xs
xsm
sm
md
lg

คลื่นยักษ์ถล่มอ่าวไทย บ้านพัง-หนีตายจ้าละหวั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-คลื่นยักษ์ซัดถล่มชายฝั่งทะเลอ่าวไทยอ่วมตั้งแต่ จ.ประจวบฯ ยันสงขลา ชาวบ้านเดือดร้อนหนักบ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก เร่งอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย โดยเฉพาะที่ชุมพรคลื่นสูงกว่า 4 เมตรนักท่องเที่ยวติดเกาะพิทักษ์ 10 คนยังติดต่อไม่ได้ คาดคลื่นจะสูงแบบนี้ไปอีกหลายวัน ขณะที่จันทบุรีโดนด้วย คลื่นถล่มทำบ้านพังยับ

วานนี้( 25 ธ.ค.)ได้เกิดมรสุมคลื่นขนาดใหญ่พัดกระหน่ำตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย บางจังหวัดต้องอพยพประชาชนออกจากแนวชายฝั่งเพื่อความปลอดภัย

***ชุมพรคลื่นสูงกว่า4 เมตรถล่มหมู่บ้าน

ที่จังหวัดชุมพรได้เกิดคลื่นยักษ์สูงกว่า 4 เมตร พัดถล่มบริเวณหมู่บ้านหัวแหลมหมู่ที่ 12 ต.บางมะพร้าว อ.หลังสวน จ.ชุมพร มีชาวบ้านกว่า 500 คน บ้านเรือนประมาณ 200 หลังคาเรือน ได้รับความเดือนร้อนอย่างหนัก บ้านเรือนที่อยู่อาศัยถูกน้ำทะเลหนุนสูงไหลทะลักเข้าท่วมได้รับความเสียหายจำนวนมาก นายปรีชา สุวีรานุวัฒน์ กำนัน ต.บางมะพร้าว ได้ระดมกำลังอาสาสมัคร ออกช่วยเหลือ ชาวบ้าน ที่ติดอยู่ภายในบ้านและถูกน้ำทะเลไหลเข้าท่วมบ้านเรือน ให้ออกมาจากบ้าน พร้อมกับรายงานให้ จังหวัดทราบ เพื่อขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ด้านนายอภิญญา คนดี ปลัดอาวุโส รักษาการนายอำเภอหลังสวน ได้สั่งการให้อพยพ ชาวบ้านทั้งหมดไปอาศัยหลบภัยที่ วัดแหลมโตนด ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเพื่อความปลอดภัย แต่การอพยพเต็มไปด้วยความชุลมุนวุ่นวาย เนื่องจากไม่เคยเกิดเหตุแบบนี้มาก่อน ในรอบ 50 ปี บ้านเรือนชาวบ้าน ถูกคลื่นทะเลซัดพังถล่มลงมาจำนวน 3 หลังคาเรือน น้ำทะเลไหลทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านทั้งหมด นอกจากนี้ เบื้องต้นพบว่าบ้านเรือนชาวบ้านประมาณ 90 % ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

นอกจากนั้นยังมี พื้นที่ ต.ปากน้ำหลังสวน ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ที่ ถูกคลื่นยักษ์พัดถล่มในเวลาเดียวกัน รวมถึงมีนัก ท่องเที่ยวติดอยู่บนเกาะพิทักษ์ หมู่ที่ 14 ต.บาง น้ำจืด อ.หลังสวนกว่า 10 คน ไม่สามารถติดต่อได้ และจากหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ต.บางมะพร้าว ต.ปากน้ำหลังสวน ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน ร่วม 2 พันคนต้องอพยพหนีคลื่นออกจากจุดเกิดเหตุ เพราะคลื่นลมยังคงพัดแรงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน  

ขณะเดียวกัน คลื่นยักษ์ยังได้ซัดกระหน่ำเข้าชายฝั่งทะเลบริเวณหมู่บ้านชาว ประมงพื้นที่ ต.ท่ายาง และ ต.ปากน้ำ อ.เมืองชุมพร ได้รับความเสียหายอย่างหนักด้วยเช่นกัน โดยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต่างเร่งขนสิ่งของหนีน้ำกันอย่างอลหม่าน บางรายต้องยอมทิ้งสิ่งของเพื่อเอาชีวิตรอด โดยเฉพาะบ้านเรือนที่ปลูกอยู่ริมชายฝั่งทะเล

