xs
xsm
sm
md
lg

ดึงเงินนอกงบแสนล.แก้น้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – กรมบัญชีกลางเสนอปลัดคลังดึงเงินกองทุนนอกงบประมาณที่ฝากทิ้งไว้ว่า 1 แสนล้านใช้เยียวยาอุทกภัย รอ “ธีระชัย” ไฟเขียวดำเนินการได้ทันที ระบุช่วยลดภาระงบประมาณและรัฐบาลกู้ยืมน้อยลง

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดี กรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้เสนอเรื่องเพื่อนำเงินส่วนเกินของกองทุนนอกงบประมาณที่มีอยู่กว่าแสนล้านบาทเข้ามาฝากที่เงินคงคลังก่อน เพื่อนำสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนเหล่านั้นมาใช้เป็นงบประมาณในการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลดได้ โดยได้เสนอต่อนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังแล้ว เหลือเพียงการพิจารณาของรมว.คลังเท่านั้นว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่โดยสามารถดำเนินการออกหลักเกณฑ์โดยใช้อำนาจของรมว.คลังได้เลย
โดยคาดว่าจะสามารถดึงเงินสดมาได้แห่งละประมาณ 1-2 พันล้านบาทหรือรวมแล้วหลักหมื่นล้านบาท จากมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนนอกงบประมาณที่มีกว่าแสนล้านบาท เพราะบางแห่งไม่สามารถนำมาเป็นรายได้แผ่นดินได้ เพราะเป็นเงินที่ต้องสำรองไว้ให้สมาชิก เช่น กองทุนบำเน็จบำนาญแห่งชาติ (กบข.) หรือ กองทุนประกันสังคม (กปส.) ที่จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นก็จะเป็นเงินสดส่วนเกินที่ไม่ได้ใช้เท่านั้น
“เงินบางส่วนเช่นประกันสังคมหรือกบข.ที่รัฐบาลจ่ายสมทบนั้นคงไม่สามารถดึงมาได้ แต่กองทุนนอกงบประมาณบางแห่งที่เอาเงินไปฝากกินดอกเบี้ยเฉยๆ คงต้องพิจารณาในประเด็นนี้มากกว่า เนื่องจากจะทำให้รัฐบาลสามารถมีเงินมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้มากขึ้นเพื่อช่วยลดภาระด้านงบประมาณของภาครัฐรวมทั้งการกู้ยืมได้เช่นกัน" นายรังสรรค์กล่าว
สำหรับแนวคิดการบริหารเงินคงคลังขณะนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินคงคลัง เพื่อให้สามารถบริหารเงินคงคลังให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพราะเงินคงคลังไม่ได้เป็นของแผ่นดินทั้งหมด โดยปัจจุบันที่มีประมาณ 2.9 แสนล้านบาทนั้น จะมีเจ้าของกว่าครึ่งหนึ่ง เพียงแต่นำมาฝากไว้กับกระทรวงการคลังเป็นเงินคงคลังเท่านั้น ดังนั้นบางส่วนจึงมองว่า ไม่เหมาะสมที่จะนำเงินส่วนนี้ไปฝากไว้ยังสถาบันการเงินอื่น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนนอกเหนือจากฝากไว้ที่บัญชีที่ 1 ที่เป็นบัญชีเงินคงคลังที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะไม่ได้ผลตอบแทน เพราะหากเจ้าของมาขอคืนก็จะไม่เกิดความคล่องตัว
“ความจำเป็นที่จะมีเงินคงคลังไว้ประมาณ 1 แสนล้านบาทก็น่าจะเพียงพอในการบริหารสภาพคล่อง เพราะแต่ละเดือนจะมีรายได้เข้ามาประมาณ 1 แสนล้านบาทอยู่แล้วจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีสรรพสามิต ขณะที่รายจ่ายประจำแต่ละเดือนก็จะตกประมาณแสนกว่าล้านบาท ดังนั้นสภาพคล่องส่วนนี้ก็น่าจะตกอยู่ที่ 1-2 แสนล้านบาท เพราะเงินคงคลังยิ่งมีมากก็จะมีต้นทุนด้วย”นายรังสรรค์กล่าวและว่า การเบิกจ่ายเงินงบประมาณในเดือนธันวาคม ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 1 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่ง เพราะเป็นการเบิกจ่ายที่เป็นรายได้ประจำเท่านั้น ยังไม่มีส่วนของงบลงทุน เพราะพ.ร.บ.งบประมาณปี 2555 ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้.
กำลังโหลดความคิดเห็น