xs
xsm
sm
md
lg

ธีระชัยมาแปลกดึงNPLแบงก์รัฐ ตั้งบริษัทบริหารหนี้1.6แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “ธีระชัย” มาแปลกเล็งตั้ง AMC ดึงเอ็นพีแอลแบงก์รัฐ 1.6 แสนล.เข้ามารวมศูนย์บริหารหวังให้แบงก์รัฐเดินหน้าทำหน้าที่ตามกฎหมายที่จัดตั้งขึ้น แต่ยังไร้แผนรองรับในการซื้อหนี้คืนและชดเชยหนี้เสียที่เกิดจากนโยบายรัฐในอดีต

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลังมีนโยบายที่จะให้สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ศึกษาแนวทางการรับโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(SFI) ทั้ง 8 แห่งที่มีกว่า 1.6 แสนล้านบาทเข้ามาบริหารจัดการ เหมือนกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC)ของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้ทำหน้าที่ตามกฎหมายที่จัดตั้งสถาบันการเงินนั้นๆ เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องทำธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด
โดยในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพราะหากต้องดำเนินการเช่นนั้นก็จะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากสินทรัพย์ของแบงก์รัฐบางแห่งเติบโตมากกว่าความต้องการของลูกค้าตามที่กฎหมายกำหนด เช่น กรณีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)ที่ปัจจุบันมีสินทรัพย์กว่า 8 แสนล้านบาท แต่ความต้องการสินเชื่อของเกษตรกรเองมีประมาณเพียง 6 แสนล้านบาทเท่านั้น ธนาคารเองก็ต้องนำสภาพคล่องส่วนเกินที่มีไปหาผลตอบเพื่อให้เกิดประโยชน์ เพราะสภาพคล่องเหล่านี้มีต้นทุนอยู่แล้ว ไม่สามารถจะทิ้งไว้อย่างเดียว และการปล่อยสินเชื่อแม้จะเป็นนอกภาคเกษตร แต่ก็ยังเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกร เช่น ปล่อยกู้ให้กับโรงงานปาล์มน้ำมัน หรือการปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเกษตรหรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งสัดส่วนก็ไม่ได้มากนัก
“ส่วนใหญ่หนี้เสียของธนาคารรัฐเหล่านี้ก็เกิดจากนโยบายของรัฐบาลทั้งสิ้น และหลายแห่งรัฐบาลเองก็ยังๆไม่ชำระหนี้ที่ค้าไว้ให้ อย่างธ.ก.ส.ที่ทำตามนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลและเป็นหนี้ค้างกว่า 1 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลเองก็ยังไม่ได้ตั้งงบประมาณชดเชยไว้ให้ และยังต้องเปิดโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่อีก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกิดหนี้เสียอีกหรือไม่ หรือแม่แต่ธนาคารออมสินเอง ก็ยังมีหนี้ที่รัฐบาลยังไม่ชดเชยให้จากการดำเนินนโยบายรัฐบาลเช่นกัน ดังนั้นหากจะต้องโอนหนี้เสียออกมา แสดงว่าจะต้องชดเชยหนี้ที่ค้าไว้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้นไปด้วย และก็ต้องเป็นภาระต่องบประมาณเช่นกัน”แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 8 แห่งประกอบไปด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ธอท.) หรือไอแบงก์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย(บตท.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนี้เอ็นพีแอลของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 8 แห่ง ไม่รวมบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ณ สิ้นปี 2553 อยู่ที่ 162,360 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2552 ที่อยู่ที่ 178,813 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น