นายสมบัติ กรยืนยง ชาวบ้านในหมู่ 8 ต.ท่ายาง อ.เมืองชุมพร เปิด เผยว่า ก่อนเกิดเหตุได้ออกไปเก็บเรือประมงที่จอดอยู่ริมหาด เพื่อนำขึ้นมาบนฝั่งเพราะเกรงว่าคลื่นจะซัดเรือที่จอดอยู่จมลง เนื่องจากได้รับฟังข่าวจากวิทยุท้องถิ่นว่าจะเกิดคลื่น ลมแรงในระยะ 2- 3 วันนี้ ตนเองจึงได้ไปนำเรือไปจอดไว้ในที่ปลอดภัย แต่หลังจากที่เก็บเรือได้สักพักใหญ่ก็ได้เกิดลมกรรโชกอย่างรุนแรง ต่อจากนั้นก็มีคลื่นสูงกว่า 4 เมตร โหมกระหน่ำซัดเข้าชายฝั่ง บ้านเรือนที่ปลูกอยู่ริมชายทะเลถูกกระแสน้ำที่มากับคลื่นถล่มทรัพย์สินได้รับความจำนวนมาก

นายอุทัย กัน ธวงศ์ รักษาราชการแทน ป้องก้นและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ออกสำรวจความเสียหายเบื้องต้น มีเหตุการณ์คลื่นโหมกระหน่ำซัดชายฝั่ง มีพื้นที่อำเภอต่างๆที่อยู่ติดชายทะเลจำนวน 6 อำเภอ ของจังหวัดชุมพรได้รับความเสียหายจากภัยในครั้งนี้ตลอดแนวจากฝั่ง ตั้งแต่ อ.ปะทิว อ.เมือง อ.สวี อ.ทุ่ง ตะโก อ.หลังสวน ลงไปจนถึง อ.ละแม ได้รับความเสียหายหลายตำบล แต่ยังไม่มีผู้เสีย ชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายจากหน่วยงานของภาครัฐ

**ชายทะเลท่าศาลา-ปากพนัง-หัวไทรอ่วม
 

ส่วนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เกิดมรสุมคลื่นลมแรงและน้ำทะเลหนุนสูงส่งผลให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะใน ม.6 บ้านสระบัว ม.3 บ้านในถุ้ง และบ้านบางใบไม้ ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช คลื่นได้พัดเข้าท่วมบ้านเรือนหลายหลังคาเรือน โดยเฉพาะชุมชนบางใบไม้ น้ำทะเลได้หนุนสูงเข้าท่วมพร้อมกับกระแสคลื่น เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมูลนิธิประชาร่วมใจ ต้องระดมกำลังเข้าให้การช่วยเหลือชาวบ้านขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของมีค่าต่างๆ ออกมาอาศัยในที่ปลอดภัยไว้ก่อน เนื่องจากคลื่นได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างน่ากลัวกว่าทุกครั้ง

ส่วนที่ชุมชนบ้านแหลม ม.2 และ ม.3 ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช คลื่นได้ซัดเข้าถล่มอย่างรุนแรงกว่าทุกครั้ง น้ำทะเลหนุนสูงทะลักเข้าท่วมทั้ง 2 หมู่บ้าน ระดับน้ำสูงบางจุดกว่า 1 เมตร ส่วนบ้านเรือนที่อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของถนนที่พาดกลางหมู่บ้านพังเสียหายไปแล้วทุกหลัง ส่วนที่เหลืออยู่ในสภาพมีความเสี่ยงสูง ต้นมะพร้าวทะยอยล้มอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ถนนสายหลักเส้นทางปากพนัง-แหลมตะลุมพุก ทะเลได้หนุนสูงเข้าท่วมถนนหลายจุดพัดพาเอาสวะ และขยะจากทะเลมาจนเต็มถนน การสัญจรเป็นไปอย่างยากลำบาก

