xs
xsm
sm
md
lg

"ยิ่งลักษณ์"เยือนพม่า ถกจีเอ็มเอส-พบ"ซูจี"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปประชุมสุดยอด กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ( จีเอ็มเอส ) ครั้งที่ 4 ที่ นครเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ในวันที่ 19-20 ธันวาคม 2554 โดยธนาคารเอเชีย เป็นผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุนอุตสาหกรรม การเกษตร และบริการสนับสนุนการจ้างงาน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ซึ่งมีสาขาความร่วมมือ 9 สาขา ได้แก่ คมนาคม พลังงาน การค้า การลงทุน การเกษตร สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
สำหรับการประชุมระดับผู้นำนั้น จัดขึ้นมาทุก 3 ปี โดยกัมพูชาเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำ จีเอ็มเอส ครั้งแรก เมื่อปี 2545 และจีนเป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2548 จากนั้นประเทศลาว เป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2551 และครั้งนี้ประเทศเมียนมาร์

**ถกแผนพัฒนา10ปีลุ่มน้ำโขง

ในการประชุมในครั้งนี้ จะมีการทบทวนการดำเนินงาน และความสำเร็จของแผนงาน จีเอ็มเอส ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงานจีเอ็มเอส ฉบับแรก ปี 2002-2012
ที่ประสบผลสำเร็จในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และลดความยากจน และได้มีการลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น การพัฒนาเส้นทางคมนาคม จำนวน 55 โครงการ รวมถึงการเจริญเติบโตของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของอนุภูมิภาค ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
น.ส.ยิงลักษณ์ กล่าวว่า การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงในครั้งนี้ มีประเทศเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 6 ประเทศ ซึ่งหลักจะเป็นความร่วมมือเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แลกเปลี่ยนความรู้ในการค้า ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 4 ได้มีการร่างแผนในการพัฒนา 10 ปี ซึ่งฝ่ายไทยจะไปยืนยันในแผนนั้น เพื่อเพิ่มการพัฒนา และนำความเจริญสู่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง สำหรับในส่วนของประเทศไทย ครั้งนี้เราจะใช้โอกาสนี้ในการเยือนในเรื่องหลักๆ เช่น การมีความพร้อมในการลงทุนในการเชื่อมต่อ โดยเฉพาะการลงทุนในส่วนของเศรษฐกิจตะวันออก และตะวันตก ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์รวมถึงการพัฒนาท่าเรือลุ่มน้ำทวาย จากนั้นก็จะเป็นเรื่องการศึกษา เรื่องสาธารณสุข และความร่วมมือทางเทคโนโลยี

** เซ็นเอ็มโอยูเรื่องเอดส์-ไอที

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในครั้งนี้จะมีการเซ็นสัญญาเอ็มโอยู 2 ฉบับด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการเซ็นสัญญาเอ็มโอยู ของกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องของความร่วมมือเรื่องเชื้อเอชไอวี และความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนที่ 3 จะเป็นเอ็มโอยู ที่ร่วมกับภาคเอกชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากความร่วมมือที่จะมีการหารือกันแล้ว วิกฤตการณ์จากภัยธรรมชาติ ก็เริ่มเกิดขึ้นเยอะ โดยเฉพาะปัญหาโดยบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง จะมีการร่วมกันทบทวนเพื่อป้องกันหรือไม น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ข้อนี้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะใช้การหารือส่วนหนึ่งทางบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง แต่จริงๆแล้วในส่วนนี้ก็จะเป็นหัวข้อของอาเซียนอยู่แล้วที่จะหาความร่วมมือร่วมกัน ทั้งในภูมิภาคอาเซียนในเรื่องการที่จะดูการพัฒนาร่วมกัน และป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ซึ่งในเวทีนี้จะเป็นลักษณะของการแลกเปลี่ยนแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเวทีในการพูดแต่ละผู้นำ ซึ่งแล้วแต่ละหัวข้อที่เขากำหนด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการพูดคุยในเรื่องของการลงทุน สนับสนุนแผนดำเนินการ ที่จะไปข้างหน้าในอีก 10 ปี ที่มีการร่างไว้ร่วมกัน

** พบ"อองซาน"หาความรู้เรื่องปชต.

เมื่อถามต่อว่า ความร่วมมือที่มีอยู่ในขณะนี้จะมีปัญหาทางด้านความมั่นคง เพราะว่ามีกลุ่มโจรสลัดที่คอยดักปล้นอยู่ด้วย จะมีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือด้วยหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า โดยภาพรวมแล้ววันนี้เราให้ทางตำรวจ และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ดูแลในเรื่องนี้แล้ว ก็ได้มีการหารือในส่วนขอความร่วมมือด้านปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้หลังจากการประชุมจีเอ็มเอส เสร็จแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็จะถือโอกาสบินไปพบกับนางอองซาน ซูจี เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์กัน
เมื่อถามว่า ประเด็นที่จะหยิบยกในการหารือกับ นางอองซาน ซุจี จะมีประเด็นอะไรบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เนื่องจากนางอองซาน ซูจี เป็นนักต่อสู้ประชาธิปไตย ก็คงจะไปแลกเปลี่ยนความรู้ ในฐานะการที่เป็นประเทศประชาธิปไตยเหมือนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น