xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน:ปี2555 บทบาทความพร้อมไทยสู่"เออีซี"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับถอยหลังสู่การรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี (ASEAN Economic Community) ในปี พ.ศ. 2558 ด้วยระยะเวลาเพียงสามปีนับจากนี้ เป็นเหตุให้หลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตถึงความพร้อม ของประเทศไทยในการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นฐานการผลิต ตลาด การบริการเดียวกันทั้งภูมิภาครวม 10 ประเทศ อันจะก่อให้เกิดความเสรีในเชิงการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิต การตลาด และภาคบริการ ตลอดจนบุคลากร

ในส่วนของภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มเศรษฐกิจของอาเซียน และเป็นหัวขบวนของการหารือและข้อสรุปของความร่วมมือสู่เออีซี ได้แก่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ตามพันธกิจหลักว่า เจรจาขยายโอกาส ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างเป็นรูปธรรม และปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ สร้างพันธมิตรและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นางศรีรัตน์ รัฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดมุมมองความคืบหน้าการดำเนินการสู่เออีซี

ความร่วมมือที่มีมาต่อเนื่องของกลุ่มอาเซียน ส่งผลให้ทุกประเทศในกลุ่มมองเห็นประโยชน์ร่วมกันว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่นการลดภาษีส่งผลให้การค้าขยายตัวมากขึ้น แต่ต้องยอมรับเช่นกันว่าความคืบหน้าของความร่วมมือที่เกิดขึ้นในกลุ่มอาเซียนยังไม่ทำให้การค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตรารวดเร็วเท่าที่ควร จากตัวเลขการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างอาเซียนด้วยกัน เพียงร้อยละ 25 เท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับการค้าทั่วโลก เนื่องจากที่ผ่านมาเรามักจะไปผูกกับ 3 ตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายๆ ด้าน ทั้งความถดถอยทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ตลอดจนความร่วมมือของรัฐบาลกับกลุ่มอาเซียนที่มากขึ้น ส่งผลให้การค้าจากเดิมมีเพียงตลาดญี่ปุ่น เริ่มหมุนกลับเข้ามาสู่ตลาดเอเชียมากขึ้น โดยได้ขยายเข้าสู่จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่สามารถขยาย โอกาสได้อีกมาก อย่างไรก็ตามในส่วนนี้คงต้อง สร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการในประเทศเห็นถึงศักยภาพและโอกาสของตลาดดังกล่าว

จากการประชุมอาเซียนซัมมิต บาหลี ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี ผลจากการประชุมได้มีการออกเป็นแถลงการณ์ ของผู้นำอาเซียนด้านภัยธรรมชาติและความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งเรื่องดังนี้มีการหารือกันมานานแล้ว และมีมาตรการรองรับต่อกรณีดังกล่าวมากพอสมควร แต่คราวนี้การเกิด อุทกภัยในประเทศไทยและเพื่อนบ้านค่อนข้าง รุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงผลักดันให้อาเซียนหันมามุ่งเน้นให้มีวิธีการใหม่ๆ ที่เราสามารถทำได้ขึ้นมารองรับเพื่อให้สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้อย่างเป็นรูปธรรม

ในกรอบความร่วมมืออาเซียนกำหนดไว้ 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมวัฒนธรรม และด้านความมั่นคง ด้านการเจรจาการค้าการลงทุนต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ ในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ เรากำลังเดินหน้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน ปี 2558 ซึ่งมีแผนงานรองรับอยู่แล้วเพื่อเดินตามเป็นขั้นๆ ไป อีกส่วนหนึ่งเป็นความร่วมมือกับคู่ค้าของอาเซียน ซึ่งถือเป็นประเทศพันธมิตรที่สำคัญและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องเข้มแข็ง เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ฯลฯ ซึ่งอาเซียนมีการเจรจาเปิดเสรีการค้าเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน เป็นส่วนสำคัญอีกด้านหนึ่งที่เราต้องเร่งเจรจาให้เกิดความคืบหน้าเช่นกัน