ขณะที่ถนนสายปากพนัง-หัวไทร น้ำทะเลเข้าท่วมหลายจุดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะช่วงบ้านเกาะทัง ต.ขนาบนาค อ.ปากพนัง ไปจนถึง ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร คลื่นได้ซัดถล่มผนังคอนกรีตแนวกันคลื่นที่เพิ่งสร้างได้ไม่นานนักพังยับเยินหลายจุด ความแรงได้ซัดเอาก้อนหินขนาดใหญ่ที่นำมาทำเป็นหินทิ้งชะลอความรุนแรงของคลื่น กลับถูกซัดมากองระเนระนาดอยู่บนถนน ขณะที่ยอดคลื่นเมื่อประทะเข้ากับกำแพงได้ยกตัวสูงขึ้นกว่า 10 เมตร สูงกว่าเสาไฟฟ้าแรงสูง เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าต้องตัดกระแสไฟเนื่องจากคลื่นได้ซัดไปจนถึงสายส่งที่เป็นสายเปลือย

ล่าสุด นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน

**สุราษฎร์ฯบ้านเรือนพังกว่า300หลัง
 

ที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานีก็เกิดเหตุฝนตกหนักคลื่นลมแรง ความสูงของคลื่นกว่า 3 เมตร พัดถล่มเข้าหลายหมู่บ้านใน อ.ท่าชนะ อ.ไชยา อ.ท่าฉาง อ.พุนพิน อ.เมือง อ.กาญจนดิษฐ์ และ อ.ดอนสัก ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 30 ปี ทำให้บ้านเรือนราษฎรที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งรวมทั้งผู้ประกอบกิจการการท่องเที่ยวและร้านอาหารพังเสียหายกว่า 300 หลังคาเรือน
หลังเกิดเหตุ นายมนตรี เพชรขุ้ม นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี นำกำลังเจ้าหน้าที่ในสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมเครื่องจักรกลลง พื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อ่าวพุมเรียง อ.ไชยาอย่างเร่งด่วนท่ามกลางฝนตกหนักฝนและคลื่นลมแรง พร้อมสั่งอพยพผู้ประสบภัยไปอยู่ในที่ปลอดภัย ในเบื้องต้นไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ความคืบหน้าจะรายงานต่อไป

***ชายหาดประจวบฯ น้ำท่วมถนน
 

วันเดียวกัน เกิดคลื่นลมแรงสูง 2-3 เมตร พัดกระหน่ำเข้าสู่แนวชายฝั่งในเขต อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ทะเลอ่าวน้อย อ่าวประจวบ และอ่าวมะนาว โดยแถบชายฝั่งทะเลอ่าวน้อย ชาวประมงได้นำเรือประมงพื้นบ้านจำนวนมากเข้าหลบตามไหล่เขาและท่าเทียบเรือ นอกจากนี้ น้ำทะเลยังได้พัดพาทรายจำนวนมาก เกยขึ้นมาบนถนนเลียบชายทะเล-สวนสน โดยเฉพาะบริเวณจุดที่ไม่มีเขื่อนกันคลื่นเป็นระยะทางยาวหลายร้อยเมตร

ส่วนถนนเลียบชายทะเล ตั้งแต่ฝั่งเขาช่องกระจกถึงกองบิน 5 อ่าวมะนาว น้ำทะเลได้ซัดขึ้นมาบนถนน จนทำให้เกิดน้ำท่วมขังสูงกว่า 30 เซนติเมตร เป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร เป็นเหตุให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ และร้านค้าที่อยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยวติดทะเล ต้องปิดกิจการชั่วคราว จนกว่าคลื่นทะเลจะลดความรุนแรงลงอย่างไรก็ตาม ความเสียหายขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ มีเพียงแหล่งท่องเที่ยวภายในกองบิน 5 และอ่าวมะนาวที่ถูกคลื่นซัดรุนแรง ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวเงียบเหงา แตกต่างกับวันหยุดพักผ่อนในช่วงที่ผ่านมา ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบว่า ตลิ่งกันคลื่นหน้าอาคารที่พักสวัสดิการ กองบิน 5 ได้รับความเสียหายจากน้ำทะเลซัดเช่นกัน

นางปิ่นนาถ เจริญผล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ และทางสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน/ชะอำ ได้แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวให้ทราบและให้ทางโรงแรม รีสอร์ท ห้องพัก เพิ่มความระมัดระวังและไม่ควรให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำทะเลในช่วงนี้
ส่วนนายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ ซึ่งขณะนี้ได้ตรวจสอบพื้นที่ชายฝั่งทะเลประจวบฯ ตลอดทั้งแนวพบส่วนใหญ่บางอำเภอบ้านเรือชาวบ้าน ร้านอาหาร รีสอร์ท บางส่วนที่ตั้งอยู่ริมชายหาด บางส่วนได้รับความเสียหาย และบางส่วน น้ำทะเลได้ไหลเข้าท่วมก็มีแต่ไม่ว่าจะเป็นแถวบ้าน เขาแดง บ้านคุ้งตโหนด อ.กุยบุรี อ.สามร้อยยอด อ.ปราณบุรี รวมไปถึงคลื่นลมทะเลได้กัดเซาะชายฝั่งบางส่วนของถนนเลียบทะเล ในพื้นที่หลายอำเภอด้วยกัน

