xs
xsm
sm
md
lg

แก้กฎหมายรัฐธรรมนูญทำไม และเพื่อใคร? (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี

ความพยายามและการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ผ่านการขับเคลื่อนของ หมอเหวง โตจิราการ ก็ปรากฏรูปกระบวนที่ชัดเจนขึ้น ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 โดยจะนำรัฐธรรมนูญฉบับที่พวกเขาต้องการมาใช้บังคับให้จงได้ ก่อนหน้านี้ หมอเหวงก็ได้เสนอแนวคิดที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 77 คน โดยเลือกจากตัวแทนจังหวัดละหนึ่งคน และคัดเลือกจากนักวิชาการที่มีคุณสมบัติเฉพาะ คือ ไม่ผ่านการรับใช้คณะรัฐประหาร (แต่รับใช้เผด็จการทักษิณ) มีผลงานด้านประชาธิปไตย (แบบเผาบ้านเผาเมือง) ตามมาตรฐานของเขาอีก 20 คน

สรุปคือ พวกกูเลือกเอง ร่างและแก้ไขเอง ส่วนหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ก็แถลงยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย โดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปี เมื่อถือเป็นนโยบายของรัฐบาล แน่นอนก็ต้องเป็นเรื่องที่จะต้องถูกผลักดักเพื่อนำไปสู่การแก้ไขโดยมติคณะรัฐมนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีคำถามว่าพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลชุดนี้ ประสงค์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทำไม และจะเกิดประโยชน์เพื่อใคร ทำไมพวกเขาจึงกระเหี้ยนกระหือรืออยากแก้ไขเสียเหลือเกิน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเหตุผลที่อ้างก็ยังหาเหตุผลที่มีน้ำหนักอันควรแก่การแก้ไขยังมิได้ เช่น อ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการปฏิวัติรัฐประหาร ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นเรื่องที่ได้หาเสียงเอาไว้แล้วกับคนเสื้อแดง เหล่านี้เป็นต้น

ความเป็นจริง รัฐธรรมนูญปี 2550 นี้ มีความจำเป็นที่จะแก้ไขหรือไม่ ข้ออ้างของผู้ประสงค์ที่จะขอแก้ฟังขึ้นหรือไม่ คงต้องมาทำความเข้าใจกับวิวัฒนาการ และความเป็นมาของกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย และเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้ถ่องแท้เสียก่อน ก็จะทำให้เราท่านทั้งหลายได้รับคำตอบในเรื่องนี้ไม่ยาก

ประเทศไทยนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นต้นมา เรามีรัฐธรรมนูญทั้งฉบับถาวรและฉบับชั่วคราวใช้บังคับมาแล้วรวมทั้งสิ้น 18 ฉบับ ระหว่าง พ.ศ. 2475 - 2550 ดังนี้

ฉบับที่ 1 พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เกิดจากการปฏิวัติของคณะราษฎร์ โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า ร่วมกับทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จำนวน 99 คน ยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระมหากษัตริย์ และเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่เป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติ 2475 นั่นเอง

ฉบับที่ 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เป็นฉบับปรับปรุงแก้ไขมาจากรัฐธรรมนูญ 2475 ประกาศใช้บังคับเมื่อ 10 พฤษภาคม 2489 มีจำนวน 96 มาตรา โดย นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์ มนูธรรม) นายกรัฐมนตรีผู้รับสนองราชโองการ และถูกฉีกทิ้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490โดยการรัฐประหาร ที่มี พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้า ด้วยการสนับสนุนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2490 ฉบับชั่วคราว ซึ่งก็เป็นรัฐธรรมนูญอันเกิดจากการรัฐประหาร มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่ง รัฐธรรมนูญ “ใต้ตุ่ม” หรือ “ตุ่มแดง” เพราะผู้ร่างคือ พลโทหลวงกาจสงคราม (กาจ เก่งระดมยิง) นำไปเก็บซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำระหว่างเตรีมการรัฐประหาร

ฉบับที่ 5 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 เกิดขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐประหาร 2490 นั่นเอง เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หลังรัฐประหารแล้วประกาศใช้ แต่ต่อมาก็ถูกฉีกทิ้งอีกครั้ง โดยการรัฐประหารภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2594

ฉบับที่ 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495 ก็เกิดขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญ 2492 ใช้ได้เพียง 2 ปีเศษ ก็ได้มีการทำรัฐประหารเพื่อนำรัฐธรรมนูญ 2475 มาใช้อีกครั้ง เหตุผลก็เพราะว่า รัฐธรรมนูญ 2492 ห้ามข้าราชการประจำเป็นสมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรี ทำให้ผู้บัญชาการทหาร ซึ่งประสงค์จะเป็นรัฐมนตรีไม่สามารถจะเป็นได้ จึงเกิดการรัฐประหาร นำรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมาใช้ชั่วคราวไปพลางก่อน

ฉบับที่ 7 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ถือเป็นรัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติรัฐประหาร โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า มีเพียง 20 มาตรา แต่ก็ถูกใช้นานเป็นเวลา 9 ปี 4 เดือน 20 วัน

ฉบับที่ 8 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ก็เป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั่นเอง จัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 รวมเวลา 3 ปี 4 เดือน 27 วัน ก็ถูกยกเลิก โดยการรัฐประหารตนเองของ จอมพลถนอม กิตติขจร

ฉบับที่ 9 ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ก็ยังถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการรัฐประหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร อันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างอำนาจของฝ่ายทหารกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (อ่านต่อวันศุกร์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น