xs
xsm
sm
md
lg

บล.แจ้งค่าคอมมิชชั่นเริ่ม1ม.ค.นี้ หวังโปร่งใสสะดวกต่อนักลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) เปิดเผยว่า ทางสมาคมโบรกเกอร์จะมีการประกาศให้บริษัทหลักทรัพย์สมาชิกทุกแห่งมีการประกาศการคิดค่าธรรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชั่น) บนเว็บไซด์ของตนเอง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ โดยที่ไม่ต้องโทรศัพท์เข้าไปสอบถามข้อมูลแต่ละที่ ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับนักลงทุน โดยทำให้ทราบข้อมูลต้นทุนในการซื้อขายของตนเอง และยังเป็นการส่งผลดีกับโบรกเกอร์ในเรื่องภาพลักษณ์ที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ซึ่งจะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อถือ โดยในต่างประเทศนั้นโบรกเกอร์แต่ละแห่งมีการประกาศการคิดค่าคอมมิชชั่นในเว็บไซด์ของตนเอง
ทั้งนี้ส่วนตัวเชื่อว่าการคิดค่าคอมมิชชั่นในปีหน้าที่จะมีการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น เชื่อว่าการคิดค่าคอมมิชชั่นจะลดลงจากปัจจุบันเล็กน้อย และเชื่อว่าจะไม่มีการตัดราคาที่ 0% โดยทางสมาคมโบรกเกอร์ได้มีการหาหรือกับทางบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกว่าให้มีการคิดค่าคอมมิชชั่นให้เหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละกลุ่ม เช่น นักลงทุนบุคคลแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ นักลงทุนระยะกลางยาวที่ต้องการผลตอบแทน 8-15% ซึ่งกลุ่มนี้ต้องการการให้บริการที่ดี ในเรื่องคำแนะ บทวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุน ซึ่งกลุ่มนี้พร้อมที่จะมีการจ่ายค่าคอมมิชชั่น
ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่มีการซื้อขายเข้าเร็วออกเร็วนั้นต้องการค่าคอมมิชชั่นที่ต่ำเพื่อลดต้นทุนในการซื้อขาย ขณะที่นักลงทุนสถาบันนั้นมี 2 กลุ่ม กลุ่มที่ต้องการบริการที่ดีแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งกลุ่มนี้พร้อมที่จะจ่ายค่าคอมมิชชั่น และกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ไม่ต้องการได้รับการบริหาร จากที่มีการส่งคำสั่งซื้อขายตรงเข้ามา ดังนั้นโบรกเกอร์จะต้องมีการคิดค่าคอมมิชชั่นให้เหมาะสมแต่ละประเภท
นอกจากนี้จะมีการประกาศให้โบรกเกอร์มีการทำบทวิเคราะห์ของตนเอง เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าของบริษัท ไม่ควรที่จะมีการนำของโบรกเกอร์อื่นมาใช้ เพื่อให้โบรกเกอร์มีการจัดทำบทวิเคราะห์ที่ตรงกับความต้องการในการลงทุนของของลูกค้าของแต่ละบริษัท ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี และยังเป็นการทำให้โบรกเกอร์มีการพัฒนาในเรื่องการจัดทำบทวิเคราะห์ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอนาคตนั้นโบรกเกอร์อาจจะมีการพัฒนาระบบในการให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลการลงทุน แต่ละอุตสาหกรรม หรือ ตลาดหุ้น 2 ประเทศ ได้ ซึ่งระบบก็จะมีการวิเคราะห์ให้ ดังนั้นจึงมองว่าเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้โบรกเกอร์ไม่แข่งขันราคา เพราะทำให้มีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น
“ที่ผ่านมาโบรกเกอร์ต่างๆมีบทเรียนในเรื่องการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นมาแล้ว ซึ่งในช่วง 2 ปีทีผ่านมาที่มีการคิดค่าคอมมิชชั่นขั้นบันไดนั้นถือว่าเรียบร้อยดี และบล.มีการปรับตัวหากรายได้อื่นเข้ามาทั้ง อนุพันธ์ ขายหน่วยลงทุน ออก DW ฯลฯซึ่งถือว่ามีความพร้อมในการเปิดเสรีแบบเต็มรูปแบบในปีหน้า ซึ่งจากนี้ก็จะต้องมีการรักษาให้ภาพรวมอุตสาหกรรมเป็นไปแบบนี้ต่อไปในอนาคตซึ่งการแข่งขันเป็นเรื่องปกติแต่ต้องแข่งขันกันอย่างมีเหตุผล มีควรที่จะตัดราคากัน และถือว่าการแข่งด้านราคานั้นเป็นอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรม เรื่องการทำบทวิเคราะห์ของตนเอง หากไม่ทำเราไม่มีบทลงโทษ แต่มีเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์ดูแลอยู่แล้ว”นางภัทธีรา กล่าว
นางภัทธีรา กล่าวว่า จากการที่ตลาดทุนทั่วโลกจะมีการเชื่อมต่อกันและมีการเปิดเสรี และปีหน้าจะมีการเชื่อมโยงการซื้อขายในภูมิภาคอาเซียนนั้นทำให้โจทย์การทำธุรกิจหลักทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยโบรกเกอร์จะต้องมีการเริ่มคิดที่จะมีการออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ ไม่ควรที่จะมีการแข่งขันกันภายในประเทศ และควรที่จะต้องมีการพัฒนาระบบไอที บทวิเคราะห์ เรื่องการช่วยกันเพิ่มสินค้าใ หม่ ซึ่งในปีหน้าจะมีการออกตราสารTDR และมีการพัฒนาสินค้าในเรื่องอนุพันธ์ หน่วยลงทุน ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) หุ้นกู้อนุพันธ์ เพื่อทำให้ตลาดทุนไทยมีการเติบโตที่ดีกว่าการตัดราคากันซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมหลักทรัพย์ไม่เติบโต
นายปรัชญา กุลวณิชพิสิฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การที่ใหโบรกเกอร์มีการประกาศการคิดค่าคอมมิชชั่นนั้นเพื่อให้นักลงทุนได้ทราบว่าแต่ละแห่งมีการคิดค่าคอมมิชชั่นระดับเท่าไรในส่วนของกลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีมูลค่าการซื้อขายไม่ถึง 20 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งทำให้นักลงทุนทราบต้นทุนในการซื้อขาย และเป็นการแสดงจุดยืนของโบรกเกอร์ด้วยว่าจะมีการดำเนินธุรกิจไปแบบไหน โดยส่วนตัวเชื่อว่าการคิดค่าคอมมิชชั่นปีหน้าคงจะอยู่ในระดับเดียวกับปัจจุบันหรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น