"ขอให้ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ริมชายหาด จ.ประจวบฯ ที่มีความยาวกว่า 220 กม. ต้องระมัดระวังและควรติดตามพยากรณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา อย่างต่อเนื่องคาดว่าอีกประมาณ 2-3 วัน" นายวีระกล่าว

**เตือนนักท่องเที่ยวเลี่ยงหาดสมิหลา

ขณะที่ ที่ จังหวัดสงขลา ตลอดแนวชายหาดแหลมสมิหลาระยะทางกว่า 9 กิโลเมตร ได้รับผลกระทบจากสภาพคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยที่มีกำลังแรงกว่าทุกวัน ซึ่งได้ซัดเข้าสู่ชายหาดตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะบริเวณรูปปั้นนางเงือก ความแรงของคลื่นกินพื้นที่ลึกเข้ามาถึงแนวคอนกรีต สำหรับให้นักท่องเที่ยวยืนชมวิวซึ่งอยู่ห่างจากทะเลกว่า 10 เมตร

เจ้าหน้าที่ต้องเตือนนักท่องเที่ยวทั้งชาวมาเลเซีย และชาวสิงคโปร์จำนวนมากที่เดินทางมาท่องเที่ยวบริเวณแหลมสมิหลาในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และไปออกไปถ่ายรูปคู่กับรูปปั้นนางเงือกให้รีบกลับเข้าขึ้นฝั่ง เพราะเสี่ยงที่จะถูกคลื่นซัดและได้รับอันตรายจากน้ำทะเลที่ทะลักขึ้นมาตลอดเวลา พร้อมกับแจ้งเตือนให้นักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเล บริเวณชายหาดแหลมสมิหลาอย่างเด็ดขาดทุกจุด เพราะเสี่ยงที่จะถูกคลื่นซัดจมทะเล

**จันทบุรีคลื่นสูงกว่า 3 เมตร!
 

ส่วนที่ จังหวัดจันทบุรี ที่บริเวณ หมู่ที่ 7 ต.สนามไชย อ.นายายอาม ได้เกิดคลื่นลมแรงสูง 3-4 เมตร ซัดเข้าหาฝั่ง ส่งผลให้บ้านเรือนของชาวบ้านที่ปลูกสร้างอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง ถูกคลื่นทะเลซัดพังเสียหายกว่า 40 หลังคาเรือน

นอกจากนี้ ยังมีสะพานปลา 1 แห่ง ถูกคลื่นทะเลซัดได้รับความเสียหาย รวมทั้งเสาไฟฟ้ากว่า 10 ต้น และบ่อกุ้งของผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งจำนวน 2 บ่อ ถูกน้ำทะเลซัดเข้าบ่อกุ้งส่งผลให้กุ้งที่เลี้ยงไว้เกิดน๊อคน้ำตายได้รับความเสียหายเช่นกัน เบื้องต้น อำเภอนายายอาม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในเบื้องต้นแล้ว

นายนิวัฒน์ ธนยะชาติ ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จากคลื่นลมแรงที่ซัดจนบ้านได้รับความเสียหาย กล่าวว่า สาเหตุที่น่าจะเป็นสาเหตุของสภาพอากาศแปรปรวนรวมทั้งจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ส่งผลให้เกิดคลื่นลมแรงสูง 3-4 เมตร ซัดเข้าหาฝั่งส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งไม่นึกว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน และไม่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งจึงไม่มีใครสามารถเก็บข้าวของได้ทัน จนส่งผลให้สิ่งของถูกกระแสคลื่นลมแรงซัดได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด

ในส่วนนี้อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วยเหลือ และหาวิธีในการป้องกันคลื่นลมแรงซัดเข้าหาฝั่งอีก เพราะถ้าปล่อยไว้เช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นในปีต่อๆไปอีกด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น