อธิบดีกรมชลประทาน ยัน บางบัวทอง-บางกรวย น้ำลดแล้ว ตามแผนแบ่งพื้นที่ 29 บล็อก เร่งระบายออกแม่ท่าจีน-เจ้าพระยา ขณะที่ด้านตะวันออกเร่งสูบน้ำพ้นตลาดรังสิต คาดเมืองเอกจะลดลงเหมือนสายไหม
วันนี้ (28 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการเร่งระบายน้ำในฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ว่า หลังจากที่มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 29 บล็อกนั้น ขณะนี้การดำเนินการมีความคืบหน้ามาก ซึ่งการเร่งระบายน้ำก็ต้องมีการช่วยเหลือชุมชนโดยรอบไปพร้อมกัน เพราะบางบล็อกมีทั้งหมู่บ้านจัดสรร ชุมชน ตลาดและศูนย์ราชการ ที่ต้องมีการดูแล ขณะที่บางส่วนน้ำลดลงมากแล้ว โดยพื้นที่ อ.บางบัวทอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ที่ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการวางกระสอบทราย และเริ่มสูบน้ำแล้ว ส่งผลให้ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยทั้ง 29 บล็อก จะระบายน้ำจะลงคลองพระพิมล คลองพระยาบรรลือ คลองมหาสวัสดิ์ คลองบางกรวย คลองบางบัวทอง และถนนกาญจนาภิเษก เพื่อระบายน้ำออกแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งสูบน้ำในหมู่บ้านชลดา ทั้งหมู่1 และ 2, อ.บางใหญ่,ซอยประมวลสุข หมู่บ้านธนากร 2 และ 4 ออกไปยังคลองบางกอกน้อย , บางกรวย-ไทรน้อย , ต.บางไผ่-ต.บางสีทอง โดยได้ตั้งเครื่องสูบน้ำใต้สะพานพระราม 5 ฝั่งวัดนครอินทร์ อ.เมือง จ.นนทบุรี
ส่วนบริเวณเทศบาล อ.เมือง ปทุมธานี จ.ปทุมธานี และเทศบาลนครรังสิต เร่งระดมสูบน้ำโดยใช้เครื่องสูบน้ำจำนวน 10 เครื่อง โดยเฉพาะในหมู่บ้านเมืองเอก หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี และตลาดรังสิต
ทั้งนี้แผนรองรับปริมาณจำนวนมากที่ค้างอยู่ตามทุ่ง 5 ทุ่งหลัก ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง กว่า 2,100 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วย ทุ่งผักไห่ มีน้ำค้างทุ่ง 246 ล้าน ลบ.ม., ทุ่งเจ้าเจ็ดบางยี่หน 658 ล้าน ลบ.ม., ทุ่งพระยาบรรลือ 735 ล้าน ลบ.ม. ,ทุ่งพระพิมล 380 ล้าน ลบ.ม., และทุ่งภาษีเจริญ 83 ล้าน ลบ.ม. จะใช้วิธีการการแบ่งเป็นบล็อก
ส่วนหมู่บ้านเมืองเอกอยู่ระหว่างการหาแนวทางการระบายน้ำที่เหมาะสมเนื่องจากปริมาณน้ำยังคงท่วมขังสูงมาก โดยมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำคลองเปรมใต้ เพื่อระบายลงคลองรังสิตออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
“ในพื้นที่ บางบัวทอง บางกรวย บางใหญ่ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ที่มีทั้งชุมชนต่างๆ หมู่บ้านจัดสรร หน่วยงานราชการ ตลาด จึงต้องเร่งกู้และระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด สำหรับพื้นที่ที่แบ่งเป็นบล็อกจะทยอยระบายออก โดยจะไม่ปล่อยให้น้ำไหลบ่าเข้ามาทีเดียวและจึงเร่งระบายออก โดยใช้แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นจุดรับสำคัญ และเชื่อว่าปริมาณในพื้นที่เมืองเอกจะต้องลดระดับลงเช่นเดียวกับพื้นที่เขตสายไหม คาดว่ามีโอกาสเป็นได้ภายในเดือน” นายชลิต กล่าว
นอกจากนี้ ได้มีการถอนเครื่องสูบน้ำทางฝั่งตะวันออกด้านแม่น้ำบางปะกงและนครนายกหลังสถานการณ์ดีขึ้น มาเสริมการสูบน้ำทางฝั่งตะวันตก โดยใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถระบายน้ำได้ 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขนย้ายและติดตั้ง