ขณะนี้เรียกได้ว่าไทยสอบผ่านพร้อมเป็นเออีซี ในส่วนของผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 19 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ได้สรุปการดำเนินการตาม แผนงานการดำเนินการไปสู่การเป็นประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC Blueprint มีความคืบหน้ามากพอควร ผลประเมินรอบที่ 1 (ปี 2551-2552) อาเซียนภาพรวมทำได้ตามแผนร้อยละ 83.8 (ไทยร้อยละ 93.64) สำหรับรอบที่ 2 (ปี 2553-2554 โดยวัดผลล่าสุด ถึงตุลาคม 2554) อาเซียนทำได้ร้อยละ 68.6 (ไทยร้อยละ 79.56) มาตรการที่ยังดำเนินการ ไม่ทันกำหนดส่วนใหญ่เป็นมาตรการด้านการ รวมกลุ่มทางศุลกากร การค้า บริการ มาตรฐาน สินค้า การขนส่ง และการคุ้มครองผู้บริโภค

การเจรจาการค้าภายใต้กลุ่มอาเซียนครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้าบริการ และการลงทุน ควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้าน การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลดช่องว่างของระดับการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการ เปิดเสรี โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2558 ก่อให้เกิดผลทั้งด้านบวกและลบต่อประเทศไทย ในส่วนด้านบวกที่มีต่อภาคนักธุรกิจ รวมถึง SMEs จะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงตลาด อาเซียนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ด้วยประชากรกว่า 590 ล้านคน ทั้งในด้านการส่งออกสินค้าไปขายและการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพื่อนำมาใช้ในการผลิต ด้วยต้นทุนที่ลดลงจากการลด/ยกเลิกอุปสรรคทางการค้าทั้งด้านภาษีและที่มิใช่ภาษีในอาเซียน รวมถึงการลด/ยกเลิกอุปสรรคด้านการค้าบริการและการลงทุน และการอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศสมาชิกที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันและสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละประเทศได้อย่างเต็มที่

ขณะที่นักลงทุนจะได้รับประโยชน์จากสิทธิในการลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติเสมือนนักลงทุนในประเทศ รวมถึงการได้รับความคุ้มครองการลงทุน นอกจากนี้ ยังได้รับประโยชน์จากการรวมตัวของตลาดทุนและการเปิดเสรีบริการด้านการเงินในอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น สนับสนุนการจัดทำธุรกิจร่วมทุนกับนักลงทุนในประเทศอาเซียนอื่น และช่วยลดความเสี่ยง จากการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ

ในภาพรวมประเทศจะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อัตราการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น การดึงดูด การลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งช่วยให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และกิจกรรมการค้นคว้าและวิจัยในประเทศเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศสูงขึ้นจากการปรับปรุงด้านการจัดสรรทรัพยากร และการประหยัดจากขนาดการผลิตที่เพิ่มขึ้น การมีส่วนร่วมในเครือข่ายการผลิตและห่วงโซ่อุปทานของโลก การเพิ่มอำนาจการต่อรองของไทยในเวทีระหว่างประเทศ

ถึงแม้ว่าการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนส่งผลในเชิงบวกค่อนข้างมาก แต่ก็มีผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วน ของผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมในการแข่งขัน ที่รุนแรงขึ้น ไม่สามารถสู้กับคนอื่นทั้งด้านคุณภาพและราคา อาจจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในภาคเอกชนย่อมจะตระหนักถึงภาวการณ์การแข่งขันในโลกธุรกิจ อยู่แล้ว รัฐมีหน้าที่เพียงสร้างโครงสร้างพื้นฐาน กลไกในการอำนวยความสะดวกในด้านการค้าเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีระบบการค้าระหว่างกันที่มีการพึ่งพากันมากขึ้นในระบบห่วงโซ่การผลิต เช่นภาพที่เราเห็นกรณีเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย แต่ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าไปทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากระบบห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก

ประเด็นสำคัญอยู่ที่เราจะสามารถใช้โอกาสจากการเป็นเออีซีได้อย่างไร ด้วยศักยภาพที่มีอยู่ รู้จักใช้จุดแข็งของเราให้เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ควรหาทางลดจุดอ่อนที่มีอยู่ในทางที่เหมาะสม นอกจากนี้เราควรใช้โอกาสในการเป็นเออีซี สร้างพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น