xs
xsm
sm
md
lg

ปิดถนนจี้เร่งฟื้นตลาดบางบัวทองบิ๊กแบ็กเกลื่อนถนน340ไร้คนเก็บ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-เร่งฟื้นฟูตลาดบางบัวทอง หลังชาวบ้านปิดถนนประท้วง - พบบิ๊กแบ็กเกลื่อนถนนสาย 340 ไร้วี่แววผู้รับผิดชอบ ผู้ว่า ฯเผยยังมีน้ำท่วมขังกทม. อีก 30ชุมชนใน4เขต เตรียมหรี่ปตร.ทุกแห่งรับแล้ง

วานนี้ (15 ธ.ค.) ที่ตลาดบางบัวทอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าของร้านค้าในตลาด และเจ้าหน้าที่ได้เร่งทำความสะอาดและฟื้นฟูสถานที่ หลังจากถูกน้ำท่วมเป็นเวลานาน เพื่อให้กลับมาค้าขายได้อีกครั้ง โดยมีระยะเวลากำหนด 3 วัน ตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านในชุมชน ที่ออกมาประท้วงปิดถนนบางกรวย-ไทรน้อย ด้านหน้าตลาดเมื่อวานนี้

ขณะที่ บริเวณถนนสาย 340 สภาพพื้นนั้นเต็มไปด้วยบิ๊กแบ็กที่ได้นำมาใช้กู้ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ก่อนหน้านี้ โดยมีสภาพกระจัดกระจาย และยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาเก็บออกจากพื้นถนน

ด้านถนนกาญจนาภิเษก มีรายงานว่า นายปรีชา และ นางระเบียบ สวนมาลา สองสามีภรรยา ที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ริมถนนกาญจนาภิเษกขาออก บริเวณเชิงสะพานคลองบางคูเวียง ได้นำแผ่นป้ายทะเบียนรถที่เก็บมาได้ตามเส้นทางถนนกาญจนาภิเษกขาเข้าในช่วงน้ำท่วม 2 เดือนที่ผ่านมา มาวางเรียงกันบริเวณริมถนน เพื่อตามหาเจ้าของ

*** 30ชุมชน 4 เขตน้ำยังท่วมขัง

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า โดยภาพรวมในพื้นที่กรุงเทพฯยังมีน้ำท่วมขังอยู่ประมาณ 30 กว่าชุมชน ในพื้นที่ 4 เขต ได้แก่ คันนายาว บางเขน บางแค และทวีวัฒนามีระดับน้ำสูงประมาณ 5-20 เซนติเมตร ถึงแม้ไม่สูงมากแต่ก็สร้างความรำคาญให้กับชุมชน

นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมสถานการณ์น้ำในกทม.ถือว่าเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งเป็นไปตามแผนเร่งระบายน้ำให้หมดก่อนปีใหม่ ส่วนการเตรียมป้องกันปัญหาน้ำท่วมปีหน้าโดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันตก จะเร่งสร้างแนวคันกั้นน้ำตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยสำนักการระบายน้ำจะเพิ่มแนวคันกั้นน้ำให้ขึ้นจาก 2.5 เมตรอีกประมาณ 50 เซนติเมตร ตลอดแนวการก่อสร้างประมาณ 15 กิโลเมตร โดยจะให้แล้วเสร็จในปี2555 นอกจากนี้จะเพิ่มความสูงถนนสายหลักฝั่งตะวันตกประมาณ 30-40 เซนติเมตร อาทิ ถนนพุทธมณฑลสาย 3

** เตรียมหรี่ปตร.ทุกแห่งรับแล้ง

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า ต่อจากนี้ กทม.จะเริ่มลดระดับประตูระบายน้ำทุกบานลง เพื่อให้สามารถระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯได้เร็วขึ้น แต่ก็จะต้องมีการทำอย่างรอบคอบก่อนดำเนินการ นอกจากนี้เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆเริ่มมีการกักเก็บน้ำใช้ในการเกษตรในช่วงหน้าแล้งด้วย อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าจะสามารถทำให้กรุงเทพฯแห้งได้ภายในสิ้นปี

**20 ธ.ค. เคาะชะลอโครงการ

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง กทม.ได้สั่งชะลอทุกโครงการในความรับผิดชอบ เพื่อนำงบประมาณไปฟื้นฟูปัญหาน้ำท่วมก่อน โดยในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ จะเรียกประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะสรุปโครงการที่ชะลอทั้งหมดให้ชัดเจนอีกครั้ง

** ม.รังสิตเสียหาย 700 กว่าล.

ดร.นเรศ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากการประเมินความเสียหายโดยรอบมหาวิทยาลัย ประมาณ 700 กว่าล้านบาท ทั้งนี้คาดว่ามหาวิทยาลัยจะสามารถเปิดเรียนและกลับมาเปิดทำการได้ในวันที่ 5 มกราคม 2555 แต่ในสภาพที่ไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นเท่านั้น เพราะหากจะฟื้นฟูให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม 100 เปอร์เซ็นอย่างน้อยต้องใช้เวลา 6 เดือน

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวต่อว่า แนวทางในการป้องกันเหตุการณ์น้ำท่วมในปีหน้า ได้มีการหารือว่าจะร่วมมือกับชุมชนเมืองเอก โดยการสร้างแนวการป้องกันอย่างถาวร นอกจากนี้การป้องกันยังเป็นหน้าที่รับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะได้มีการหารือเพื่อหาแนวป้องกันต่อไป

** วธ.ช่วยศิลปินขายสินค้างานโอทอป

นาย สมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหาร วธ. ว่า วธ. ได้รับการจัดสรรงบ 50 ล้านบาท ให้แต่ละกรมในสังกัดจัดทำโครงการเร่งด่วนและเข้าเงื่อนไขมาเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณา ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานภายในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ สำหรับโครงการเร่งด่วนที่ประชุมเห็นว่าเข้าข่ายการพิจารณานั้น ให้มีการประสานกับกระทรวงมหาดไทย นำศิลปิน ผลิตภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้าน ผู้ประกอบการสินค้าทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่ายในงานโอทอปประจำปี 2554

** ตั้งศูนย์ความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศไทย

ทางด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย เปิดตัวการจัดตั้ง "ศูนย์ความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศไทย" เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูล และปฏิบัติการฟื้นฟูประเทศไทยหลังน้ำลด โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา และที่ปรึกษา สสส. กล่าวว่า ศูนย์ดังกล่าวจะจัดเก็บข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย และข้อมูลของผู้ที่ต้องการสนับสนุน เพื่อให้เกิดการจับคู่ที่เหมาะสม และตรงกับความต้องการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างการพัฒนาความร่วมมือของเครือข่ายต่างๆ ให้เกิดการต่อยอดและขยายผล เพื่อรองรับหากมีปัญหาเกิดขึ้นในปีต่อๆไป
กำลังโหลดความคิดเห็น