นเพียงการรับทราบว่าร.ฟ.ท.จะเข้าจัดการพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรภายหลังจากกทม.สิ้นสุดสัญญาเช่าตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2555 เป็นต้นไปเท่านั้น แต่ครม.ยังไม่มีมติให้การรถไฟฯ เข้าบริหารจัดการตลาดนัดอย่างเป็นทางการ เนื่องจากร.ฟ.ท.ยังไม่ได้แจ้งต่อครม.ว่าจะเข้าจัดตลาดนัดอย่างใด

ดังนั้น จึงไม่มีผลให้มีการยกเลิกมติครม.เดิมเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2522 และ 14 เม.ย.2525 ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าให้กทม.ใช้พื้นที่ของการรถไฟฯ เพื่อจัดตลาดนัด ส่วนการตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรถือว่าการรถไฟฯ ได้ดำเนินการอยู่แล้วด้วยการให้กทม.เช่าพื้นที่เพื่อดำเนินการ

" เมื่อยังไม่มีความชัดเจนว่า ครม.ต้องการให้รูปแบบการจัดตลาดนัดจตุจักรในวันที่ 2 ม.ค.55 เป็นอย่างไร และการรถไฟฯ จะมีอำนาจตามกฎหมายเข้าดำเนินการจัดตลาดนัดจตุจักรหรือไม่ ดังนั้น กทม.จะทำหนังสือถึงครม.เพื่อขอความชัดเจนในมติครม.พร้อมรายละเอียดโดยด่วน "

นายสัญญา กล่าวด้วยว่า หากครม.มีมติอย่างเป็นทางการให้การรถไฟฯ เข้าจัดตลาดนัดตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2555 เป็นต้นไป กทม.ในฐานะคู่สัญญายังมีสิทธิในพื้นที่ตลาดนัด เพื่อทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพฯและปรับพื้นที่ให้กลับสู่สภาพเดิมก่อนส่งมอบพื้นที่คืนให้กับร.ฟ.ท.ภายหลังสิ้นสุดสัญญาเช่าให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าข้อ 10 หากกทม.ไม่ดำเนินการตามสัญญาจะถูกเรียกร้องค่ารื้อถอนกรณีผิดสัญญากับการรถไฟฯ ซึ่งจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ

ด้าน นายอรุณ ศรีจรูญ ผู้อำนวยการตลาดนัด กทม. แสดงความกังวลว่า หากการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าบริหารต่อจากกทม.ตั้งแต่วันที่ 2 มค.เป็นต้นไป จะเกิดผลกระทบต่อพนักงานชั่วคราวกว่า 300 คน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตลาดนัดและผู้ค้าอีกกว่า 8,000 คน ซึ่งยังคงกังวลถึงความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามตนเองยืนยันว่า กทม.ยังมีศักยภาพที่จะบริหารจัดการตลาดนัดได้ แต่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารจัดการ พนักงาน ผู้ค้า และผู้บริโภค เนื่องจากตลาดนัดจตุจักรเป็นตลาดนัดขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงทั่วโลก ไม่ต้องการให้เกิดภาพลักษณ์ของความขัดแย้ง ส่วนกรณีการที่การรถไฟฯ จะขอคืนพื้นที่ในฐานะเป็นเจ้าของสามารถทำได้แต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่มีอยู่.
กำลังโหลดความคิดเห็น