xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองยกคำร้องชาวนนท์-ให้ ศปภ.กู้ 340 ต่อ หวั่นกระทบรถเล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถนนหมายเลข 340 ที่ได้รับการกู้เพื่อให้รถยนต์สามารถวิ่งได้ แต่ชาวบ้านที่อยู่ด้านข้างถนนได้รับผลกระทบ
ศาลปกครองกลางไม่ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว พร้อมยกคำร้องชาวนนทบุรี ที่ให้ ศปภ.หยุดกู้ถนน 340 ชี้ หากทำตามคำขอจะส่งผลรถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ส่วนคำขอให้ระงับการปิดประตูระบายน้ำริมคลองมหาสวัสดิ์ ให้ ศปภ.และ กทม.ร่วมกันหาทางเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนที่เหมาะสมต่อไป

วันนี้ (1 ธ.ค.) สำนักงานศาลปกครอง ได้เผยแพร่ คำสั่งศาลปกครองกลาง ในคดีที่ นางทศสิริ พูลนวล (ชาวนนทบุรี) ยื่นฟ้อง ศปภ.กับ กทม.โดยระบุว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดี (นางทศสิริ พูลนวล) ฟ้องว่า ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ปิดกั้นทางระบายน้ำทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ของจังหวัดนนทบุรีทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงสู่ทะเลได้ เป็นเหตุให้น้ำท่วมขังและเน่าเสียบริเวณบ้านพักของผู้ฟ้องคดี ในท้องที่อำเภอบางบัวทอง และอำเภอใกล้เคียง ในจังหวัดนนทบุรี ขอให้หน่วยงานทางปกครองทั้งสองดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่จังหวัดนนทบุรี พร้อมกับขอให้ศาลมีคำสั่งวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยระงับการกู้ทางหลวงสาย 340 และทางหลวงหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) พร้อมกับให้ระงับการปิดประตูระบายน้ำและเสริมกระสอบทรายตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ช่วงรอยต่อกับจังหวัดนนทบุรี

ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2554 เกี่ยวกับคำขอวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีว่า แม้จะปรากฏจากคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ว่า วัตถุประสงค์ของการกู้ถนนทั้งสองสายดังกล่าวเพื่อจะใช้เป็นเส้นทางเดินทางไปยังภาคใต้ ในกรณีหากน้ำท่วมขังถนนพระราม 2 แต่เมื่อปรากฏว่าเส้นทางเดินทางไปยังภาคใต้ยังคงใช้สัญจรได้ตามปกติ หากแต่กลับปรากฏว่าปัจจุบันน้ำยังคงท่วมขังถนนเส้นทางหลวงหมายเลข 340 และทางหลวงหมายเลข 9 การกู้ถนนจึงได้มาใช้แก้ปัญหาในการสัญจรของรถยนต์ที่มีขนาดเล็กให้สามารถผ่านได้โดยสะดวกแทน แม้จะไม่ตรงตามวัตถุประสงค์เดิมแต่ก็ยังคงเป็นวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการกู้ถนนเพื่อการสัญจรเช่นกัน และโดยที่ปรากฏว่า ถนนสายดังกล่าวมีรถสัญจรจำนวนมากต่อวัน เนื่องจากเส้นทางหลวงหมายเลข 340 ถือเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงต่อเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 9 ซึ่งถนนทั้งสองสายสามารถใช้เดินทางไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ด้วย ประกอบกับถนนนอกทางที่มีการกู้ก็คงมีน้ำท่วมขังในระดับเกือบจะเท่ากันทั้งสองฝั่ง มิได้มีผลทำให้ถนนฝั่งใดฝั่งหนึ่งแห้งหรือมีน้ำท่วมขังน้อยกว่า อันแสดงให้เห็นว่า ท่อซีเมนต์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้ในการกู้ถนนมิได้ขวางทางระบายน้ำโดยตรง นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในการวางท่อซีเมนต์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้วางเป็นช่วงๆ โดยวางเฉพาะช่วงถนนที่มีน้ำท่วมสูงและเป็นพื้นที่ต่ำ เช่น บริเวณถนนหน้าทางเข้าวัดลาดปลาดุก หรือบริเวณหน้าหมู่บ้านสมบัติบุรี เป็นต้น ดังนั้น แม้หากจะรื้อท่อซีเมนต์ออกไปจากถนนแล้ว น้ำก็คงจะไหลบ่าท่วมถนนโดยอาจจะไม่ตลอดทั้งสาย อันเนื่องจากน้ำเริ่มลดลง และถนนบางช่วงสูงซึ่งจะไม่เกิดผลกระทบกับการสัญจรของรถ แต่ในถนนช่วงที่มีพื้นที่ต่ำรถเล็กก็จะไม่สามารถสัญจรผ่านได้ การกู้ถนนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทำให้ถนนยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่เล็กน้อย รถเล็กจึงสามารถสัญจรผ่านได้โดยสะดวก กรณีจึงถือเป็นภารกิจหนึ่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อีกทั้งประชาชนส่วนรวมก็ได้รับประโยชน์ด้วย

ดังนั้น หากศาลจะมีคำสั่งบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวตามคำขอของผู้ฟ้องคดีโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ระงับการกู้ถนนสายที่ 340 (บางบัวทอง-สุพรรณบุรี) และทางหลวงหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) อันจะทำให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าวได้ก็จะก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคแก่การบริหารงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเห็นว่ากรณีจึงยังไม่เป็นการสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว

สำหรับประเด็นว่า ศาลสมควรมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์เป็นชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยสั่งให้หน่วยงานทางปกครองที่เกี่ยวข้อง ระงับการปิดประตูระบายน้ำและเสริมกระสอบทรายตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ช่วงรอยต่อกับพื้นที่ด้านทิศใต้ของจังหวัดนนทบุรี หรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาสภาพน้ำท่วมขังในบริเวณหมู่บ้านที่ผู้ฟ้องคดีพักอาศัย ซึ่งอยู่ห่างจากคลองมหาสวัสดิ์พอสมควร ก็ยังไม่แน่ชัดว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเพิ่มขึ้นอย่างไร แต่อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นไต่สวนว่า ปัจจุบัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้เปิดประตูระบายน้ำริมคลองมหาสวัสดิ์รวมสี่บานแล้ว คือ ประตูระบายน้ำคลองซอย คลองบางขุนศรีบุรีรักษ์ คลองควาย และ คลองทวีวัฒนา โดยสามคลองแรกดังกล่าวได้เปิดประตูระบายน้ำไว้ 1 เมตร แต่สำหรับคลองทวีวัฒนานั้น ขณะนี้ได้เปิดบานประตูเพียง 50 เซนติเมตร จึงเห็นได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการเปิดประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์ดังกล่าวข้างต้นนั้น จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม เมื่อระยะเวลาได้ผ่านไปอีก ซึ่งน่าจะมีผลให้ข้อมูลการระบายน้ำเปลี่ยนแปลงไป ควรจะให้มีการพิจารณาร่วมกันระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ จึงสมควรมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับความสามารถในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวนอกเหนือจากการพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต้องรับผิดชอบแล้ว ไม่ว่าจะระบายน้ำไปทางใดทางหนึ่งตามระบบการระบายน้ำที่วางไว้แล้วหรือจะดำเนินการเพิ่มเติมให้พิจารณาถึงความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัดนนทบุรีประกอบด้วย

สำหรับคำขอให้ระงับการเสริมกระสอบทรายตามแนวคลองมหาสวัสดิ์นั้น เห็นว่า การเรียงกระสอบทรายเป็นการเรียงบนคันกั้นน้ำคลองมหาสวัสดิ์ ไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมเขตกรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า น้ำในคลองมหาสวัสดิ์ลดต่ำลงกว่าคันกั้นน้ำถาวรแล้ว กระสอบทรายที่ได้เรียงบนคันกั้นน้ำคลองมหาสวัสดิ์ย่อมไม่ได้ใช้ประโยชน์ในเรื่องการกั้นน้ำใดๆ ที่จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการระบายน้ำ จึงไม่จำต้องออกคำสั่งใดๆ ให้ระงับหรือรื้อถอนอีก

จึงมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับความสามารถในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

ทั้งนี้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น และยกคำขอที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ระงับการกู้ทางหลวงหมายเลข 340 (บางบัวทอง-สุพรรณบุรี) และทางหลวงหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก)
กำลังโหลดความคิดเห็น